ปัญหาสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนสารพิษอันตรายสะท้อนให้เห็นภาพความจริงกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงแล้วอย่างเป็นรูปธรรม จากกรณี “ทุเรียนเวียดนาม” ปนเปื้อนสารแคดเมียม

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม บอกว่า จีนส่งคืนทุเรียนจากเวียดนามกลับ 30 ลอต โดยภาครัฐของจีนอ้างว่าได้ตรวจพบสารโลหะหนักแคดเมียมในเนื้อทุเรียนเกินค่ามาตรฐาน

ผู้บริหารของเวียดนาม the plant protection department ยังระบุแหล่งที่มาของ “แคดเมียม” ที่ชัดเจนไม่ได้ แต่มีความเป็นไปได้ว่าสาเหตุอาจมาจากการปนเปื้อนในดิน น้ำ มลพิษที่ปล่อยออกมาจากโรงงานใกล้กับแปลงปลูก หรืออาจจะมาจากน้ำที่ปนเปื้อนที่ใช้ล้างผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์
อาจารย์สนธิ คชวัฒน์

ขณะนี้จีนได้สั่งระงับการนำเข้าทุเรียนจากโรงงานบรรจุภัณฑ์ 15 แห่ง และสวนผลไม้ 18 แห่งในเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป

...

สะท้อนว่า...การปลูก “ทุเรียน” ใกล้แหล่ง “อุตสาหกรรม” อาจมีผลกระทบจากโลหะหนักได้ ดังนั้นแนะนำให้พื้นที่ปลูกทุเรียนและสวนผลไม้อยู่ห่างจากพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างน้อย 3 กิโลเมตรและน้ำที่ใช้ต้องไม่ปนเปื้อนหรือเป็นแหล่งรองรับน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรม

ปัจจุบันประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่สุดของการส่งออกทุเรียนของเวียดนาม โดยทุเรียนลอตแรกของเวียดนามได้ส่งออกมายังจีนเมื่อเดือนกันยายน 2565

และในปี 2566 ประเทศจีนนำเข้าทุเรียนเวียดนาม ปริมาณ 493,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,107 เมื่อเทียบกับปี 2565 มูลค่ากว่า 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,036 ส่วนแบ่งทางการตลาดทุเรียนเวียดนามในจีนเพิ่มจากร้อยละ 5 ในปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 34.6 ในปี 2566

โดยมีมูลค่าส่งออกทุเรียนไปจีนเฉลี่ยตันละ 4,332.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ

หากประเทศจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนแช่แข็งจากเวียดนามในปีนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปจีนจะสูงถึง 3,000 -3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

มองเวียดนามแล้วย้อนดู “ประเทศไทย” ก็ต้องระวัง เตรียมพร้อมรับมือรอบด้านเอาไว้เสียแต่เนิ่นๆ เอาแค่สถานการณ์ใหม่ๆหมาดๆ จากกรณีข่าวที่ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องในการลักลอบขนย้าย “กากแคดเมียม” และ “สังกะสี” ที่เป็นสารเคมีอันตรายจากจังหวัดตากมายังจังหวัดสมุทรสาคร

หรือ...เหตุการณ์การระเบิดทำให้เกิดไฟไหม้สารเคมีของโรงงานผลิตน้ำแข็งระเบิด หรือกรณีเพลิงไหม้โรงงานเก็บกากสารเคมี จังหวัดระยอง จำนวน 2 ครั้ง ของบริษัทวิน โพรเสส และในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมถึงกรณีเกิดเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมี จ.พระนครศรีอยุธยา

นับรวมไปถึงกรณีสารเคมีรั่วไหลในโรงงาน ย่านพระราม 2

อีกทั้งกรณีล่าสุดที่มีรายงานข่าวการพบถังสารเคมีจำนวน 11 ถัง ที่พบว่าถูกตั้งทิ้งไว้ใกล้ทะเลสาบกลางหมู่บ้านแห่งหนึ่ง อำเภอสามโคก จ.ปทุมธานี มานานกว่า 2 ปี โดยคนในหมู่บ้านเกิดความกังวลว่า...หากถังชำรุดอาจมีสารเคมีรั่วไหลและเกิดอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยแถวนั้น

กรณีหลังนี้แม้ที่ผ่านมาคณะกรรมการหมู่บ้านได้พยายามร้องเรียนไปหลายช่องทางแต่ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งกรณีทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงว่า มีการละเลยการกำกับดูแลติดตามการนำเข้าสารเคมี การโยกย้ายสถานที่กักเก็บ หรือการเก็บทำลายสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ

...

“ทีมข่าวสภาผู้บริโภค” สรุปภาพรวมของเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลหรือการลักลอบสารเคมีอันตรายตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีจำนวนกว่า 7 เหตุการณ์ ซึ่งเป็นเพียงบางเหตุการณ์ที่ได้รวบรวมไว้

ประเด็นสำคัญมีว่า...กรณีการพบสารเคมีอยู่ในพื้นที่ชุมชนหรือเหตุการณ์โรงงานระเบิดและไฟไหม้ จนทำให้สารเคมีรั่วไหลออกมานั้น เกิดจากกฎหมายและกลไกการจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แทนที่จะมีการจัดการปัญหาที่ต้นตอ

...จนทำให้คุณภาพชีวิตคนไทยต้องอยู่บนความเสี่ยง และไม่สามารถทราบได้เลยว่าในชุมชนมีโรงงานผลิตสารเคมีอันตราย หรือไม่ทราบว่ามีการลักลอบขนย้าย หรือกักเก็บสารเคมีมากเพียงใด

รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนอย่างไรบ้างไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดยตรงหรือโดยอ้อมจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

สภาผู้บริโภค” มีความคิดเห็นว่า การผลักดันให้เกิดกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือ กฎหมายพีอาร์ทีอาร์ (PRTR)

...

...จะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตภายในโรงงาน และจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษที่อยู่ใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ได้

“การที่ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลมลพิษได้จะสามารถวางแผนป้องกันสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้ โดยไม่ต้องรอให้เกิดความเสียหาย หรือต้องสะสมสารพิษเข้าสู่ร่างกายทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว”

ขณะเดียวกันประโยชน์ต่อภาครัฐก็จะเกิดขึ้นจากการผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ทราบสถานการณ์และแนวโน้มการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ

เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสารเคมี

ส่วนภาคเอกชนหรืออุตสาหกรรมช่วยให้สามารถตรวจสอบระบบและกระบวนการผลิตของตนให้รัดกุมเพื่อความปลอดภัยในการทำงานในพื้นที่อุตสาหกรรมและป้องกันความสูญเสียจากอุบัติภัยจากสารเคมี

“สภาผู้บริโภค” ในฐานะผู้แทนผู้บริโภคตามกฎหมาย จึงขอเป็นอีกหนึ่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษโดยเร็ว เพื่อให้ผู้บริโภคได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยตามสิทธิผู้บริโภคสากล รวมถึงตามสิทธิผู้บริโภคไทย

...

...ที่ “ผู้บริโภค” ต้องได้รับทราบข้อมูลข่าวสารครบถ้วนถูกต้อง เพื่อให้สามารถเตรียมตัวรับมือกับปัญหาได้และสามารถเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ได้ โดยไม่ต้องขอเอกสารจากใครหรือหน่วยงานใด และหากยังไม่ถูกจัดการสามารถส่งเสียงและเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการได้ทันที

ตอกย้ำ “กฎหมาย PRTR” หัวใจสำคัญคือการเปิดเผยแพร่ต่อสาธารณะ ถึงชนิดและปริมาณการครอบครองสารพิษ การปลดปล่อยสารพิษและการเคลื่อนย้าย ถ้ามีกฎหมายนี้สื่อจะสามารถค้นหาข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง ผ่านทางเว็บไซต์ได้ทันที

หลักการกฎหมาย PRTR คือ “โรงงาน” ต้องมีการเผยแพร่สารเคมีที่ครอบครอง สามารถเข้าถึงและเอาข้อมูลนั้นมาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ยังจะเป็นแหล่งรวมข้อมูลขนาดใหญ่ทางด้าน “มลพิษ” ...เป็นเรื่องของการสร้างสังคมที่...“โปร่งใส” การวางแผนเพื่อ...“ความยั่งยืน”.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม