เมื่อวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน มีการแถลงข่าวที่กระทรวงแรงงาน โดยรัฐมนตรีพิพัฒน์ รัชกิจประการ ว่ากระทรวงจะจัดงานใหญ่ในหัวข้อ “JOB EXPO THAILAND 2024” หรือมหกรรมหางานสร้างรายได้ที่สนุกที่สุดของประเทศไทยขึ้นในระหว่างวันที่ 28-30 มิถุนายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ฮอลล์ 6 และ 7
จะมีบริษัทและผู้ประกอบการ ตลอดจนโรงงานชั้นนำของไทย 222 แห่ง มาเปิดรับสมัครงานทั่วประเทศกว่า 500,000 อัตรา และยังมีการเปิดพื้นที่ให้ความรู้แก่แรงงานที่ประสงค์จะไปต่างประเทศเอาไว้ให้ด้วยอีกซีกหนึ่งของฮอลล์ดังกล่าว พร้อมกับมีตำแหน่งงานอีก 100,000 ตำแหน่ง สำหรับแรงงานที่ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศโดยเฉพาะ
ผมเห็นด้วยกับการจัดงานนี้เต็มที่ และขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีและข้าราชการกระทรวงแรงงานที่ทุ่มเทจัดงานนี้ขึ้นอีกครั้ง
ทำให้ผมนึกถึง “บุคคล” ในตำนานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ 2 ท่าน ท่านแรก คุณ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรองเลขาธิการสภาพัฒน์ ซึ่งในภายหลังไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆหลายกระทรวง ก่อนจะไปรับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และถึงแก่อนิจกรรมในตำแหน่งดังกล่าว
คุณโฆสิตไม่เพียงแต่เคยเป็นที่ปรึกษาและช่วยป๋าเปรมในการจัดทำ “แผนพัฒนาชนบทยากจน” เท่านั้น...เมื่อเศรษฐกิจไทยเกิดมีปัญหา ทำให้รัฐมนตรี สมหมาย ฮุนตระกูล ต้องลดค่าเงินบาทครั้งใหญ่...เมื่อ พ.ศ.2527 ท่านก็ยกทีมหน่วยรบเคลื่อนที่ของท่านจากชนบทมาช่วยป๋าเปรมกู้เศรษฐกิจ หลังลดค่าเงินบาทด้วยอีกภารกิจหนึ่ง
โดยมีท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ยุคนั้น ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นแม่ทัพใหญ่ ควบคุมหน่วยรบเศรษฐกิจทั้งหมดพร้อมออกมาตรการ 24 มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้งเกษตรกรรม, อุตสาหกรรม, การส่งออก, การท่องเที่ยวและการจ้างงาน ฯลฯ
...
1 ในวิธีการส่งเสริมการจ้างงานก็คือโครงการที่เรียกกันว่า “ตลาดนัดแรงงานแห่งชาติ” หลายๆท่านคงจะได้ยินชื่ออยู่บ้าง
หลักการง่ายๆก็คือ สภาพัฒน์ร่วมกับกรมแรงงาน จะเชิญผู้ประกอบการ ที่ประสงค์จะจ้างแรงงานให้มาเข้าโครงการนี้ ซึ่งจะจัดตลาดนัดให้ผู้ว่างงานกับผู้ต้องการแรงงานได้พบปะกัน
ยุคนั้นยังไม่มีศูนย์สิริกิติ์ แต่มี หอประชุมธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์แล้ว สภาพัฒน์จึงติดต่อขอยืมระเบียงหอประชุมทั้งหอใหญ่ หอเล็กไปจนถึงส่วนหนึ่งของสนามฟุตบอล เพื่อที่จะตั้งเต็นท์ให้บริษัทเอกชนต่างๆที่ประสงค์จะจ้างงานได้มาเปิดบูธออกร้าน สัมภาษณ์งาน
แล้ววันเปิดงาน “ตลาดนัดพบแรงงานแห่งชาติ” ครั้งแรกก็เริ่มขึ้น ท่ามกลางพี่น้องแรงงานที่แห่กันไปสู่หอประชุมธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ มืดฟ้ามัวดิน รวมตลอดทั้งงานน่าจะกว่าครึ่งแสนคน
ภาพพี่น้องแรงงานนับหมื่นเดินข้ามสนามหลวงสู่ธรรมศาสตร์ เป็นภาพที่สื่อมวลชนยุคโน้นนำไปลงหน้าหนึ่ง และต่อมามีคอลัมนิสต์บางท่านเขียนล้อว่า สภาพัฒน์จัดงานนี้เพื่อเสริมบารมี หรือประจานป๋าเปรมกันแน่...บริหารประเทศแบบไหน คนไทยถึงได้ว่างงานขนาดนั้น?
แต่โดยรวมงานนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี ทำให้คนไทยที่ตกงานอยู่หลายหมื่นคนได้มีโอกาสทำงานเป็นส่วนใหญ่
ต่อมากรมแรงงานก็เห็นดีเห็นงามรับงาน “ตลาดนัดแรงงาน” ไปดำเนินต่อ เปลี่ยนชื่อไปมากมาย แต่ใช้หลักการเดียวกัน
ก็มาถึงบุคคลที่ 2 ที่เป็นต้นธารความคิด อดีตอธิบดีหลายกรมของกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อาทร จันทวิมล
ดร.อาทร เมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการ วิทยาลัยช่างกลปทุมวัน ได้ริเริ่มเชื้อเชิญโรงงานหรือบริษัท ห้าง ร้าน ที่ประสงค์จะรับผู้จบจากวิทยาลัยช่างกลไปทำงานด้วย...มาออกร้านในบริเวณวิทยาลัยในชื่องาน “ตลาดนัดแรงงานช่างกล”
อาจารย์โฆสิตแอบไปเที่ยวงาน ตลาดนัดแรงงานช่างกล หลายครั้ง และในที่สุดก็เอามาขยายเป็นโครงการระดับชาติดังกล่าว
จาก “ตลาดนัดแรงงานช่างกล” ของอาทร จันทวิมล สู่ “ตลาดนัดแรงงานแห่งชาติ” โดยโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังลดค่าเงินบาท และสู่งาน “เอ็กซ์โป แรงงาน 2024” โดยรัฐมนตรี พิพัฒน์ รัชกิจประการ...ต่อยอดกันมา 39 ปีแล้วนะครับ.
“ซูม”
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม