ประกาศ คสช.ฉบับที่ 4/2559 กำหนดให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงผังเมืองรวมทุกฉบับในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สำหรับโรงงานลำดับที่ 101, 105 และ 106 คือสามารถตั้งได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้โรงงานบางแห่งสามารถตั้งอยู่ได้ทั้งในพื้นที่สีเขียวที่เป็นแหล่งเกษตรกรรมหรือใกล้แหล่งน้ำชุมชน
โรงงานประเภท 106 คือโรงงานประเภทรีไซเคิลของเสียอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะประเภทรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ และโรงงานแปรรูปน้ำมันใช้แล้วก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนมากที่สุด แต่โรงงานเหล่านี้เกิดขึ้นง่ายดายมาก ตั้งที่ไหนก็ได้ไม่ต้องอิงผังเมือง
ทำรายงาน ESA ตามแบบฟอร์มของกรมโรงงานและติดประกาศให้ทราบ
คำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวง ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ได้แก่ประเภทที่ (5) กิจการโรงงานลำดับที่ 101 : โรงงานปรับปรุงคุณภาพของเสียรวม เช่น โรงบำบัดน้ำเสีย เตาเผาขยะ
(6) กิจการโรงงานลำดับที่ 105 โรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูล วัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เช่น หลุมฝังกลบขยะ (7) กิจการโรงงานลำดับที่ 106 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงาน มาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม
...
เมื่อจะมาตั้งโรงงานก็จ้างที่ปรึกษาทำ ESA หรือทำรายงานประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย และให้อุตสาหกรรมจังหวัดทำการปิดประกาศให้ประชาชนทราบว่าจะมีโรงงานมาตั้งภายใน 30 วัน เช่น หน้าสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ที่ทำการชุมชน ที่ทำการอำเภอ เป็นต้น
หากไม่มีใครคัดค้านก็นำเสนอออกใบอนุญาตได้...เรื่องเหล่านี้ราชการอ้าง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกต้องการให้เร็วไม่ต้องทำประชา พิจารณ์ กระบวนการส่วนใหญ่ประชาชนไม่ทราบข้อมูลจึงไม่มีการคัดค้านจนกระทั่งมาตั้งใกล้บ้านตนแล้ว
ประเด็นสำคัญมีว่า...โรงงานประเภท 105 (คัดแยกของเสีย) และประเภท 106 จึงตั้งได้ไม่ยากและใกล้ชุมชน ก่อให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว เช่น ที่ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา น้ำในคลอง มีสีแดง มีโลหะหนัก และมีสภาพเป็นกรด มีโรงงาน 106 ของจีน 2 แห่งมาตั้งติดชุมชน 200 เมตร
เชื่อมโยงไปถึงประเด็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโรงงานก็มีจำนวนน้อยไม่เพียงพอและตรวจสอบไม่ทั่วถึง และที่สำคัญคือ ไม่ได้มีการตั้งเครือข่ายร่วมกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อช่วยในการตรวจสอบเฝ้าระวัง
จึงไม่มีตาสับปะรดที่จะคอยช่วยเหลือราชการเหมือนในต่างประเทศ
“เมื่อพบปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมหรือเกิดการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานเองไม่มีแหล่งเงินทุนเพื่อฟื้นฟูหรือแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ทำให้มลพิษแพร่กระจาย
หากจะไปขอยืมเงินจากกองทุนสิ่งแวดล้อมของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก็ใช้เวลาในการพิจารณานานเกินไป ไม่สะดวกในการนำมาใช้”
อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ย้ำว่า กฎหมายออกแล้วนำไปสู่การปฏิบัติ ถ้าหากว่าผังเมืองในจังหวัดนั้นยังไม่มีการแก้ไข ยังสามารถใช้ได้ต่อไป ก็เลยมีโรงงานเหล่านี้มาตั้งเยอะแยะ ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง อยู่ในพื้นที่อีซีซี ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ฯลฯ
เพราะใกล้แหล่งวัตถุดิบนำออกไปได้...ในวันวานวันที่ 1 มกราคม 2551 ประเทศจีนลดการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ เพื่อกำจัดหรือรีไซเคิล และหยุดทั้งหมดภายในวันที่ 1 มกราคม 2564 ทำให้โรงงานกำจัดคัดแยก และรีไซเคิลจากประเทศจีนที่มีประสิทธิภาพต่ำประมาณ 80% หลั่งไหลเข้ามาขอตั้งในประเทศไทย
...
ซึ่งตั้งได้ค่อนข้างง่ายตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 4/2559
วันนี้มีโรงงานที่ว่านี้ 2,500 แห่งทั่วประเทศ ตั้งกระจุกอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง เช่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรสาคร สมุทรปราการ เพราะใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมทรัพยากรมีมาก อีกทั้งยังใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ส่งออกง่าย
โรงงานประเภทคัดแยกและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมอันตราย เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า กากโลหะทั้งสังกะสี ทองแดง แคดเมียม อะลูมิเนียม 80% จะเป็นโรงงานที่เคลื่อนย้ายมาจากประเทศจีน จากข้อมูลพบว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1 ตัน สกัดได้ทองคำหนักถึง 6 บาท จึงเป็นที่สนใจของโรงงานสีเทาจำนวนมาก
แน่นอนว่าในอีกมุมหนึ่งก็สร้างปัญหาอยู่ไม่น้อย เพราะบางแห่งเป็นจุดเกิดขยะพิษต่างๆ สร้างปัญหาให้กับชุมชนข้างเคียงละแวกโรงงานที่อ้าง “รีไซเคิล” ในหลายจังหวัด ฉะนั้น...คำสั่งนี้ต้องยกเลิก
ทางแก้ ทางออก ในปัญหาเรื้อรังนี้ก็ต้อง “ยกเลิกคำสั่ง” นี้ไปเลย โรงงานเหล่านี้ก็ต้องไปอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเหมือนเดิม...พื้นที่สีม่วง ส่วนโรงงานที่มีอยู่แล้วก็ไม่ต้องต่ออายุ โรงงานก็ต้องเลิกไปเอง
“ไม่ต่อ...อยากดำเนินกิจการต่อก็ต้องย้ายไปในพื้นที่สีม่วง เพราะโรงงานเหล่านี้ต้องขออนุญาตท้องถิ่น เป็นอันตรายต่อสุขภาพตาม พ.ร.บ.โรงงาน ถ้าไม่ต่อก็อยู่ไม่ได้...เป็นอันตราย ประเด็นคือว่าทำอย่างไร ถึงจะยกเลิกคำสั่ง คสช.นี้ได้ ซึ่งรัฐบาลทำได้ ผ่านสภา”
จะเห็นว่า...โรงงานพวกนี้ไม่ส่งเสริมให้ตั้งอยู่ในพื้นที่อีซีซี แต่อยู่ใกล้ๆ เพื่อเอาวัตถุดิบจากโรงงานพื้นที่อีซีซีมาดำเนินการ ถ้าย้ายไปอยู่ใน พื้นที่อุตสาหกรรมสีม่วงแล้ว แนวทางควบคุมขั้นต่อไปก็คือออกกฎห้าม รีไซเคิลวัตถุดิบอันตรายประเภทไหน...อะไรบ้างต่อเนื่องกันไป เพื่อควบคุมดูแลให้ปลอดภัยต่อขยะอันตราย
...
“ถังขยะโลก” ย้ายมาไทยไม่กี่ปีเท่านั้น บ้านเรามีปัญหาเรื้อรังหลายเรื่องต่อเนื่อง ขยะพิษ ขยะอันตรายมากมาย เมื่อการควบคุมดูแลอย่างจริงจังไม่ทั่วถึงรัดกุม ปัญหาก็ยิ่งโผล่มาให้เห็นอยู่เรื่อยๆไม่หยุดหย่อน
บางที...เป็นโรงงานน้อยกว่า 50 แรงม้า น้อยกว่า 50 แรงคน การตรวจตราตรวจสอบก็ยิ่งไปไม่ถึง ไม่มีใครสนใจใส่ใจ แม้ว่ายังเป็นโรงงาน แต่เป็นโรงงานประเภทที่สอง เป็นช่องว่างสำคัญ
“กากพิษ...ขยะอุตสาหกรรมพอมาถึงโรงงานรีไซเคิลเสร็จแล้วเข้าระบบอุตสาหกรรมผลิตอันใหม่ขึ้นมา แต่ก็ยังมีขยะเหลืออยู่ก็ฝังเลยอย่าง คลองกิ่ว ชลบุรี...ไปทิ้งในบ่อดิน ผู้มีส่วนรับผิดชอบตรวจสอบก็เหมือนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เล็ดรอดไปได้ จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ท้องถิ่นก็ไม่ได้ดูแล ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ปัญหา”
คำถามสำคัญมีว่า...ปัญหานี้ “รัฐบาล” ให้ความสำคัญกี่มากน้อย?
...
ภาพสะท้อนออกมาเสมือนว่าจะไม่ค่อยให้ความสำคัญสักเท่าไหร่ จากปัญหาขยะกากพิษอุตสาหกรรมคลองกิ่ว กรณีขนกากแคดเมียม...เหมือนเหล็กร้อนที่ต้องเร่งตี ร่วมด้วยช่วยกันผลักดันแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วง ฝากรัฐบาลต้องยกเลิกด่วนที่สุด คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 4/2559 ที่สำคัญต้องปรับปรุงระบบใหม่ทั้งหมด
นอกจากนี้แล้ว...การตั้งโรงงานประเภทคัดแยกและรีไซเคิลกากอันตรายทุกประเภท ต้องทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นประชาชน และควรกำหนดให้กิจการบางประเภทหรือบางขนาดต้องทำรายงาน EIA รวมทั้งผลักดันให้โรงงานที่มีความเสี่ยงสูงให้ไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการ
“ประเทศไทย” กับกระบวนการรีไซเคิล กำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม ต้องวางแผนใหม่ ปฏิรูปทั้งระบบ ไม่อย่างนั้นจะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมาอีกเยอะแยะ.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม