ที่สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและพัฒนาทุนมนุษย์ และแลกเปลี่ยนผลการวิจัย การพัฒนาการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง Parenting Program เพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยอย่างยั่งยืน ระหว่างนักวิชาการไทย จีน สหรัฐอเมริกา

โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.กล่าวว่า ข้อมูลของประเทศไทยชี้ชัดว่า เรามีเด็กเกิดน้อยปีละ 5 แสนคน และก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันพัฒนาเด็กที่เกิดน้อยเหล่านี้เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ซึ่งงานวิจัยหลายประเทศค้นพบว่า การเตรียมพร้อมเด็กในครอบครัวจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยพัฒนาเด็กได้ ซึ่งในประเทศไทยได้มีการทดลองแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้น การเลี้ยงดูเด็กในปัจจุบันของผู้ปกครอง ต้องมีวิธีการและเป้าหมายที่ถูกต้อง ซึ่งผลสำรวจพบว่าหากเด็กต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่ ป.6 หรือ ม.3 จะทำให้มีชีวิตที่ยากลำบาก

ซึ่งประเทศไทยจะหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ ประชากรต้องมีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 4 หมื่นบาทขึ้นไป ดังนั้น จำเป็นที่เราจะต้องย้อนกลับไปพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะกลุ่มที่มาจากครอบครัวยากจน ถ้ามีการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ดีขึ้น เช่น มีการเยี่ยมบ้าน มีหลักสูตรพัฒนาพ่อแม่ในการเตรียมพร้อมดูแลลูก เด็กจะอยู่ในระบบนานขึ้น และจะประสบความสำเร็จ มีรายได้สูงขึ้น สามารถเพิ่มจีดีพีประเทศได้

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผอ.สถาบันวิจัยเพื่อประเมินและออกแบบนโยบาย ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า จากการวิจัยการพัฒนาการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ในไทย เช่น โปรแกรมสอนผู้ปกครอง การส่งทีมงานเยี่ยมครอบครัว พบว่า เด็กที่ยากจนจะได้รับประโยชน์จากแนวทางนี้มากกว่าเด็กมีฐานะที่ดีกว่าหรือเด็กที่เข้าเรียนในศูนย์เด็กเล็กแล้ว โดยเฉพาะเด็กที่ไม่มีหนังสือหรือของเล่นที่บ้านได้ประโยชน์มาก พ่อแม่ให้เวลากับลูก สามารถกระตุ้นการพัฒนาการของเด็กได้ดี.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่