นางประเทือง วาจรัต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) เผยว่า ถั่วลิสงถือเป็นพืชทางเลือกมีศักยภาพที่มีโอกาสทางการตลาด สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

เราพบว่ากลุ่มเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการปลูกถั่วลิสง อย่างกลุ่มแปลงใหญ่ถั่วลิสง หมู่ 6,11 ต.กู่จาน อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร มีพื้นที่ปลูกรวม 585 ไร่ สมาชิก 95 ราย ได้ผลผลิตรวมปีละ 142 ตัน ขายได้ราคาเฉลี่ยที่ กก.ละ 35 บาท ทำให้ทั้งกลุ่มมีรายได้รวมกันแล้วเกือบ 5 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วมีรายได้ไร่ละ 8,495 บาท หรือ คนละ 52,315 บาท

กลุ่มแปลงใหญ่ถั่วลิสง หมู่ 7,13 ต.กุดน้ำใส อ.ค้อวัง จ.ยโสธร ที่มีพื้นที่ปลูกรวม 400 ไร่ สมาชิก 50 ราย ได้ผลผลิตรวม 98 ตัน นี่ก็เช่นกัน ราคาขายถั่วลิสงสดทั้งเปลือกเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 35 บาท ทำให้ทั้งกลุ่มมีรายได้ปีละ 3.43 ล้านบาท เมื่อคิดเฉลี่ยแล้วทำให้สมาชิกแต่ละคนมีรายได้จากการปลูกถั่วลิสงคนละ 68,600 บาทต่อปี หรือไร่ละ 8,575 บาท

...

ผอ.สศท.11 ยังได้เผยถึงสถานการณ์การผลิตถั่วลิสง รุ่น 1 และรุ่น 2 ของพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร) พบว่า ปี 2566 มีพื้นที่ปลูกรวม 3,961 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 141 ไร่ หรือร้อยละ 3.69 เนื่องจากเกษตรกรเริ่มมีความชำนาญในการปลูกถั่วลิสงมากขึ้น การดูแลไม่ยากนัก ประกอบกับราคารับซื้อค่อนข้างดี และมีตลาดรองรับผลผลิต ส่งผลให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ในการปลูก

และได้ผลผลิตรวม 1,006 ตัน/ปี เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 38 ตัน หรือ ร้อยละ 3.90 และได้ผลผลิตถั่วลิสงทั้งเปลือกเฉลี่ยไร่ละ 261 กิโลกรัม จากเดิมที่ได้เพียง 252 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.56 เนื่องจากการดูแลเอาใจใส่ที่ดีของเกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดให้การสนับสนุน ประกอบกับถั่วลิสงมีความสมบูรณ์ดี ส่งผลให้ผลผลิตรวมและผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

การปลูกถั่วลิสงในแต่ละปีเกษตรกรจะทำการเพาะปลูก 2 รุ่น คือ รุ่น 1 ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน ปลูกช่วงพฤษภาคม-ตุลาคม เก็บเกี่ยวช่วงกรกฎาคม-มกราคม และถั่วลิสง รุ่น 2 ฤดูแล้ง ปลูกช่วงพฤศจิกายน-เมษายน เก็บเกี่ยวช่วงมกราคม-มิถุนายน โดยระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 90-120 วัน

ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 65 จำหน่ายให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ถั่วลิสงคั่วทราย ถั่วกรอบแก้ว ขนมถั่วตัด เป็นต้น และผลผลิตร้อยละ 30 จำหน่ายในรูปของถั่วลิสงสดให้กับพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น เพื่อนำไปส่งต่อยังตลาดกลางภายในจังหวัด ผลผลิตอีกร้อยละ 5 เกษตรกรจะตากแห้งเก็บไว้ เพื่อทำพันธุ์.

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม