ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ.2573 คือ ปีแห่งความหวังที่องค์การอนามัยโลกตั้งเป้ากำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบให้หมดสิ้นไป โดยการเกิดโรคต้องลดลง 90% และอัตราการเสียชีวิตจากโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีต้องลดลง 65% เมื่อเทียบจากปี 2558–2573

ข้อมูลสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี แบบเรื้อรัง ปี 2565 ทั่วโลก พบประชากร 304 ล้านคนติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีแบบเรื้อรัง และ 86% ของผู้ติด เชื้อไวรัสตับอักเสบบี จำนวน 254 ล้านคนไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อ และ 97% ไม่ได้เข้ารับการรักษา ขณะที่ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี 63% ของผู้ติดเชื้อจำนวน 50 ล้านคน ไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อ และ 80% ไม่ได้เข้ารับการรักษา โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีผู้เสียชีวิตจากโรคตับอักเสบถึง 1 ล้านคนต่อปี

ขณะที่ผลการสำรวจเรื่องตับอักเสบ โดย GWI (Global Wellness Institute) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากโรช ไดแอกโนสติกส์ เอเชีย แปซิฟิก (Roche Diagnostics Asia Pacific) ครอบคลุม 13 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอฟริกา และละตินอเมริกา พบว่า ประชากรกว่า 50% มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคตับอักเสบ แต่กว่า 30% ไม่เคยเข้ารับการตรวจและไม่คิดจะไปตรวจหรือยังไม่แน่ใจ โดยผู้ถูกสำรวจ 51% ใน 13 ประเทศเชื่อว่า ตนเองไม่ได้มีอะไรผิดปกติและไม่ต้องไปตรวจหาไวรัสตับอักเสบบี-ซี ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจ 58% เชื่อว่า ผู้ที่มีประวัติการใช้ยามีพฤติกรรมทางเพศที่มีความเสี่ยงสูง และการใช้เข็มสักน่าจะเป็นตับอักเสบ

...

นั่นจึงเป็นที่มาของการระดมสมองผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยจากหลากหลายประเทศจัดเวทีนำเสนออุปสรรค ความท้าทายและความร่วมมือในการกำจัดโรคตับอักเสบของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มรายได้ต่ำและปานกลาง ในงาน APAC–IRIDS (Asia Pacific International Roche Infectious Diseases Symposium) 2024 ที่เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 19-21 มิ.ย.2567 ซึ่ง “ทีมข่าวสาธารณสุข” มีโอกาสร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ดร.จอห์น วอร์ด (Dr. John Ward) ผู้อำนวยการพันธมิตรสำหรับการกำจัดโรคตับอักเสบระดับโลก ระบุว่า ไวรัสตับอักเสบมักถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “มังกรเงียบ” เพราะเชื้อไวรัสตัวนี้จะส่งผลกระทบต่อตับ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทนทานและมักไม่แสดงอาการอะไรออกมา จนกว่าตับจะถูกทำลาย เมื่อใดก็ตามที่เริ่มแสดงอาการออกมา หลายคนก็พัฒนาไปเป็นมะเร็งตับแล้ว ซึ่งโอกาสหายยาก และเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกมากที่สุดเป็นอันดับสาม ทั้งนี้ ภัยเงียบของตับอักเสบเป็นเรื่องเศร้า แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาส เพราะเชื้อไวรัสตัวนี้ป้องกันได้ หากผู้ป่วยได้รับการตรวจและรักษาได้ทันท่วงที การเสียชีวิตด้วยโรคตับอักเสบก็จะไม่เกิดขึ้น ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียมีความชุกของโรคนี้ เราทุกคนจึงควรได้รับการตรวจ

สำหรับสถานการณ์โรคตับอักเสบในประเทศไทย ศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ฉายภาพสถานการณ์ของประเทศไทยว่า เมื่อพูดถึงโรคตับอักเสบที่มีสาเหตุจากไวรัส ต้องยอมรับว่าเป็นศัตรูเงียบในประเทศไทยและทั่วโลก คนไทยเสียชีวิตจากโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีปีละนับแสนคน ส่วนทั่วโลกก็นับล้านคน ซึ่งองค์การอนามัยโลกเห็นความสำคัญและกำหนดให้วันที่ 28 กรกฎาคมของทุกปี เป็น “วันตับอักเสบโลก” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกคน สำหรับประเทศไทย คาดว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ประมาณ 3% ของประชากร หรือ 2–3 ล้านคน ส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 0.4% ของประชากร หรือประมาณ 2–3 แสนคน

ศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับสาเหตุและอาการของโรคนั้น โรคไวรัสตับอักเสบบีจะไม่แสดงอาการ คนจึงไม่รู้สึกว่าตนเองป่วยและไม่เห็นความจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจคัดกรอง และรอจนกระทั่งมีอาการ เช่น เท้าบวม ท้องมาน ตาและตัวเหลือง โรคก็พัฒนาเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับขั้นสุดท้าย ซึ่งจะเสียชีวิตในอีก 3-6 เดือน โรคไวรัสตับอักเสบบีและซีติดต่อกันผ่านทางเลือด ไม่ได้ติดต่อกันจากการใช้ชีวิตประจำวันหรือการกินอาหารร่วมกัน

...

เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การใช้เข็มฉีดยาซ้ำ การใช้สารยาเสพติดแบบฉีดเข้าเส้น กลุ่มชายรักชาย ดังนั้น การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีจึงจำเป็น โดยผู้ที่เกิดก่อนปี พ.ศ.2535 ทุกคน หรือประมาณ 42 ล้านคน ควรตรวจเลือดหาไวรัสตับอักเสบบีและซี 1 ครั้งในชีวิต ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขให้สิทธิประโยชน์ตรวจเลือดฟรี 1 ครั้ง วิธีการก็สะดวกโดยเจาะเลือดปลายนิ้ว รู้ผลเร็ว กรณีผลเป็นบวกหรือมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีก็จะเข้าสู่กระบวนการหาปริมาณไวรัส หากมีจำนวนมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็จะได้รับยาเพื่อลดจำนวนไวรัส ซึ่งต้องกินระยะยาวและลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งตับได้ในอนาคตกว่า 80% กรณีพบไวรัสตับอักเสบซีจะได้รับยารักษา โดยรับยาวันละ 1 เม็ด ติดต่อกัน 3 เดือน เป็นโรคที่หายขาดได้ แต่ก็กลับมาเป็นซ้ำได้อีก โดยมีรายงานผู้ป่วยเป็นซ้ำได้ถึง 7 ครั้ง

...

“สำหรับไวรัสตับอักเสบบีมีการติดต่อที่สำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเรื้อรังคือ การติดต่อจากแม่สู่ลูก จากการสัมผัสเลือดแม่ระหว่างคลอด การติดในวัยเด็กกว่า 90% พบว่าจะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดมะเร็งตับได้ในที่สุด ปัจจุบันไทยฉีดวัคซีนป้องกันและฉีดภูมิคุ้มกันให้กับทารกแรกเกิดทุกคน ขณะเดียวกันแม่ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจะได้รับยาลดปริมาณไวรัส 3 เดือนก่อนคลอด ดังนั้น ในระหว่างคลอดแม่จะมีปริมาณไวรัสน้อยมาก โอกาสที่ลูกจะสัมผัสไวรัสจากแม่จะลดน้อยลงไปอีก เมื่อคลอดแล้วทารกจะได้รับวัคซีนและภูมิคุ้มกันภายใน 24 ชั่วโมง ส่วน คำแนะนำสำหรับประชาชนคือ กรณีคนในครอบครัว เป็นไวรัสตับอักเสบบี แนะนำให้คนอื่นๆไปรับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ และเมื่อภูมิคุ้มกันขึ้นแล้วจะป้องกันได้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ เรามีระบบสาธารณสุขที่ดี มีเครือข่ายที่ครอบคลุมโดยเฉพาะ เรามีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่สามารถติดตามคนมารับการคัดกรองได้ รวมทั้งวิธีการคัดกรองที่สะดวกโดยการเจาะเลือดปลายนิ้ว ซึ่งคาดหวังว่าประเทศไทยน่าจะสามารถกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบได้ตามเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกวางไว้” ศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

...

“ทีมข่าวสาธารณสุข” มองว่า แม้ประเทศไทยซึ่งมีระบบสาธารณสุขที่ได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลกมากมาย และโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีจะมีการวางระบบรองรับประชาชนให้มารับการคัดกรองและวิธีการก็สะดวกเพียงแค่เจาะปลายนิ้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ภาครัฐต้องสร้างความตระหนักรู้และเร่งรณรงค์สร้างความเข้าใจในการคัดกรอง รักษา และป้องกันตนเองของประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงและความสูญเสีย

โรคไวรัสตับอักเสบบีและซีเป็นโรคที่ควบคุมและรักษาได้ หากพบได้เร็ว แต่ถ้าละเลยก็มีสิทธิถึงตายได้เช่นกัน.


ทีมข่าวสาธารณสุข

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่