เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ย่อยใหม่ล่าสุด “KP.2” ระบาดแซงหน้าไวรัสโควิดตัวปัจจุบัน JN.1 ในหลายประเทศเช่น สหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์แล้ว และอีกไม่นานคงแทนที่เชื้อไวรัส JN.1 ทั่วโลก

นักวิทยาศาสตร์ชาวแคนาดาชื่อ ศาสตราจารย์ T.Ryan Gregory เป็นผู้ที่ตั้ง “ชื่อเล่น” เชื้อไวรัสตัวใหม่ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้ว่า “FLiRT” อ่านว่า เฟลิร์ต แปลว่า “เจ้าชู้” จีบทุกคนไปทั่ว

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ บอกว่า ชื่อเล่นนี้กำลังโด่งดังไปทั่วโลก เขาตั้งชื่อนี้เพราะพบว่ามีการ

กลายพันธุ์ของกรดอะมิโนที่โปรตีนตรงส่วนหนามของเชื้อไวรัสเดิม 2 ตำแหน่ง คือที่ตำแหน่ง 456 จาก F เปลี่ยนเป็น L และที่ตำแหน่ง 346 จาก R เปลี่ยนเป็น T

เอาอักษรย่อทุกตัวมารวมกัน และใส่ i ตรงกลางเป็น “FLiRT”

“เชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อยใหม่ KP.2 นี้ยอมรับว่าเฟลิรต์น่าดู ติดคนไปทั่ว ไม่ว่าจะเคยติดเชื้อไวรัสโควิดมาแล้ว หรือฉีดวัคซีนป้องกันโควิดไม่ว่ากี่เข็มก็ตาม ติดคนจำนวนมากที่ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยติดเชื้อแม้แต่ครั้งเดียว แต่โชคดีที่นอกจากความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น กลับลดลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ”

...

คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนก ถ้าติดเชื้อตัวนี้...ก็ถือว่าเป็นการฉีดวัคซีนโควิดรุ่นใหม่ล่าสุด เพื่อกระตุ้นตัวเราเองให้มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

“คนทั่วไปที่ปกติแข็งแรงดี หากติดเชื้อ อาการไม่มาก กินยาตามอาการ เป็นเองหายเอง สำหรับคนสูงอายุ คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เมื่อทราบว่าตัวเองติดเชื้อไวรัสโควิดรีบไปพบแพทย์เร็วที่สุดเพื่อรับยาต้านไวรัส ยิ่งได้ยาเร็วยิ่งหายเร็ว” นพ.มนูญ ฝากทิ้งท้าย

วารสาร Nature Communications (27 พ.ค.67) เผยแพร่ผลการประเมินความปลอดภัยการฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 ในเด็กอายุ 5-17 ปี จำนวนกว่า 5.1 ล้านคนในประเทศอังกฤษ

วัคซีนที่ใช้มีทั้ง Astrazeneca, Pfizer และ Moderna ผลการประเมินพบว่า มีความปลอดภัยผล ข้างเคียงรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นน้อยมาก และจะเห็นได้ว่าปัญหาภาวะรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นมีมากกว่าที่เกิดจากการรับวัคซีนอย่างชัดเจน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” เสริมอีกว่า โควิด-19 ในรัฐ New South Wales ออสเตรเลีย ตอนนี้ KP.2 และ KP.3 รวมกันเป็นสัดส่วนมากกว่า JN.1 ไปแล้ว

“JN.1” อัปเดตสถานะของ JN.1 จะพบว่า แตกหน่อต่อยอด มีลูกหลานไปแล้วเกือบ 100 สายพันธุ์ย่อย ตัวที่ได้รับการจับตามองมาตลอดคือ KP.2 และ KP.3 ซึ่งพบเยอะขึ้นในหลายต่อหลายประเทศ

และ...ที่กำลังเป็นดาวรุ่งคือ LB.1.x ซึ่งตัวไวรัสนั้นมีการกลายพันธุ์โดยตัดกรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 31 บนหนามเปลือกนอกออกไป

วัยรุ่น วัยเรียน วัยทำงาน...ติดกันตรึมมากช่วงนี้

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

...

“สัจธรรม...หากเพิกเฉย หรือล้มเหลวในการควบคุมป้องกัน เดิมพันย่อมไปอยู่ที่การเข้าถึงการตรวจ วินิจฉัย และรับการรักษาที่ได้มาตรฐาน หรือปล่อยให้วัดดวงกันไป ว่าจะเป็นน้อย เป็นมาก ไปจนถึงหายในรูปแบบต่างๆกัน...ความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะเป็นตัวกำหนดทิศทาง”

ต่อเนื่องไปถึงประเด็น “ลองโควิด (Long COVID)” ผลการติดตามประเมิน 3 ปี น่าสนใจ

ทีมงานจากสหรัฐอเมริกาเผยแพร่ผลการติดตามประเมินผู้ป่วยที่เป็นลองโควิดหลังจากเกิดการติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งแบบที่ไม่รุนแรง (non-hospitalized) และแบบที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล (hospitalized) รวมจำนวนถึง 135,161 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 5,206,835 คน

ติดตามประเมินยาวนานถึง 3 ปี เพื่อดูว่าปัญหาอาการผิดปกติของ “ลองโควิด” นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง สาระสำคัญมีดังนี้... ในกลุ่มที่เป็นลองโควิดนั้นส่วนใหญ่ราว 90% ประสบปัญหาหลังจากที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยอาการไม่รุนแรง

กลุ่มผู้ป่วย “ลองโควิด” นั้นจะมีอัตราตายส่วนเกินจากทุกสาเหตุ สูงกว่ากลุ่มประชากรที่ไม่ได้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งนี้ กลุ่มที่ป่วยไม่รุนแรง มีอัตราตายส่วนเกินสูงกว่ากลุ่มควบคุมในช่วงปีแรก

...

ในขณะที่กลุ่มที่ป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลนั้นจะมีอัตราตายส่วนเกินสูงกว่ากลุ่มควบคุมตลอด 3 ปีที่มีการติดตามประเมินผลความเสี่ยงในการเกิดอาการผิดปกติของลองโควิดขึ้นภายหลังที่ติดเชื้อโควิด–19 นั้นจะสูงสุดในช่วงปีแรกหลังติดเชื้อ จากนั้นจะลดลงตามลำดับ

เมื่อติดตามไปถึงปีที่ 3 พบว่าอาการผิดปกติของ “ลองโควิด” ในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบบไม่รุนแรงนั้น มักอยู่ในกลุ่มอาการด้านระบบประสาท...สมอง ทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร

ในขณะที่ในกลุ่มที่ติดเชื้อป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น อาการผิดปกติในช่วงปีที่ 3 ที่ยังคงอยู่นั้น มีหลากหลายระบบมากกว่ากลุ่มที่ป่วยไม่รุนแรง ได้แก่ ระบบหัวใจและหลอดเลือด สมอง...ระบบประสาท ปัญหาจิตเวช การแข็งตัวของเลือด ไต ทางเดินหายใจ อ่อนเพลีย ...เหนื่อยล้า ทางเดินอาหาร เป็นต้น

อาการผิดปกติต่างๆข้างต้น ทำให้บั่นทอนสุขภาพ คุณภาพชีวิต และนำไปสู่ความสูญเสียตามมาทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังค

“การป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดการเสี่ยงติดเชื้อ และป้องกันปัญหาลองโควิดได้ ดีกว่าจะทุกข์ใจ และปวดหัวหาทางแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดขึ้นภายหลัง”

...

การแพร่ระบาดของไทยตอนนี้ เชื่อมั่นว่ามาจาก “JN.1” และลูกหลาน เป็นไปตามธรรมชาติของโรคแบบที่ทั่วโลกดำเนินมาก่อน ถัดจากปลายเดือนมิถุนายนไป คาดว่าสัดส่วน JN.1 จะลดลง และเป็นช่วงที่ลูกหลาน JN.1 เช่น KP.2 KP.3 KP.3.2 รวมถึง LB.1 จะช่วงชิงสัดส่วนการระบาดกัน

ตัวผลักดันหลักของการระบาดในไทยเรานั้นคือ พฤติกรรมเสี่ยงจากการไม่ป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งในวัยรุ่น นิสิตนักศึกษา วัยทำงาน และคนสูงอายุ

วิเคราะห์การระบาดของไทย (19-25 พ.ค.67)...คาดประมาณจำนวนคนติดเชื้อใหม่ต่อวันอย่างน้อย 12,865-17,868 ราย ลองดูตัวเลขกันจะพบว่าเดือนพฤษภาคมนี้ แม้ยังไม่หมดเดือน แต่ทั้งจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ (2,457) ใส่ท่อช่วยหายใจ (1,010) และเสียชีวิต (45) ถือว่ามากที่สุดในทุกเดือนที่ผ่านมา

โดยมากกว่าเดือนเมษายนถึง 2.1, 2.4, 2.4 เท่าตามลำดับ และหากเทียบพฤษภาคมปีนี้กับปีที่แล้ว จะพบว่า...ปอดอักเสบเยอะกว่าปีก่อน 1.8 เท่า ใส่ท่อช่วยหายใจมากกว่าปีก่อน 1.3 เท่า

การเจ็บป่วยนั้นทรมาน ไม่น่าอภิรมย์...ป่วยนอนอยู่บ้านหลังติดโควิด ไม่ใช่การหยุดงานพักผ่อนชิลๆเหมือนไปเที่ยว แต่เสี่ยงป่วยรุนแรง ตาย และเกิดปัญหาระยะยาวอย่างลองโควิดได้ด้วย นำเสนอตัวเลขเทียบกันให้เห็นชัดๆแล้ว คงขึ้นอยู่กับตัวของเราแต่ละคนว่าจะปฏิบัติตัวกันอย่างไร

“การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ใส่ใจสุขภาพ รับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อติดเชื้อลงไปได้มาก ปัจจุบันโควิด-19 ระบาดมากจริงๆ ดังที่เราเห็นกันรอบตัว... ความเสี่ยงขึ้นกับพฤติกรรมของเราครับ” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ กล่าวทิ้งท้าย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม