“ประเทศไทย” มีความมุ่งมั่นในการร่วมมือกับนานาประเทศในการลดภาวะโลกร้อน และร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม
สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ประกาศความสำเร็จเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตจากทุกภูมิภาคทั่วโลก “GCCA CEO Gathering and Leader Conference 2024” ระหว่างวันที่ 3-7 มิ.ย.67 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
...
มีผู้บริหารระดับสูงบริษัทชั้นนำระดับโลก ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ จำนวนกว่า 200 คน ร่วมประชุมกำหนดกลยุทธ์ลดโลกร้อน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีต ก้าวไปสู่ “Net Zero Future”
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ให้เกียรติร่วมการประชุม พร้อมกล่าวว่า อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตมีความสำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐานทั้งในไทยและทั่วโลก
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ มีแผนงานระดับชาติในการปฏิบัติตามคำสัญญามุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ คือ นวัตกรรม และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในการลดคาร์บอน ด้วยการนำแนวทาง Bio-Circular-Green (BCG) มาใช้เพื่อสร้างสมดุลในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
...
ทั้งนี้ “สระบุรี แซนด์บอกซ์” เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดี เช่น การผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่ลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต เชื่อมั่นว่าหากเรามีเป้าหมายและดำเนินงานตามแนวทางเดียวกันจะบรรลุเป้าหมายโดยเร็ว
ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า ต้องขอขอบคุณ Global Cement and Concrete Association (GCCA) คัดเลือกให้ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดการประชุมครั้งสำคัญ ภายใต้แนวคิดหลัก “Cement Industry Progress-What’s next for our collective action and future”
...
“การประชุมประสบความสำเร็จ มีการหารือกลยุทธ์การดำเนินงานกับผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของโลก รวมถึงติดตามนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกจากผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ การเชื่อมโยงความร่วมมือ และการสนับสนุนด้านการเงิน” ดร.ชนะ กล่าวย้ำ
ดร.ชนะ กล่าวอีกว่า ปีนี้นับเป็นก้าวแรก “กรีนฟันด์” หรือ “กองทุนสีเขียว” จากแคนาดา สนับสนุนเงินผ่านองค์การพัฒนา-อุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ จำนวน 8 ล้านเหรียญ เพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยที่จะเร่งลดการปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศไทยและทั่วเอเชีย ถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่ดีมาก
ด้าน นายโธมัส กิลโย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Global Cement and Concrete Association (GCCA) กล่าวว่า GCCA เป็นความร่วมมือของผู้ประกอบอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตชั้นนำระดับโลก
...
ปัจจุบันสมาชิกมีกำลังการผลิตรวมกว่าร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ทั้งโลก เป็นศูนย์กลางรวบรวมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเป็นผู้นำการผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
“การตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดประจำปี GCCA มาจากความร่วมมือและผลงานที่ยอดเยี่ยมของ TCMA เริ่มจากเป็นประเทศแรกของโลกที่จัดทำแผนที่นำทางอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ปี 2050 ตามแนวทางของ GCCA บูรณาการทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง” นายโธมัส กล่าว
แม้จะมีความท้าทายเรื่องต่างๆ แต่นานาชาติเห็นถึงความตั้งใจที่ประเทศไทย มุ่งมั่นร่วมมือกับทุกภาคส่วนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
หากทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เป้าหมาย “Net Zero Future” คงไม่ไกลเกินเอื้อม.
สุวัฒน์ พุฒิสกุลวงศ์ รายงาน
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่