ปีการศึกษาใหม่พุทธศักราช 2567 ของ “การศึกษาเด็กไทย” เริ่มขึ้นมาแล้วระยะหนึ่ง เป็นความสุขของเด็กที่จะได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนตามระดับชั้นเรียนของตนเอง อีกทั้งยังเป็นความหวังของผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานของตนเองได้มีโอกาสทางการศึกษา

จึงได้ใช้ความเพียรพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้เรียนหนังสือในสถานที่ที่ตนเองคาดหวัง ได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้เกิดแต่สิ่งที่ดีกับสมาชิกในครอบครัว เราจึงมองเห็นได้เลยว่าอนาคตเด็กไทยในการศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่ผู้ปกครองจะเป็นผู้กำหนด หรือนำทางชี้ทางสว่างไสวให้กับพวกเขา

และ...ไม่มีคำว่า “สาย” สำหรับการศึกษาทุกชีวิตของมนุษย์เรา เพราะการศึกษาเท่านั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทั้งปวง

“เด็ก”...แต่ละคนเมื่อเกิดขึ้นมาก็ควรได้รับการศึกษา ได้รับการแนะนำพร่ำสอน ได้รับการฝึกอบรมบ่มนิสัยพัฒนาจิตใจ ได้รับการชี้แนะว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดไม่ถูก สิ่งใดที่ควรและสิ่งใดที่ไม่ควร ได้รับการตักเตือนว่าอะไรดีอะไรชั่ว รวมถึงได้รับการวางแผนให้มีอนาคตว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

...

พระครูจินดาสุตานุวัตร (พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก)
พระครูจินดาสุตานุวัตร (พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก)

สำหรับเด็กที่มีความพร้อมทางครอบครัวไม่ว่าจะเป็นฐานะทางเศรษฐกิจก็ดี ฐานะทางสังคมก็ดี ฐานะทางการดำรงชีพที่พร้อมไปด้วยปัจจัยสี่คืออาหารที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตก็อุดมสมบูรณ์ ที่อยู่อาศัยก็อยู่เป็นหลักแหล่งมีความพร้อมและความสะดวกสบาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่บริบูรณ์

“เครื่องนุ่งห่มกันร้อนกันหนาวให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายก็พร้อมเพรียง เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่สบายก็ได้รับการรักษาให้กลับคืนมาสู่ความเป็นปกติได้อย่างทันท่วงที ฐานะแห่งความสุขคือภายในครอบครัวต่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักและความอบอุ่น ปราศจากความเดือดเนื้อร้อนใจใดๆทั้งสิ้น”

พระครูจินดาสุตานุวัตร (พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก) ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. บอกว่า กรณีเช่นนี้ย่อมไม่มีความเป็นห่วงใดๆว่าอนาคตของเด็กจะเป็นไปในทิศทางใด

แต่ในทางตรงกันข้ามกับเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจนขัดสน ขาดปัจจัยสี่เพื่อการดำรงชีพ เกิดมาในครอบครัวที่พบเห็นแต่ความขัดแข้ง สับสน วุ่นวาย ภายในครอบครัวก็ขาดความรักและความอบอุ่น

ยิ่งร้ายไปกว่านั้นเด็กบางคนเกิดมาต้องกลายเป็น “เด็กกำพร้า” ด้วยสาเหตุต่างๆนานาจนกลายเป็นเด็กที่จะ “ไร้อนาคต” จึงมีความเป็นห่วงว่าอนาคตของพวกเขาที่เป็นเช่นนี้จะเป็นไปในทิศทางใด

“พอจะมีความหวังกันบ้างหรือไม่ หรือจะมีแต่อนาคตที่มืดมนขาดผู้รู้ใจไร้ผู้เหลียวแลจนพวกเขารู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มีความหวังเอาเสียเลย”

เด็กไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของสังคม จำเป็นต้องมีโอกาสทางการศึกษา ต้องมีโอกาสทางสังคม ต้องได้รับการดูแลกันอย่างทั่วถึง นอกจากสมาชิกในครอบครัวดูแลกันเองแล้ว หน่วยงานทางสังคมและทางราชการจะต้องยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือตามบทบาทและหน้าที่จนกลายเป็นการ “บูรณาการ”

ร่วมด้วยช่วยกันได้อย่างสมบูรณ์ จึงจะเป็นการดูแลเด็กให้เติบโตขึ้นมาอยู่ในสังคมอย่างดีและมีคุณภาพ แต่ถ้าการช่วยเหลือและดูแลเด็กเป็นเพียงคนใดคนหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนใดส่วนหนึ่งแล้ว โอกาสที่เด็กจะเจริญเติบโตขึ้นมาอย่างดีและมีคุณภาพก็คงจะเป็นไปได้ยาก

...

นั่นเป็นเพราะสังคมเราจะมีความสามารถหรือเก่งเพียงคนใดคนหนึ่งหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็เป็นไปได้ยาก...“มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนแต่ละฝ่าย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่ระยะสั้นก็ระยะยาว ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง” อยู่ดี

“สถานศึกษา” ก็ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาเด็ก สถานศึกษาที่มีบุคลากรพร้อม มีบุคลากรที่ดีมีคุณภาพ รักอาชีพของความเป็นครูมีเกียรติมีศักดิ์ศรีของบุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษามีความพร้อมทั้งสถานที่และอาคารเรียน มีบรรยากาศที่โน้มน้าวให้เด็กรักการเรียนชอบที่จะไปโรงเรียน

“อุปกรณ์การเรียนการสอนมีพร้อมเพรียง เพื่อนๆที่มาเรียนหนังสือต่างมีนิสัยใจคอที่ดี มีมารยาทที่ดี มีจิตใจที่โอบอ้อมอารี ทั้งหมดย่อมเป็นพื้นฐานให้เด็กรักเรียนและพร้อมที่จะเรียน”

จึงกลายเป็น “ความสุข” ของเด็กที่จะได้เรียนหนังสือในสถานศึกษา จะได้มีความรู้ความเข้าใจและความสามารถในการเรียนรู้พร้อมที่จะกลายเป็น “วิชา” เป็นอาวุธประจำชีวิตต่อไปในภายภาคหน้า

...

ดังนั้น ผู้ปกครองจึงต้องแสวงหาสถานศึกษาที่คิดว่า “ดีที่สุด” ให้กับบุตรหลานของตนเอง อีกเช่นเดียวกันสถานศึกษาจะมีมาตรฐานดีเพียงใดก็ตามถ้าผู้เรียนไม่มีความพร้อมไม่มีความสุขแล้วก็อย่าหวังเลยว่าสถานที่แห่งนั้น “จะเป็นสวรรค์” ของพวกเขา

ถึงตรงนี้ขอกล่าวว่า “มูลนิธิกลุ่มแสงเทียน” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นทางเลือกและทางออกให้กับเด็กด้อยโอกาสในสังคมทั้งในชุมชนเมืองคือชุมชนแออัดและเด็กในชนบทห่างไกลความเจริญ รวมถึงเด็กกำพร้า เด็กขาดผู้อุปการะ เด็กขาดผู้ฝึกอบรมบ่มนิสัย เด็กที่มีความจำเป็นในด้านต่างๆภายในครอบครัว

...ได้จัดกิจกรรมตามโครงการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กๆเหล่านั้น โดยจัดกิจกรรม “ให้การศึกษานอกระบบ” ให้กับเด็กๆมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2527 จนถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่จัดโครงการอบรมธรรมะวันหยุด จัดโครงการเด็กอ่อนก่อนสาย จัดโครงการบ้านเด็กหรรษา จัดโครงการมอบทุนการศึกษาให้เด็กยากจนในชุมชนแออัดให้เด็กยากจนในชนบท จัดโครงการอาหารกลางวันเด็ก จัดโครงการค่ายเยาวชนคนกตัญญู จัดโครงการอบรมธรรมะภาคฤดูร้อน

จัดโครงการวันรวมน้ำใจ สู่ เด็กไทยในชุมชนแออัด จัดโครงการความรู้ สู่ เด็กชนบท (ค่ายอาสาพัฒนาชนบท) จัดโครงการมอบเครื่องกีฬา เสื้อผ้า ให้เด็กในชนบท จัดโครงการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

นับรวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ได้รับความเดือดร้อนเป็นรายบุคคลหรือหมู่คณะ จัดโครงการพระธรรมนำชีวิตและจัดโครงการ “สร้างบ้านให้เด็กยากจน”

...

เหล่านี้เป็นกิจกรรมและโครงการที่ดำเนินงานมาตลอด 40 ปีเต็ม ได้เคยให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยสี่ ด้านการฝึกอบรมบ่มนิสัยพัฒนาจิตใจและด้านการศึกษาเด็ก รวมถึงประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยากให้ได้มีอนาคตที่สดใสมีความสุขมีความหวังไปแล้ว 103,414 คน

พระครูจินดาสุตานุวัตร ย้ำว่า อนาคตของเด็กไทยทุกด้านจึงอยู่ที่ผู้ใหญ่จะเป็นผู้กำหนด อนาคตของเด็กด้อยโอกาสในสังคมก็อยู่ที่หน่วยงานต่างๆ องค์กรต่างๆ ในสังคมจะยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะจะอาศัยภาครัฐเพียงอย่างเดียวคงเป็นไปได้ยาก

จึงจำเป็นต้องอาศัยตัวบุคคล องค์กรทางสังคมเป็นอย่างมาก ยิ่งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทุกวันนี้บุคคลและองค์กรสามารถช่วยเหลือชาวบ้านแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที จนกลายเป็น “ข่าวแก้ปัญหารายวัน” ให้ผู้คนได้ทราบกันมาโดยตลอด

“เราอยากจะเห็นอนาคตของสังคมเราเป็นเช่นใดก็ขอให้ทุ่มเทสร้างสรรค์และพัฒนาร่วมกันตั้งแต่วันนี้ ช่วยกันทำคนละบทบาทและคนละหน้าที่ให้เติมเต็ม อย่านิ่งดูดาย อย่าคิดว่ามิใช่เรื่องของตนเองและบทบาทของตนเอง อย่างน้อยๆก็ทำให้บุตรหลานของเราได้เห็นเป็นตัวอย่าง”.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม