KFC จับมือ กสศ. นำร่องสร้างหลักสูตรการเรียนยืดหยุ่น หลังพบข้อมูลเด็กไทย 1.02 ล้านคน หลุดจากระบบ ตั้งเป้าหมาย Zero Dropout ภายในปี 2570

เป็นเรื่องที่น่าตกใจ เปิดเทอมใหม่ปีนี้ พบว่ามีเด็กและเยาวชนไทยจำนวนไม่น้อยหมดโอกาสกลับเข้าห้องเรียนเหมือนคนอื่นๆ และต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา ตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 6 สูงสุดถึง 1.02 ล้านคน โดย 10 จังหวัดที่มีจำนวนเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาสูงสุด ได้แก่

1. กรุงเทพมหานคร จำนวน 137,704 คน

2. ตาก จำนวน 65,371 คน

3. เชียงใหม่ จำนวน 36,888 คน

4. ชลบุรี จำนวน 35,081 คน

5. สมุทรปราการ จำนวน 30,772 คน

6. นครราชสีมา จำนวน 28,896 คน

7. สมุทรสาคร จำนวน 28,435 คน

8. ปทุมธานี จำนวน 26,104 คน

9. เชียงราย จำนวน 24,081 คน

10. สงขลา จำนวน 23,681 คน

...

จากการวิเคราะห์จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาจำแนกตามสาเหตุของการออกนอกระบบการศึกษา พบว่ามีสาเหตุมาจากความยากจนมากที่สุด (ร้อยละ 46.70) รองลงมาคือ มีปัญหาครอบครัว (ร้อยละ 16.14) ออกกลางคัน/ถูกผลักออก (ร้อยละ 12.03) ไม่ได้รับสวัสติการต้นการศึกษา (ร้อยละ 8.88) ปัญหาสุขภาพ (ร้อยละ 5.91) อยู่ในกระบวนการยุติธรรม (ร้อยละ 4.93) และได้รับความรุนแรง (ร้อยละ 3.63)

เมื่อวิเคราะห์สาเหตุอื่นๆ ของการออกกลางคันจากการตอบคำถามปลายเปิดจากจำนวนคำตอบทั้งสิ้น 5,270 พบว่าเหตุผลที่ปรากฏบ่อย ได้แก่ ไม่อยากเรียน ต้องการทำงาน ตั้งครรภ์ในวัยเรียน มีครอบครัว ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชน พิการ ยาเสพติด ฯลฯ

จากข้อมูลดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ติดตามนำเด็กที่ต้องเลิกเรียนกลางคันกลับเข้าสู่การศึกษายืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตยุคปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้าหมายว่า ประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย Zero Dropout ภายในปี 2570

ด้วยเหตุนี้ เคเอฟซี ประเทศไทย จึงร่วมกับ กสศ. และศูนย์การเรียนปัญญากัลป์ เดินหน้าสานต่อโครงการ KFC Bucket Search เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยมอบโอกาสให้เด็กได้เลือกการเรียนที่เหมาะสมกับตนเองแบบยืดหยุ่น ทั้งด้านเวลาและวิชาเรียน ผ่านทางเลือก Work & Study หรือหลักสูตรวิชาชีพที่ตอบสนองความต้องการของแต่ละคน ช่วยให้พวกเขาสำเร็จการศึกษาและพึ่งพาตนเองได้

พร้อมเปิดตัวห้องเรียนเคเอฟซี และสร้างหลักสูตรนอกกรอบ หรือ "หลักสูตรทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ" เพื่อปลดล็อกกำแพงต้นทุนชีวิตให้กับเด็กไทย โดยเป็นการนำร่องการศึกษายืดหยุ่นที่เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านการทำงานและเรียนไปพร้อมกัน เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการทำงานกับเคเอฟซี รวมถึงได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการ ตั้งแต่งานหลังร้านไปจนถึงงานบริการ ตัวอย่างวิชาเรียน เช่น ด้วยใจรักนักบริการ ที่จะเรียนรู้เรื่องของงานบริการในร้านอาหาร รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ หรือวิชาจักรวาลภาษาในโลกธุรกิจเพื่อให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษเบื้องต้นในการทำงาน และที่พิเศษอีกวิชาของเคเอฟซีคือ ตัวตึงวงการอาหาร และปรมาจารย์ด้านการครัว ที่จะทำให้เข้าใจมาตรฐานการทำสินค้าให้อร่อยถูกสุขลักษณะในทุกคำ

...

คุณภัทรา ภัทรสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบริหารแบรนด์เคเอฟซี บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง "การศึกษายืดหยุ่น" เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์อย่างมาก สามารถสร้างโอกาสที่มากขึ้นให้กับเด็กทุกคนได้ และด้วยโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทางเลือกการศึกษาจึงไม่ได้มีแค่ทางเดินทางเดียว หรือแค่การศึกษาในระบบ แต่ยังมีทางเลือกเพิ่มเติมที่ปรับให้เหมาะกับการใช้ชีวิตของแต่ละคน หรือการใช้ประสบการณ์จริงในการทำงาน นี่เป็นทางเลือกหนึ่งที่เปิดกว้างให้เด็กๆ ได้เข้ามาเพิ่มศักยภาพ

เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เคเอฟซีจึงริเริ่มหลักสูตร KFC ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ โดยเป็นเอกชนแบรนด์แรกในการนำร่องการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น และมีเด็กเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาหลักสูตร เพื่อมอบโอกาสให้เด็กได้เลือกเรียนตามความสนใจและความเหมาะสมของตัวเด็กเอง

สำหรับโครงการ KFC Bucket Search เป็นหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการทำงานจริง พร้อมทั้งได้รับความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในปัจจุบันและอนาคต โครงการนี้สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นต้นแบบให้ภาคเอกชนอื่นๆ ที่มีวิสัยทัศน์คล้ายคลึงกันสามารถเข้ามาร่วมแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาด้วยกันได้ โดยได้วางเป้าหมายที่จะขยายผลโครงการเพื่อมอบโอกาสให้เด็กที่หลุดออกจากระบบในพื้นที่ 40 จังหวัดทั่วไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ช่วยให้เด็กๆ ได้นำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาต่อยอดอาชีพการงาน สร้างรายได้เลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศด้วย

...

นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เปิดเผยว่า การกำหนดเป้าหมายชีวิตของคนเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นการศึกษายืดหยุ่น ตัวของเด็กเองจะต้องมีเป้าหมายชีวิต ส่วนราชการ และหน่วยงานต่างๆ ก็ต้องให้โอกาส และให้ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจด้วย 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาควบคู่กับการทำงานให้แก่เด็กนอกระบบ เป็นหนึ่งในมาตรการหลักของ Thailand Zero Dropout เนื่องจากภาคเอกชนมีความสามารถที่เข้มแข็งกว่าภาครัฐในการเชื่อมโยงระหว่างโลกของการศึกษากับโลกของการทำงาน 

จากการวิจัยสำรวจของ กสศ. ในกลุ่มเด็กนอกระบบ 35,003 คน ทั่วประเทศ พบว่า เด็กประมาณร้อยละ 50 มีความต้องการได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพและสนับสนุนการประกอบอาชีพที่โดดเด่นขึ้นมา แสดงถึงแรงจูงใจภายในที่เห็นความสำคัญของการประกอบอาชีพมากกว่ามุ่งเป้าหมายไปที่การได้รับการศึกษาแต่ไม่ตอบโจทย์ชีวิต 

ดังนั้น หลักสูตรการศึกษาใหม่ที่ KFC ได้ร่วมพัฒนาขึ้น จึงถือเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิต รวมถึงเป็นรูปธรรมสำหรับครูในโลกยุคใหม่ ทำให้ทุกคนที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ สามารถเป็นครู เป็นผู้สร้างการเรียนรู้ และช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้

...

ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มเด็กเกิดใหม่น้อยลง จำนวนแรงงานลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นถ้าเราไม่ทำเรื่องการศึกษายืดหยุ่นในวันนี้ ในอนาคตข้างหน้าจะมีจำนวนคนให้เราพัฒนาน้อยลงเรื่อยๆ และเด็กที่หลุดออกจากการศึกษาในวันนี้ก็จะเข้าสู่กำลังแรงงานที่มีโอกาสน้อยมากจะหลุดออกจากความยากจน 

ถ้าประเทศไทยสามารถยุติปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จนกระทั่งทำให้จำนวนเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษากลายเป็นศูนย์ได้ (Zero Dropout) จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 1.7 ของ GDP เนื่องจากรายได้ตลอดชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นของเด็กและเยาวชนที่มีการศึกษาสูงขึ้น

ในช่วงเริ่มต้นดำเนินโครงการ KFC Bucket Search ปี 2566 มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 130 คนที่ได้มีโอกาสกลับเข้าสู่สังคมโดยมีทางเลือกที่เริ่มจากตัวเยาวชน ซึ่งช่วยให้เยาวชนสามารถเข้าเรียนตามเงื่อนไขชีวิต และที่สำคัญสามารถเรียนตามความสนใจและถนัดของตนเองได้

ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กสศ. และเคเอฟซี ได้ตั้งเป้ายกระดับชีวิตของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวน 300 คน ภายในปี 2567 ผ่านการจุดประกายความหวังด้านการศึกษา และเปิดประตูสู่อาชีพที่ดีในอนาคต ภายใต้แนวคิดที่ว่า "ทุกศักยภาพไม่ควรถูกทอดทิ้ง"