ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ของทุกสังคม และซ้อนทับกันในหลายมิติ การแก้ปัญหายาเสพติดจึงต้องทำด้วยความเข้าใจในทุกแง่มุม เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนและสร้างความยั่งยืน หนึ่งในแนวทางที่ประสบความสำเร็จจากการตั้งใจจริงของหลายหน่วยงาน รวมถึงระดับชุมชนคือ แนวทาง “ชุมชนล้อมรักษ์ (CBTx)” ที่มีแนวคิดมุ่งเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย และใช้กลไก พชอ. ช่วยบำบัด เยียวยา พร้อมให้โอกาสผู้ติดยาสร้างคุณค่าในตนเองและสังคม โดยที่ชุมชนร่วมหนุน เปลี่ยนความกลัวให้เป็นพลัง จนแนวทาง “ชุมชนล้อมรักษ์ (CBTx)” สร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมขึ้น เรียกว่าเป็นกุญแจแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบยั่งยืน และนำไปสู่การถอดบทเรียนจากชุมชน โดยภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึง สสส. ร่วมหนุน เพื่อขยายผลต่อไปทั่วประเทศ

สานพลังชุมชนล้อมรักษ์

ชุมชนล้อมรักษ์ (CBTx) นับได้ว่าเป็นการแก้ปัญหายาเสพติดด้วยการใช้ชุมชนเป็นฐานสำคัญ แม้ต้องอาศัยเวลา แต่ภายใต้การเดินทางร่วมกันก็ทำให้ชุมชนได้เรียนรู้ และเข้าใจปัญหาในหลายมิติ ในขณะที่แรงหนุนจากภาครัฐ และภาคประชาสังคม ก็มีส่วนสำคัญต่อการเดินหน้าสู่ความยั่งยืน รวมถึงส่งต่อแนวทางความสำเร็จไปยังชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีส่วนสำคัญในการเดินเคียงข้างร่วมกับหน่วยงานระดับชุมชนจนเกิดเป็นความสำเร็จขึ้น จึงได้จัดเวที “สานพลังชุมชนล้อมรักษ์” พื้นที่เป็นฐานประชาชนเป็นศูนย์กลาง ร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กรุงเทพมหานคร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนทั่วประเทศ รวมถึงถอดบทเรียน และผสานจุดแข็งของ 6 พื้นที่ภูมิภาค นำมาสู่การบูรณาการทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 “นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” ประธานในพิธี ร่วมเน้นย้ำถึงการเดินหน้าร่วมขจัดปัญหายาเสพติดด้วยความตั้งใจจริง ผ่านทั้งปฏิบัติการ Quick Win ที่สกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน การจับกุมและยึดทรัพย์ผู้ค้า จัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการเดินหน้าขับเคลื่อนแนวทาง “ชุมชนล้อมรักษ์” (CBTx) ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งใช้ชุมชนเป็นฐานเพื่อร่วมช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด เปลี่ยนความกลัวให้มีพลังขึ้น นำไปสู่การแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ยั่งยืนขึ้น

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการถอดบทเรียนสถานการณ์สิ่งเสพติด และขยายผลต่อเนื่องต่อไปได้มากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาการที่โมเดลชุมชนล้อมรักษ์ทำให้มีผู้เข้ารับการบำบัดโดยสมัครใจและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในชุมชนสังคมมากขึ้น ก็ทำให้ชุมชนตระหนักมากขึ้นว่าการมอบโอกาสจากคนในชุมชนต่อผู้ใช้ หรือผู้เสพยาเสพติด เป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ในขณะเดียวกันทำให้ชุมชนเข้มแข็งและมองปัญหายาเสพติดเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข เปลี่ยนจากความกลัวเป็นความเข้าใจ แก้ปัญหาอย่างละมุนละม่อม เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เปลี่ยนผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคม ทั้งนี้ที่ผ่านมา สสส.มีต้นทุนในการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชน สร้างพื้นที่ปลอดภัยจากยาเสพติดและเสริมสร้างชุมชนสุขภาวะในระดับพื้นที่/หมู่บ้าน/ชุมชน ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีพื้นที่ต้นแบบปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด 25 พื้นที่ทั่วประเทศ มีพื้นที่ต้นแบบที่สามารถลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดได้สำเร็จ ยกตัวอย่าง พื้นที่ ต.ตาดควัน อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย, พื้นที่ชุมชนบ้านคำเมย ต.ดูน อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ และกลุ่มเยาวชนสานฝันบ้านนาคล้อใต้ ต.มะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ทำให้เกิดแกนนำเครือข่ายขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดทั่วประเทศ 2,683 คน รวม 1,527 หมู่บ้าน/ชุมชน นำไปสู่การสร้างโมเดลจัดการปัญหายาเสพติดขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆ

ปัญหายาเสพติดต้องแก้ด้วยความเข้าใจ

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลสถานการณ์ผู้ใช้ ผู้เสพยาเสพติดปี 2566 มีถึง 1.9 ล้านคน แบ่งผู้ป่วยยาเสพติดออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง อาการรุนแรง หรือผู้ติดยาเสพติด 38,000 คน (2%)
2. ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือผู้เสพ 4.56 แสนคน (24%)
3. ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ใช้ยาเสพติด 1.4 ล้านคน (74%)

ที่ผ่านมามีชุมชนเป็นฐานในการบำบัดยาเสพติด 10,000 แห่ง และเมื่ออาการดีขึ้นสามารถส่งต่อสู่ศูนย์ฟื้นฟูสถานภาพทางสังคม กระทรวงมหาดไทย 3,258 แห่ง ทั้งนี้การจัดเวทีถอดบทเรียนทั้ง 6 ภูมิภาคครั้งนี้ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของการค้นหาแนวทางเพื่อร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดที่มีครอบคลุมในทุกมิติมากขึ้น โดยอาศัยเครือข่ายต้นแบบชุมชนล้อมรักษ์ของกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) ของกระทรวงมหาดไทย และเครือข่ายชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ของ สสส.เป็นแนวทางในการหาทางออกจากปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการรวมตัวของหน่วยงานภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ที่ทำงานด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนในมิติต่างๆ ที่มาช่วยสะท้อนให้เห็นมิติของปัญหา รวมถึงแนวทางการทำงานในแง่มุมอื่นๆ ที่มีประโยชน์มากขึ้นด้วย

คุณสุขวิชัย อิทธิสุคนธ์ จากกลุ่ม “บางกอกนี้ดีจัง” ซึ่งอยู่กับปัญหายาเสพติดในระดับชุมชนเล่าถึงแนวทางในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหายาเสพติด ว่ามีความซับซ้อนและมีหลากหลายแง่มุมมากขึ้น แต่ความเข้าใจและความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาร่วมกันก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี จากประสบการณ์ส่วนตัวที่อาศัยและเติบโตมากับครอบครัวในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด แต่สามารถก้าวออกมายืนหยัดและมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีได้ เชื่อมั่นว่าการมอบโอกาสเป็นแนวทางที่ดี เนื่องจากส่วนตัวเริ่มต้นมาจากการได้รับโอกาสเช่นกัน จากวัยเด็กที่มีชีวิตที่ต้องเลือกระหว่างการเป็นเด็กส่งยาให้กับคนในครอบครัว กับการทำกิจกรรมสร้างสรรค์จากกลุ่มที่เข้ามาสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชุนเสี่ยง สิ่งหลังคือพลังสำคัญที่ทำให้เขาสามารถก้าวออกมาใช้ชีวิตในเส้นทางที่ดีกว่าได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก ขณะเดียวกันก็ได้รับโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต รวมถึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไลเล็กๆ ระดับชุมชนที่ทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในอีกมิติหนึ่ง โดยคุณสุขวิชัย ในวัย 26 ปี กับกลุ่ม “บางกอกนี้ดีจัง” อาศัยแนวทางของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนในพื้นที่หรือชุมชนเสี่ยง ผ่านการสร้างสรรค์พื้นที่ กิจกรรม รวมถึงแนวทางอื่นๆ สำหรับเด็กและเยาวชน ให้พวกเขาได้มีสิทธิ์เลือก โดยเฉพาะในชุมชนบางกอกน้อยและชุมชนใกล้เคียง เหมือนเช่นที่ตัวคุณสุขวิชัยในวัยเด็กที่มีสิทธิ์ได้เลือกในวันนั้นเช่นกัน

ภายใต้เวที “สานพลังชุมชนล้อมรักษ์” ในครั้งนี้ยังมีการเสวนาเพื่อร่วมสะท้อนการทำงานของหน่วยงานและกลไลเล็กๆ ในระดับชุมชนที่น่าสนใจอีก เช่น กรณีศึกษา การแก้ปัญหายาเสพติดระดับชุมชน จากชุมชนวัดประชาระบือธรรม และชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต ที่ช่วยสะท้อนให้เห็นแนวคิดน่าสนใจว่าการแก้ปัญหายาเสพติดต้องเริ่มที่ความเข้าใจ โดยเปลี่ยนความกลัวให้เป็นความเข้าใจ และตั้งใจจริงที่สร้างการเปลี่ยนแปลง คุณนัยนา ยลจอหอ ประธานชุมชนชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม ซึ่งทำงานด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ยอมรับว่าในอดีตเคยกลัวและไม่อยากเกี่ยวข้องกับผู้เสพและผู้ค้ายาเสพติด จนเมื่อเข้าใจว่าตราบใดที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ผลกระทบต่อชีวิตที่จะเกิดขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จนวันหนึ่งจากคนกลัวก็ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง ผ่านแนวทางสำคัญคือ ความเข้าใจและการมอบโอกาส เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย บำบัด เยียวยา สร้างคุณค่าในตัวเองให้แก่ผู้ที่เคยเสพยาเสพติด ให้ได้เป็นส่วนหนึ่งในชุมชนได้อย่างมีศักดิ์ศรี ทั้งนี้ความสำเร็จที่ผ่านมายังเกิดขึ้นได้จากการประสานการทำงานระดับท้องถิ่นด้วยเช่นกัน อาทิ สำนักงานเขตดุสิต รวมถึงหน่วยงานภาคประชาชนที่ทำงานในพื้นที่อย่างมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เป็นต้น

เวที “สานพลังชุมชนล้อมรักษ์” จึงเป็นมากกว่าเวทีเพื่อการขบคิดและร่วมกันพัฒนาแนวทางในการหาทางออกจากปัญหายาเสพติดอย่างมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังช่วยเผยให้เห็นพลังของคนตัวเล็กที่ร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติดในมิติอื่นๆ ที่มีคุณค่าอย่างมากอีกด้วย ซึ่งเมื่อประสานกลไกการทำงานต่างๆ จากจุดเล็กๆ ระดับชุมชนเหล่านี้ไปจนถึงการทำงานของภาครัฐแบบบูรณาการ การแก้ปัญหายาเสพติดแบบยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นได้จริง