Sexual Harassment หรือการคุกคามทางเพศ เป็นอีกหนึ่งประเด็นทางสังคมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากขึ้นทั่วโลก ขณะเดียวกันผู้คนหลากหลายก็ผนึกกำลังกันทำให้การถูกคุกคามลักษณะนี้ไม่ได้อยู่ในมุมเงียบเหมือนเช่นอดีต แต่ทำให้ได้รับการมองเห็น รวมถึงจับมือเพื่อต่อต้านการคุกคามทางเพศรูปแบบต่างๆ กันมากขึ้น สสส. และภาคีเครือข่าย ทั้งภาคประชาสังคมและภาควิชาการ เล็งเห็นว่าการผนึกกำลังกันอย่างมีทิศทางจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยให้ปัญหานี้ไม่ได้อยู่ใต้พรมในสังคมอีกต่อไป จึงได้ประกาศเจตนารมณ์ ‘ร่วมสร้างสังคมปลอดจากการคุกคามทางเพศ’ อย่างเป็นทางการ โดยเริ่มจากพื้นที่ของการทำงาน หวังขยายผลความสำเร็จต่อเนื่องต่อไปในอนาคตในทุกภาคส่วนของสังคมด้วย
คุกคามทางเพศ ไม่ใช่เรื่องเล็ก
การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) มีความหมายครอบคลุมในหลายส่วน ตั้งแต่การแสดงออกทางกาย การแทะโลมทางสายตา หรือการสัมผัส การใช้วาจา ที่อาจเป็นได้ทั้งการวิจารณ์รูปร่างหน้าตา หรือใช้วาจาส่อไปในเรื่องเพศ การสัมผัส กระทั่งการพูดขอมีเพศสัมพันธ์ ในขณะที่อีกฝ่ายรู้สึกอึดอัดใจ หรือเป็นกังวลใจต่อความปลอดภัย หลายครั้งการคุกคามในลักษณะนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้สมยอมพร้อมใจ สร้างความเสียหายต่อทั้งร่างกายและจิตใจ โดยพื้นที่หนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดการคุกคามทางเพศได้ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นคือ พื้นที่การทำงาน
นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า การถูกละเมิดทางเพศในพื้นที่การทำงาน หรือสำนักงาน มีหลายรูปแบบ และมีผลเสียมากกว่าที่คิด บางคนอาจต้องทนอยู่กับการถูกคุกคามจนส่งผลต่อสภาวะจิตใจ หรือเลวร้ายจนถึงระดับภาวะซึมเศร้าได้ โดยการสำรวจร่วมกันระหว่าง สสส. และ นิด้าโพล ล่าสุดถึงสถานการณ์การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 2,000 คน ทั้งข้าราชการ ลูกจ้างของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน ช่วงวันที่ 6-19 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่าเกือบ 1 ใน 4 หรือ 23.5% เคยพบเห็นการถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ขณะที่ 6.3% หรือ 126 คน เคยถูกคุกคามทางเพศ โดยที่เกิดมากที่สุดคือ การถูกคุกคามด้วยวาจา 50% ผ่านการพูดวิจารณ์สัดส่วนร่างกาย มีจำนวน 2.88% ถูกชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์ ในขณะที่การคุกคามด้านกิริยาถูกจ้องมองแทะโลมทางสายตามีถึง 86.21%
“เรื่องหนึ่งที่น่าเป็นกังวลคือในโลกของการทำงานมีการคุกคามทางเพศระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา หรือเจ้านายและลูกน้อง เนื่องจากอยู่ในสถานภาพที่มีอำนาจมากกว่า และบางคนใช้อำนาจในทางเอาเปรียบเพื่อคุกคาม หรือล่วงละเมิดทางเพศผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า ซึ่งการสำรวจพบว่ามี 16.67% นอกจากนี้ในสถานภาพของเพื่อนร่วมงานเองก็พบการคุกคามทางเพศ โดยมีจำนวนมากถึง 81.75% เป็นต้น มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจจากเหตุการณ์การคุกคามทางเพศคือ 38.10% บอกว่าไม่ทำอะไรเลยเมื่อพบเห็นเหตุการณ์การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ในขณะที่ 33.33% ใช้วิธีต่อว่า 3.17% ขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นที่อยู่ในบริเวณนั้น มีไม่ถึง 3% ที่ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก หรือแจ้งความ”
นายแพทย์พงศ์เทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่เมื่อเกิดการคุกคามทาง หรือล่วงละเมิดทางเพศขึ้นในที่ทำงานแล้วเกิดการเพิกเฉย ส่วนหนึ่งอาจเพราะผู้ถูกกระทำอยู่ในสถานภาพการทำงานที่มีอำนาจน้อยกว่า จึงมักกลัวจะได้รับผลกระทบต่อการทำงาน แต่การถูกคุกคามทางเพศก็ส่งผลเสียต่อไประยะยาวได้ ทั้งสร้างความรู้สึกอึดอัดใจ และความไม่ปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย จึงมีแนวคิดที่จะทำให้เรื่องการถูกคุกคามทางเพศ หรือความรุนแรงบนพื้นฐานทางเพศเป็นเรื่องของทุกคน หวังให้ผู้คนจะไม่นิ่งนอนใจ และมีส่วนช่วยในการลดความรุนแรงบนเหตุอันเกิดจากเรื่องเพศในรูปแบบต่างๆ ร่วมกันอีกด้วย โดยสำหรับ สสส. เองแล้ว ยังมีเป้าหมายในระยะ 5 ปีที่จะกระตุ้นให้สังคมตระหนักรู้เพื่อลดความรุนแรงบนเหตุอันเกิดจากเรื่องเพศ ทั้งจากการคุกคามทางเพศทั้งในพื้นที่การทำงาน พื้นที่สาธารณะอื่นๆ การคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์ รวมถึงความรุนแรงในครอบครัวรูปแบบอื่นๆ โดยการร่วมมือกันของภาคีเครือข่าย รวมถึงภาควิชาการ จากการกำหนดนโยบาย สร้างแนวทางการปฏิบัติ สร้างกลุ่มผู้นำ และถอดแบบความสำเร็จในเชิงรูปธรรม
ทำให้การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เสียงดังขึ้น
รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนักวิชาการผู้ร่วมผลักดันให้การคุกคามทางเพศรูปแบบต่างๆ ถูกมองเห็นมากขึ้นกล่าวว่า การร้องเรียนเรื่องการมีพฤติกรรมทางเพศยังเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย ที่ผ่านมาการที่ผู้ถูกกระทำมักเลือกที่จะเงียบ หรือวางเฉย ส่วนหนึ่งเพราะปัจจุบันยังไม่มีระเบียบข้อบังคับขององค์กรที่กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ขณะเดียวกันในกรณีที่ต้องร้องเรียนเอาผิดก็อาจจะยังไม่มีความชัดเจน หรือมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้อย่างจริงจังและจริงใจมากพอเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ภาควิชาการจึงได้ ร่วมกับ สสส. พัฒนาแผนดำเนินงาน ทั้งการเก็บข้อมูลวิชาการสถานการณ์การคุกคามทางเพศทั้งกับกลุ่มชาย-หญิง และ LGBTQIA+ นำไปพัฒนาระบบบริการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และเสริมศักยภาพพัฒนาหลักสูตรแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เพื่อผลักดันให้สถานประกอบการที่สนใจบรรจุเป็นระเบียบขององค์กร โดยจะนำเนื้อหา และกระบวนการเริ่มทดลองใช้กับเจ้าหน้าที่ และภาคี สสส. เป็นต้นแบบของหลักสูตร
โดย สสส. สานพลังกับภาคีเครือข่ายเพื่อประกาศเจตนารมณ์ ‘ร่วมสร้างสังคมปลอดจากการคุกคามทางเพศ’ อย่างเป็นทางการที่ผ่านมาได้มีการร่วมทำเวิร์กช็อป รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อสถานการณ์การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน โดยพบประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในสถานการณ์ปัจจุบันคือ การคุกคามทางเพศนั้นเกิดขึ้นได้กับทั้งทุกเพศ ไม่เพียงเพศหญิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเพศชาย หรือแม้แต่ LGBTQIA+
คุณภูเบศร์ ปานเพ็ชร์ ผู้ชำนาญการด้านสุขภาพจิตและความหลากหลายทางเพศ มูลนิธิเอ็มพลัส (M Plus) ซึ่งมีประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์นี้ว่าเป็นเหมือนภัยเงียบที่กัดกร่อนความรู้สึกจากการทำงานได้เช่นกัน ขณะเดียวกันก็สร้างความรู้สึกเป็นกังวลใจ ความไม่ปลอดภัย และลดทอนศักดิ์ศรีลงได้ด้วย ที่ผ่านมาคุณภูเบศร์มักถูกคุกคามทางกาย ผ่านการสัมผัสร่างกายโดยไม่ยินยอมและรู้สึกอึดอัดใจ โดยเชื่อว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เป็นผู้หลากหลายทางเพศด้วย ซึ่งหากคุกคามทางเพศ หรือได้รับการปฏิบัติต่อในรูปแบบที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ แนวทางที่คุณภูเบศร์เลือกใช้วิธีเพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าคือการแสดงออกแบบสันติ เช่นการส่งข้อความเพื่อบอกกล่าวเป็นการส่วนตัวในท่าทีที่เป็นมิตร เป็นต้น แต่เชื่อว่าหากมีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องนี้ หรือมีระเบียบปฏิบัติทางสังคม ก็จะทำให้สังคมเริ่มตระหนักรู้มากขึ้น และช่วยป้องกันการคุกคามหรือล่วงละเมิดในรูปแบบที่รุนแรงขึ้นได้
ทั้งนี้การประกาศเจตนารมณ์ ‘ร่วมสร้างสังคมปลอดจากการคุกคามทางเพศ’ ของ สสส.และภาคีเครือข่าย พร้อมเดินร่วมกันในระดับองค์กรในครั้งนี้ สสส. ได้ประกาศเจตนารมณ์ใน 4 แนวทาง ได้แก่ 1) บริหาร และปฏิบัติงานบนความเสมอภาค เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2) สร้างวัฒนธรรมองค์กร ปลูกฝังค่านิยมที่ดี 3) สร้างสภาพแวดล้อม ส่งเสริมความปลอดภัยในองค์กร 4) มีกลไกและกระบวนการในการป้องกันการคุกคามทางเพศ โดยการยกระดับการป้องกันการคุกคามทางเพศที่เข้มข้นขึ้นด้วยมาตรฐานสากล สนับสนุนการตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนภายนอกคุ้มครองเหยื่อ, มีแนวทางปฏิบัติการรักษาความลับ และการจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากร ทั้งนี้ สสส. พร้อมขยายผลและขับเคลื่อนต่อไปยังภาคีเครือข่าย รวมถึงวางแนวทางสำหรับหน่วยงานอื่นๆ ต่อไปอีกด้วย