แก้ยังไม่ตกสำหรับ “อุบัติเหตุรถรับ-ส่งนักเรียน” ที่เป็นปัญหาเรื้อรังก่อให้เกิดความสูญเสียมากมายในแต่ละปี อย่างล่าสุด ปีการศึกษา 2567 เปิดภาคเรียนได้เพียงไม่กี่วันก็เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นแล้ว

เริ่มจากเหตุ “รถตู้รับส่งนักเรียนชนรถยนต์” บริเวณ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี มีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 11 ราย ถัดมาไม่กี่วันรถตู้รับส่งนักเรียนใน จ.ลำปาง เสียหลักพลิกคว่ำเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บอีก 10 ราย และปิดท้ายด้วยรถกระบะชนท้ายรถสองแถวนักเรียน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว เสียชีวิต2รายบาดเจ็บอีกระนาว

แม้เรื่องนี้ “ครม.” จะผลักดันกำหนดยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนให้เป็นนโยบายระดับชาติออกมาตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.2566 แต่ก็ยังปรากฏพบรถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นนำมาสู่ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” จึงนำปัญหามาถกผ่านเพจสภาผู้บริโภค LIVE : ระเบิดเวลารถนักเรียนไม่ปลอดภัย

สะท้อนเชิงโครงสร้างการจัดการจาก ธัชวุฒิ จาดบันดิสถ์ นักวิจัยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่า ประเทศไทยมีรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้จดทะเบียนมากมาย ตามการคำนวณจากโรงเรียน 3 หมื่นแห่งทั่วประเทศแต่ละแห่งมีรถรับส่งอย่างน้อย 5 คัน รวมเป็นทั้งหมด 1.5 แสนคัน แล้วนำมาคูณที่นั่งตามกฎหมาย 12 ที่นั่ง

...

ทำให้มีนักเรียนเดินทางกับรถรับส่ง 2 ล้านคน/วัน สิ่งนี้เป็นระเบิดเวลาแม้จะมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุน้อย แต่ก็มีนักเรียนบาดเจ็บ 300-400 คน/ปี โดยเฉพาะรถตู้ที่มักดัดแปลงให้มีที่นั่งได้มากกว่าปกติ 30-40 ที่นั่ง “เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะถูกอัดก๊อบปี้ไม่มีทางออก” กลายเป็นจุดเสี่ยงสร้างความสูญเสียมากที่สุด

เรื่องนี้แม้ว่า “จะมีมาตรฐานควบคุมรถรับส่งนักเรียน” แต่ในทางปฏิบัติกลับวิ่งสวนทางกันสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายจับกุมเข้มงวดได้ “มิเช่นนั้นเจ้าของรถก็จะหยุดวิ่ง” ทำให้ผลกระทบมาตกกับเด็กไม่มีรถไปโรงเรียน “ต้องหันไปพึ่งพารถ จยย.” อันยานพาหนะเกิดอุบัติเหตุสูงสุดของประเทศไทย

ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายต้องมอง “ความสมดุล (BALANCE)” ในระหว่างชีวิตจริงกับเป้าหมาย อย่างกรณีรถสองแถวขนาดใหญ่ที่ถูกดัดแปลงจากหกล้อ “เพื่อมารับส่งนักเรียนที่มีความปลอดภัยสูงมาก” เพราะมีโครงสร้างมั่นคงแข็งแรงกลับไม่สามารถบรรจุให้ขึ้นทะเบียนเป็นรถรับส่งนักเรียนได้

แต่ขณะเดียวกันสามารถนำไปใช้ “ขนส่งคนงานได้ตามกฎหมาย” แม้แต่ช่วงน้ำท่วมรถหกล้อนี้ก็เป็นพาหนะใช้รับส่งนักเรียนได้ดี “ด้วยตัวรถค่อนข้างแข็งแรงมีความสูง” หากเกิดอุบัติเหตุจะไม่สะทกสะท้านห้องโดยสารด้วยซ้ำ ทำให้มีข้อสงสัยเช่นกันว่าทำไมขึ้นทะเบียนเป็นรถรับส่งนักเรียนตามกฎหมายไม่ได้...?

ถ้าพูดถึงปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุนั้นจากการเก็บข้อมูลวิจัย “70% เกิดจากผู้ขับขี่” ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลทั่วไปเข้ามาหารายได้เสริมเท่านั้น ทำให้ไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะ หรือผ่านการอบรมจากกระทรวงศึกษาธิการ กรมการขนส่งทางบก หรือตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ และ 50% เป็นผู้สูงอายุที่เป็นผู้ขับขี่

อีกทั้ง “30% มักเป็นผู้ทำงานสองกะ” ลักษณะทำงานเช้าเลิกเย็นก็มารับส่งนักเรียนหารายได้ “กลายเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข” โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปสนับสนุนฝึกอบรมให้ความรู้อย่างถูกต้องด้วยซ้ำ

ทั้งที่เรื่องนี้ “หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการรถรับส่งนักเรียนเยอะมาก” ไม่ว่าจะเป็นกรมการขนส่งทางบก กระทรวงศึกษาธิการ และตำรวจ แต่ว่าต่างคนต่างทำต่างสั่งการของแต่ละหน่วย เหตุนี้รัฐบาลอาจต้อง เข้ามาสร้างกลไกในการบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อรถรับส่งนักเรียนจะได้มีความปลอดภัย

...

เช่นเดียวกับ คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผช.เลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค บอกว่า สำหรับรถรับส่งนักเรียนในประเทศไทยถูกแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ 1.รถโรงเรียน (Schoolbus) เป็นรถบัสโดยสารสีเหลืองอย่างในภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มักมีเฉพาะในโรงเรียนเอกชนค่อนข้างน้อย

ข้อ 2.รถโดยสารประจำทาง ที่ใช้วิ่งส่งประชาชนทั่วไปด้วย และ 3.รถรับจ้าง เป็นรถส่วนบุคคลใช้เวลาว่างมาหารายได้เสริม ส่วนประเภทรถถูกนำมาใช้มีโมเดลอยู่ 4 แบบ คือ 1.“รถตู้” ตามกฎหมายกำหนดให้รับส่งได้ไม่เกิน 12 ที่นั่ง แต่ตามสถิติที่เคยปรากฏพบมีการดัดแปลงให้มีที่นั่งโดยสารถึง 30ที่นั่ง

ต่อมาคือ 2.“รถบัสขนาดใหญ่สีเหลือง” มักเป็นรถของโรงเรียนที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้นำมาใช้รับส่งนักเรียนที่มีความปลอดภัยสูง 3.“รถสองแถวเล็กดัดแปลงจากรถกระบะ” เป็นรถได้รับอนุโลมให้มารับส่งนักเรียนได้ แต่ก็มีระเบียบปฏิบัติอย่างเช่น ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่น ไม่มีที่ยืน มีประตูกั้นป้องกันนักเรียนตก

นอกจากนี้ยังต้องมีผู้ดูแลนักเรียนอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียนทั้งต้องจดทะเบียนเป็นรถนั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน (รย.2) แล้วทะเบียนรถจะเป็นป้ายสีขาว-ตัวหนังสือสีฟ้า แต่หากป้ายทะเบียนรถเป็นสีขาว-ตัวหนังสือสีเขียวเรียกกันว่า “รถบรรทุกส่วนบุคคล” ใช้สำหรับการขนส่งของได้อย่างเดียว

ถัดมาข้อ 4.“รถสองแถวใหญ่ดัดแปลงจากรถหกล้อ” ที่เป็นรถปลอดภัยสำหรับการรับส่งนักเรียนมากที่สุด เพราะโครงสร้างมีขนาดใหญ่แข็งแรง หากว่า “เกิดอุบัติเหตุ” สามารถรองรับบรรเทาความรุนแรงลงได้ดี อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่พบว่า “รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง” ก็ถูกนำมาใช้วิ่งให้บริการรับส่งนักเรียนด้วยเช่นกัน

...

จริงๆแล้ว “อุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียน” เป็นปัญหามาต่อเนื่องด้วยจำนวนรถเพิ่มขึ้น “แต่หน่วยงานรัฐกลับไม่มีตัวเลขแท้จริง” โดยเฉพาะรถเถื่อนที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนน่าจะมีอยู่แสนคัน ทำให้ไม่อาจกำกับดูแลด้านความปลอดภัยได้ รวมถึงการตรวจสอบมาตรฐานความแข็งแรงของตัวรถ หรือสภาพความพร้อมของผู้ขับขี่นั้น

สาเหตุ “รถรับส่งนักเรียนไม่ยอมขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย” เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงสภาพรถใหม่ ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้ประกอบการในชีวิตประจำวันอื่นได้อย่างเช่น “รถตู้” หากจดทะเบียนจะถูกจำกัดไว้ 12 ที่นั่ง แต่ถ้าไม่จดทะเบียนสามารถรับส่งนักเรียน 25-30 คน/วัน อันจะมีรายได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

“ตอนนี้ยังมีรถรับส่งนักเรียนอีกมากที่ไม่ได้รับการขออนุญาต ส่งผลต่อการกำกับมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน รวมถึงเป็นปัจจัยเสริมพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ที่ไม่พึงประสงค์ หรือดัดแปลงสภาพรถให้รับนักเรียนได้มากขึ้น สิ่งนี้ล้วนเป็นจุดเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียน” คงศักดิ์ว่า

...

เมื่อเป็นเช่นนี้ “แนวทางการป้องกัน” สภาผู้บริโภคเน้นการบริหารจัดการแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านแรก...“โรงเรียน” สร้างกลไกการจัดการด้านความปลอดภัยของเด็ก “ผลักดันให้เป็นแบบแผนบรรจุไว้ในนโยบายของโรงเรียน” หากเปลี่ยนผู้บริหารไปแผนป้องกันความปลอดภัยก็ยังคงอยู่เช่นเดิม

ในส่วน “พ่อแม่” เป็นผู้เลือกรถรับส่ง แต่กลับไม่เคยทราบเลยว่า “เด็ก” กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงอันตรายจากการเลือกรถนั้นให้ “คนขับ” ที่เป็นเสมือนผู้ช่วยครูคอยดูแลรับส่งนักเรียน “อันเป็นกลไกสำคัญจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ” เพราะรถนักเรียนเป็นเหมือนระเบิดเวลา ต่างคนต่างจับเด็กมาเป็นตัวประกัน

ด้วยการใช้เป็นข้ออ้าง “ในการโยนความรับผิดชอบไปให้คนอื่น”ดังนั้น เราต้องสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยให้บุคคลเหล่านี้ แล้วตลอด 6 ปีมานี้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสาเหตุจนสามารถจัดการป้องกันความปลอดภัยนำมาสู่โรงเรียนต้นแบบพัฒนาเป็น “ศูนย์เรียนรู้ระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย”

อันเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมในการเป็นแหล่งเรียนรู้ และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อขยายผลไปพื้นที่อื่นได้ อันมีเป้าหมายสูงสุดให้นักเรียนทั่วประเทศใช้บริการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยได้มาตรฐาน

นี่คือบทสะท้อน “การจัดการรถรับส่งนักเรียน” อันเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเด็กที่ “รัฐบาล” ควรต้องผลักดันสร้างกลไกให้เด็ก และเยาวชนเดินทางไป-กลับจากโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม