ยิ่งปราบปรามยิ่งเลวร้ายสำหรับ “แก๊งปล่อยเงินกู้นอกระบบ” ที่เอารัดเอาเปรียบประชาชนเรียกเก็บดอกเบี้ยโหดเกินกว่ากฎหมายกำหนด “สร้างความเดือดร้อนให้ลูกหนี้” ด้วยวิธีการทวงหนี้แบบนอกกฎหมายที่ยังปรากฏให้เห็นกันแทบทุกวันจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังยากจะแก้ไขได้

แม้ก่อนหน้านี้ “รัฐบาลจะยกระดับให้หนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ” เปิดปฏิบัติการสนธิกำลังทุกภาคส่วน ทั้งรับบทเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยดูแลทั้ง “เจ้าหนี้-ลูกหนี้อย่างเป็นธรรม” ในเรื่องดอกเบี้ยแพงเกินจริง และการทวงหนี้ที่รุนแรง “ปราบปรามผู้กระทำความผิดเด็ดขาด” แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

เพราะทันทีที่ “รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ” เปิดข้อมูลผลการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเสร็จแล้ว 1.5 แสนราย มูลหนี้ลดลง 1,202 ล้านบาท และคงเหลือ 3,385 รายที่อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ยนั้น “เจ้าแม่เงินกู้โหดเจ๊ฟ้า จ.ราชบุรี” ก็พาพวกไปกระทืบทวงหนี้โหด “ครูผู้ช่วยสาว” พร้อมกับถ่ายรูปโพสต์ประจานทางโซเชียลฯ

...

กลายเป็นการกระทำไม่เกรงกลัวกฎหมายภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 อันมีชนวนเหตุใดนั้น คมเพชญ จันปุ่ม หรือทนายอ๊อด ประธานเครือข่ายทนายชาวบ้าน บอกว่า ปัจจุบันนี้ประชาชนชั้นรากหญ้า พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอยต่างเผชิญปัญหาเงินขาดมือจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน

แม้รัฐบาลจะออกนโยบายช่วยเหลือด้านการเงินต่างๆ แต่ก็ไม่สอดรับกับความเป็นจริง อย่าง “กรณีธนาคารปล่อยกู้รายละไม่เกิน 1 แสนบาท” ในช่วงแรกๆ พ่อค้าแม่ขายรายย่อย และเจ้าของธุรกิจทั่วไป ต่างพากันยื่นเรื่องขอกู้เงินเพื่อจะนำมาหมุนเวียนต่อยอด “ธุรกิจ” ในช่วงเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวหลังโควิด-19 คลี่คลายนั้น

คมเพชญ จันปุ่ม
คมเพชญ จันปุ่ม

สุดท้ายปรากฏว่า “ธนาคารก็ไม่อนุมัติปล่อยกู้” เพราะบางคนเคยผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือกู้เงินบัตรเครดิตมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน “ประสบปัญหาค้างจ่ายหนี้ล่าช้า 1-2 เดือน” จนต้องมีประวัติติดเครดิตบูโรอันเป็นเหตุให้ธนาคารปฏิเสธการปล่อยเงินกู้ ทำให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้

เรื่องนี้เป็นแรงผลักดันให้ “พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย” จำใจพากันหันหน้ากู้เงินนอกระบบที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตรากฎหมายกำหนดร้อยละ 10-40 จาก “นายหน้าเงินกู้ หรือแก๊งหมวกกันน็อก” ที่มีการโฆษณาแจกใบปลิว นามบัตร ติดอยู่ตามเสาไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ หรือห้องน้ำสาธารณะกระจายอยู่ทุกจังหวัดของประเทศไทย

กลายเป็นแหล่งกู้เงินง่ายได้ทันใจสำหรับ “ผู้ต้องการใช้เงินฉุกเฉิน” ที่จะนำมาหมุนใช้จ่ายทำการค้าในธุรกิจของตัวเอง โดยไม่ต้องมีเอกสาร หลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือไม่ต้องตรวจสอบหลักฐานทางการเงินด้วยซ้ำ

เพราะทันทีที่ติดต่อ “มักจะมีแก๊งหมวกกันน็อก” ขับขี่ จยย.เข้ามาสำรวจสถานะหน้าที่การงาน สภาพร้านค้า บ้าน เพื่อประเมินในการปล่อยเงินกู้ให้เหมาะสมสามารถผ่อนชำระได้ ด้วยการเขียนสัญญาการกู้ยืมเงิน “เซ็นชื่อลงกระดาษเปล่า” หากมีปัญหาผู้ให้กู้ก็จะกรอกตัวเลขดอกเบี้ยลงในเอกสารสัญญาให้ถูกต้องตามกฎหมาย

เพื่อป้องกันกรณีถูกดำเนินคดี “ความผิดคิดดอกเบี้ยสูงกว่ากฎหมายกำหนด หรือเตรียมไว้ในการฟ้องคดีทางแพ่ง” โดยสัญญาฉบับนี้จะถูกใช้เป็นหลักฐานอันจะถูกเก็บไว้กับเจ้าหนี้เงินกู้เป็นผู้ถือไว้ฝ่ายเดียว

...

สำหรับเครดิตการกู้ยืมเงินครั้งแรก “ผู้ปล่อยกู้จะให้ได้ไม่เกิน 10,000 บาท” ส่วนใหญ่มักคิดดอกเบี้ยร้อยละ 20 “โดยเงินก้อนจะได้ไม่เต็มถูกหักดอกเบี้ยไปก่อน 2,000 บาท” แล้วลูกหนี้ต้องชำระเงินคืนให้เร็ว หากไม่สามารถชำระเป็นก้อนก็ต้องจ่ายเพียงดอกเบี้ยอย่างเดียวไปเรื่อยๆจนกว่าจะส่งเงินต้นครบ 10,000 บาท

หากส่งเงินครบตามกำหนด “จะได้เพิ่มวงเงินไม่เกิน 3 หมื่นบาท” แล้วด้วยลูกหนี้มีปัญหาต้องการใช้เงินเร่งด่วนอยู่แล้ว “มักไม่ปฏิเสธคิดว่าตัวเองจะหาเงินมาชำระได้ทัน” แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่หาเงินยากลำบากเช่นนี้ “ก็ต้องนำเงินที่กู้มานั้นจ่ายดอกเบี้ยไปจนหมด” ทำให้บางคนต้องหันหน้ากู้หนี้ใหม่

เพื่อนำเงินมาใช้หนี้เก่า “อันเป็นการกู้ในวงเงินมากกว่าเดิม” จากเคยกู้หลักหมื่นบาทอาจจะลอยไปเป็นหลักแสนบาท กลายเป็นดินพอกหางหมู “ไม่สามารถผ่อนชำระได้” จนสุดท้ายไม่อาจหลุดการเป็นหนี้ไปได้

เมื่อเป็นเช่นนี้มักนำมาซึ่ง “การทวงหนี้โหด” จากแก๊งหมวกกันน็อกนอกพื้นที่เข้ามาข่มขู่ ทำลายข้าวของ หรือทำร้ายร่างกายลูกหนี้ แล้วยิ่งลูกหนี้รายใดเก็บเงินได้ยากๆ “กลุ่มทวงหนี้ยิ่งชอบ” เพราะมีค่าคอมมิชชันสูง

...

ในเรื่องนี้ “ผู้กู้” ต่างรับรู้ดีกับการเป็นหนี้นอกระบบที่ต้องถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด แล้วถ้าไม่มีเงินจ่ายก็ต้องเผชิญ “การถูกข่มขู่ คุกคาม ติดตามทำร้าย” แต่ด้วยบางคนขัดสนเงินจริงๆ “ไม่มีเงินแม้แต่ให้ลูกไปโรงเรียน” ทำให้ต้องยอมรับความเสี่ยงนั้น เพื่อจะได้มีเงินมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน

ปัญหามีต่อว่า “ลูกหนี้นอกระบบถูกทวงหนี้ข่มขู่ ถูกทำร้าย” มักไม่แจ้งความดำเนินคดีอันเกิดจากการเกรงกลัวจะเกิดอันตรายต่อชีวิต เพราะถ้าดูตาม พ.ร.บ.ทวงถามหนี้ฯ ม.41 ผู้ฝ่าฝืน ม.11 (1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือทําอื่นใดเกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง ทรัพย์สินลูกหนี้ มีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

หากผู้ก่อเหตุถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่ “ในชั้นศาล” มักจะยอมรับสารภาพให้เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาให้มีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ.ม.78 “ศาล” อาจเห็นสมควรลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งก็ได้ แล้วยิ่งไม่เคยทำผิดมาก่อนตาม ม.56 อาจได้รับการพิพากษามีความผิดแต่รอกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ได้ด้วย

ดังนั้นถ้าแก๊งปล่อยเงินกู้หลุดรอดจาก “การติดคุกง่าย” คราวซวยมักจะมาตกอยู่กับลูกหนี้ที่แจ้งความดำเนินคดีนั้น “ต้องโดนจองเวรจองกรรมติดตามไม่หยุดหย่อนแน่” แล้วเท่าที่เคยเห็นหลายคนต้องหนีหัวซุกหัวซุน “จนไม่สามารถประกอบกิจการอาชีพใดได้เลย” เพราะต้องถูกตามรังควานกันอย่างไม่หยุดหย่อน

หนำซ้ำ “การกู้เงินนอกระบบ” ถ้าหากกรณีไม่ถูกทำร้ายร่างกายมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “สัญญาทางแพ่ง” เพราะเป็นการกู้ยืมเงินกัน แม้เจ้าหนี้จะเก็บดอกเบี้ยเกินกฎหมายก็ตาม “แต่หาหลักฐานยืนยันความผิดได้ยาก” เนื่องจากผู้กู้มีหน้าที่ลงรายมือชื่อเท่านั้น ส่วนใบสัญญาทั้งหมด “เจ้าหนี้” จะเป็นฝ่ายเก็บไว้แต่เพียงผู้เดียว

...

บางกรณีแม้จะมีหลักฐาน “การโอนเงิน หรือหลักฐานลงตัวเลขในสมุดจด” ก็ไม่อาจจะยืนยันได้ว่าเป็นการโอนเงินจากการปล่อยกู้เงินเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ ดังนั้นทางออกของ “ลูกหนี้” ควรอยู่ห่างจากแก๊งปล่อยเงินกู้นอกระบบดีที่สุด เพราะผลที่ตามมามักทำให้ครอบครัว และคนรอบข้างพลอยเดือดร้อนไปด้วย

เหตุนี้ทางปฏิบัติ “เอาผิดแก๊งปล่อยเงินกู้นอกระบบได้ยาก” แล้วตำรวจบางนายก็ไม่รับแจ้งความดำเนินคดีแถมตำหนิด้วยซ้ำว่า “ไปเอาเงินเขามาทำไม” เพราะมองว่าหนี้นอกระบบเป็นหนี้เกิดจากสมยอมทั้ง 2 ฝ่าย

“อันมีปัจจัยสำคัญจากประชาชนขาดความรู้ด้านกฎหมาย ดังนั้นหากมีการแจ้งความกับตำรวจมักจบลงจากการไกล่เกลี่ย เว้นแต่ลูกหนี้ถูกทำร้ายร่างกายตกเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์ มักทำให้ผู้บังคับบัญชากดดันให้ขับเคลื่อนดำเนินคดี สิ่งนี้เป็นวัฏจักรวงจรการปล่อยเงินกู้นอกระบบที่มีนายทุนอยู่เบื้องหลัง” ทนายอ๊อด ว่า

ประการถัดมา “นายทุนเงินกู้นอกระบบ” เท่าที่ทราบมักเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนมีสีที่เป็นเจ้าของเงินกู้ หรือนายทุนเงิน ด้วยการส่งเงินรับเงินผ่าน “ตัวกลาง” เป็นหัวหน้าชุดแต่ละพื้นที่ที่รับค่าจ้างรายวันบวกค่าเปอร์เซ็นต์จากจำนวนเงินติดตามมาได้ แล้วก็ไปจ้างเด็กที่เคยต้องโทษ หรือคนติดยาเสพติดมาปล่อยกู้ หรือทวงหนี้

ออกวิ่งงานตามจังหวัด “เช่าบ้านมีเครือข่าย 10-20 คน” ส่วนใหญ่มักอ้างกันว่าเคลียร์กับคนมีสีเปิดทางให้สามารถปล่อยเงินกู้ได้ เพราะแก๊งปล่อยเงินกู้สวมเสื้อแจ็กเกตใส่หมวกกันน็อกเต็มใบวิ่ง จยย.เข้าไปตามชุมชนมักรู้กันว่าเป็นกลุ่มปล่อยเงินกู้ผิดกฎหมาย ดังนั้นถ้าไม่เคลียร์คนมีสีในพื้นที่จะเข้าไปทำมาหากินคงเป็นเรื่องยาก

ฉะนั้น “เรื่องหนี้นอกระบบ” ยังเป็นปัญหาเรื้อรังยากจะแก้ไขได้ “เว้นแต่ปฏิรูปเครดิตบูโร” เพื่อให้ประชาชน พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ง่ายแล้วหนี้นอกระบบก็จะเบาบางลง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม