เด็ก ป.เตรียมรุ่นผมรู้จัก “อีจู้” สุ่มจับปลาแบบหนึ่ง จากหนังสือแบบเรียนเร็วใหม่ พูดเล่นกันรื่นปาก ป้ากะปู่ กู้อีจู้ ป้าไม่อยู่ ปู่ชักว่าว แค่รู้จัก แต่ไม่เคยใช้

เจอชื่อ โฉเฉ...ในหนังสือ กับดักวิถี (พรศิริ บูรณเขตต์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี พิษณุโลก ศิลปวัฒนธรรม พิมพ์ พ.ศ.2550) โอ้! ฟังกิ๊บเก๋นัก แต่มันอะไรกันหนา!

ดูภาพประกอบ...เครื่องมือจับปลา ต่างจากอีจู้ ที่ป้าใช้สุ่มครอบจับปลา...แต่โฉเฉ ป้าใช้ช้อนปลา

ความลับ รู้กันสองคนนะครับ อย่าบอกใคร...ช้อนเฉพาะปลาใหญ่

เอ! แล้วทำไมต้องปลาใหญ่ ปลาเล็กช้อนไม่ได้กระไรหรือ?

โฉเฉสานจากผิวไผ่ คล้ายสานชะลอม แต่สานด้านบนเป็นคอคอดคล้ายคอขวด ที่ปากคอขวดเป็นขดไม้ที่ใช้หวายรัด หวายที่รัดเมื่อโดนน้ำจะยิ่งรัดแน่น

ชาวบ้านเลือกใช้โฉเฉ ในสถานการณ์ทางเลือก จะใช้ช่วงหน้าแล้งหรือหน้าฝนก็ได้ แต่ต้องใช้ยามที่ปลามีปัญหา ช่วงปรับตัวกับสภาพแวดล้อม และใช้เมื่อคนสร้างสถานการณ์จับปลา

ช่วงหน้าแล้งราวเดือนเมษาถึงมิถุนา ก็เดือนนี้ล่ะครับ น้ำจะลดงวด หนองบึงมีหญ้ารก ชาวบ้านจะฟันหญ้าให้เป็นวงกว้างราวๆ 6-8 เมตร นำหญ้าขึ้นมากองตามขอบ ใช้เท้าเหยียบย่ำให้แน่น ปลาจะอยู่ภายในวงหญ้า

แล้วก็ถึงเวลาใช้โฉเฉช้อนปลา บางคนไม่อยากก้มบ่อยๆจะเสริมด้ามไม้ใช้ช้อนสะดวกมือขึ้น

ปลาที่เป็นเป้าหมาย มักเป็นปลาค้าว ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ปลาดุก ปลาช่อน ฯลฯ

ความจริงมีเครื่องมือจับปลาอีกหลายชนิด ในสภาพการณ์นี้ แต่ทำไมชาวบ้านเลือกใช้โฉเฉ คำถามนี้มีคำตอบว่า ถ้าใช้สุ่ม คือการครอบแล้วใช้มือควาน แต่บ่อยครั้งที่ควานสุ่มแล้วได้งูเห่า

การใช้โฉเฉ จึงปลอดภัยกว่าการใช้สุ่ม

อีกประการ หากใช้เครื่องมือยาวๆ เช่น เหล็กแหลมแทงปลา อย่างฉมวก หรือกรบก็สะดวก แต่ได้ปลามีแผลเต็มตัว หรือได้ปลาตาย ต้องรีบทำกิน หากใช้กรบแทงปลาขนาดใหญ่ ก็ต้องออกแรงมากกว่า

...

หรือจะใช้ตาข่าย ใช้สวิงช้อน สภาพการณ์ในแอ่งหญ้าฟันใหม่ๆ มักทำให้ข่ายหรือสวิงขาดบ่อยๆ

กระทั้งอีโหง ที่ใกล้เคียงโฉเฉ ก็ยังไม่น่าใช้ อีโหงสานตาถี่ จับช้อนส่ายไปในน้ำจนปลามึน ได้ทั้งปลาเล็กปลาใหญ่ ต่างจากโฉเฉที่สานตาช่องใหญ่จะต้านน้ำน้อยกว่าถึงตัวปลาได้เร็ว ชาวบ้านบอกปลายังไม่ทันรับแรงกระเพื่อมของน้ำ ก็ถูกช้อนตัวแล้ว

คำตอบสุดท้าย โฉเฉลงตัวกับการใช้ช้อนปลาใหญ่ ด้วยประการฉะนี้

โฉเฉใช้ต่อเนื่องจากฤดูแล้งไปฤดูฝน โดยคนไม่ต้องสร้างสถานการณ์ดักจับ ที่ใช้ได้เลย เพราะปลาต้องปรับตัวให้เข้ากับฤดูฝน ปลายมิถุนาต้นกรกฎาฝนเริ่มตก น้ำท่วมหญ้าตายน้ำเน่า น้ำจึงขุ่นฝ้า

ชาวบ้านเรียกอาการนี้ว่า น้ำเน่าต้นฝน สังเกตปลาจะลอยหัวขึ้นหายใจ สถานการณ์นี้ใช้โฉเฉได้ผลเต็มที่

ถ้าเป็นการช้อนปลาในแหล่งน้ำที่ลึก...มักพายเรือสวนปลา ใช้โฉเฉมีด้าม บางคนพัฒนาเครื่องมือ เจาะก้นโฉเฉเอาตาข่ายทรงกรวยสวมไว้ เมื่อช้อนปลาได้ ปลาจะไปอยู่ในตาข่าย

หมดช่วงปลาปรับตัวกับน้ำต้นฤดู เครื่องมืออย่างอื่นจะถูกนำมาใช้ จนกว่าฤดูกาลเมื่อแล้งเมื่อต้นฝน โฉเฉจึงจะถูกหยิบมาใช้อีก

ผมฟังข่าวความซับซ้อนของการเมือง มีบางเสียงพูดถึง กับดัก ประชาธิปไตย ทำให้คิดได้ทำนองว่า สถานการณ์ที่สองผู้นำกำลังจนมุม...เป็นแผนการที่มีคนวางไว้

อือ! หรือจะจริงอย่างเขาว่า...นี่มันถึงเวลา น้ำเน่าต้นฝน ปลาใหญ่เมาน้ำวิ่งเข้าโฉเฉเอง.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม