ประเด็นข้อเรียกร้อง “การปฏิรูปตำรวจ” กลับมาเป็นกระแสร้อนแรงอย่างต่อเนื่องอีกครั้งหลังเกิดความขัดแย้ง “ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)” โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายอันถูกการเมืองแทรกแซงจนเป็นโอกาสให้ตำรวจคนใกล้ชิดเติบโตนำมาสู่การวิ่งเต้นกันขึ้นมากมาย
เรื่องนี้กระทบต่อองค์กรตำรวจตกอยู่ในสภาพล้มเหลวในสายตาสังคมนี้ พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวน บอกว่า องค์กรตำรวจต้องปรับระบบและบุคคลอย่าง “พนักงานสอบสวน” เป็นสายงานที่ต้องสั่งสมประสบการณ์เพื่อประโยชน์ต่อการให้บริการประชาชนแต่ “สตช.” ไม่เคยบรรจุให้มีความก้าวหน้า
ถ้าดูตาม “พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการตำรวจ 2521” ที่เคยเขียนไว้เกี่ยวกับการประเมินเลื่อนระดับพนักงานสอบสวนครั้งแรกแล้วพัฒนามาจนถึงปี 2547 “สามารถเติบโตในตำแหน่ง ผบก.ภ.จ.” โดยไม่ต้องวิ่งเต้นแข่งกับใครกลับกลายเป็นว่า “ผู้บังคับบัญชาไม่ชอบ” กระทั่งในปี 2559 ก็มีการทำลายแท่นพนักงานสอบสวน
...
สิ่งนี้ส่งผลให้ “พนักงานสอบสวนแทนที่จะเป็นมืออาชีพต้องมาอยู่ สายงานปกติ” ทำให้การประเมินอย่างเดียวไม่พอต้องวิ่งเต้นควบคู่กันไปด้วยจึงจะมีโอกาสเติบโตได้ “แถมไม่เคยได้รับการดูแลเลี้ยงดู” ในทุกเดือนต้องควักเงินอย่างต่ำ 3 หมื่นบาท เพื่อซื้ออุปกรณ์ เครื่องปรินต์ กระดาษ และหมึกปรินต์ เพราะงบประมาณไม่มีให้
หนำซ้ำ “เงินตำแหน่ง” นับแต่ปี 2545-2567 เคยปรับขึ้นเพียง 2 ครั้ง หากดู พ.ร.บ.ตำรวจฯ 2565 ม.70 วรรค 2 “ก.ตร.และกระทรวงการคลังต้องร่วมกันทบทวนเงินเพิ่มพิเศษให้สอดคล้องสภาวะเศรษฐกิจทุก 3 ปี” เมื่อเราขอไปเท่าไรก็ไม่เคยได้แต่ “รัฐบาล” กลับต้องการให้บริการประชาชนอย่างดี และมีความยุติธรรมในการทำงาน
ทว่าปัญหามักพูดกันว่า “การเมืองแทรกแซงองค์กรตำรวจนั้น” ความจริงแล้วเรื่องนี้นายตำรวจบางนายเป็นผู้นำพาให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาเอง “เพื่อออกกฎหมายให้ตัวเองมีอำนาจ” ส่วนผลจะกระทบต่อองค์กรเป็นแบบใดก็ไม่เป็นไรขอเพียงแค่ “เจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ก็พอ” แถมกลับกีดกันคนอื่นไม่ให้เติบโตด้วย
เช่นกรณีปี 2553 “เคยออกระเบียบสำนักนายกฯ” ให้ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จชต. “มีสิทธินับอายุราชการทวีคูณ” แต่ในปี 2558 “ถูกยกเลิก” อันมีเบื้องหลังจากผู้ร้องบางคนได้ประโยชน์ในการแต่งตั้งทวีคูณไปแล้ว สิ่งนี้เป็นตัวอย่างจาก “ตำรวจบางคนนำนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง” ทำให้โครงสร้างองค์กรเกิดความเสียหาย
ขณะที่ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดีประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา ม.รังสิต บอกว่า หลักสากลระบบบริหารงานตำรวจมี 3 แบบ คือ 1.รวมศูนย์อำนาจ 2.กระจายอำนาจ 3.ผสมผสาน “ประเทศไทย” ใช้รวมศูนย์อำนาจมาร้อยปี “อันมีต้นแบบจากอังกฤษ” ที่เปลี่ยนเป็นกระจายอำนาจมาร้อยปีแล้ว
ในส่วน “การบังคับใช้กฎหมายไทย” ตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ ให้การเมืองควบคุมกลไกการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ 100% สวนทางกับต่างประเทศพยายามให้การเมืองแยกห่างจากการบังคับใช้กฎหมายมากที่สุด
ถัดมาในยุคนี้ “ตำรวจต้องปรับตัว” เพราะตามหลักประเทศใดก็ตามมีปัญหาด้านเศรษฐกิจตกต่ำมักนำมาซึ่ง “อาชญากรรมสูง” อันเป็นหน้าที่ที่ตำรวจต้องปรับตัวให้สอดรับเท่าทันสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ เพราะถ้าไม่ปรับตัวก็อาจเป็นอย่างกรณีตำรวจจราจรบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ฝ่าฝืนแต่ให้โอนเงินค่าปรับเข้าพร้อมเพย์ส่วนตัว
แต่ด้วยปัจจุบันสังคมมีระบบตรวจสอบมากขึ้น “ผ่านเทคโนโลยี” จนเรื่องนี้เป็นข่าวขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า “ตำรวจไม่ปรับตัว” ฉะนั้นการปรับตัวในการบังคับใช้กฎหมายมีความสำคัญให้สอดรับกับมิติอย่างที่กล่าวมาแล้ว
...
สำหรับสาระสำคัญ “การใช้ดุลพินิจบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกนั้น” ตำรวจต้องมีองค์ความรู้ในการสืบสวนสอบสวน มีความเป็นมืออาชีพ และมีคุณธรรมจริยธรรมของวิชาชีพที่ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมขององค์กร รวมถึงมีบรรทัดฐานของตัวเอง อย่างเช่นการทำงานเสียสละแต่ไม่ก้าวหน้าทำให้ผู้คนไม่เข้าหา
ในทางกลับกัน “ตำรวจทำงาน 50%” แต่รู้ช่องทางก้าวหน้าขึ้นเร็ว “ประชาชน” ต่างเข้าหาไม่ขาดสาย สิ่งนี้ทำให้เห็นปัญหาขององค์กรจาก “ชั้นยศ” ที่ไม่มีการตรวจดูว่าการขึ้นมานั้นด้วยวิธีใด
ต่อมาประเด็น “การเมืองแทรกแซง” ปัจจุบัน พ.ร.บ.ตำรวจฯยังให้นายกฯ เป็นประธาน ก.ต.ช., ก.ตร.โดยตำแหน่งกลายเป็นการเชื่อมโยงการเมืองมีอำนาจเสนอชื่อ ผบ.ตร.แล้วให้ ก.ตร.แต่งตั้งตามการเสนอนั้น สะท้อนให้เห็นว่าองค์กรตำรวจยังอยู่กับการเมืองตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 มาจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้นประชาชน และข้าราชการตำรวจต่างอยากเห็น “พรรคการเมือง” ที่ประกาศทำให้ตำรวจดีขึ้น “มิใช่เพื่อการเมือง” แต่เพื่อคนในประเทศนี้ให้อาชญากรรมลดลง โดยการปฏิรูปตำรวจมักส่งผลต่อสถิติเรื่องนี้ลดลงได้
เพราะเมื่อตำรวจทำงานมีความสุขบนพื้นฐานที่ “ได้รับความเป็นธรรมในการโยกย้าย” ย่อมเป็นขวัญกำลังใจส่งผลให้การทำงานที่ดี “ประชาชน” ก็จะอยู่อย่างปลอดภัย มีความสุข และได้รับความเป็นธรรมไปด้วย
...
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ที่ปรึกษาชมรมพนักงานสอบสวน บอกว่า ทุกครั้งที่มีวิกฤติศรัทธาของตำรวจมักมีเสียงเรียกร้องให้ “ปฏิรูปตำรวจ” แล้วเรื่องนี้ทำขึ้นใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 ผลจาก รธน. 2560 แต่ที่จริงการปฏิรูปเคยเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2550 “สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ” ผลลัพธ์ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
แต่ก็เป็นรากฐาน “ในการพัฒนาระบบกระบวนการยุติธรรม” นำมาซึ่งการปฏิรูปครั้งที่ 2 “สมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ” ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงจนมาครั้งที่ 3 “ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ” คราวนี้ประสบความสำเร็จ “แต่ไม่ตอบโจทย์” เห็นได้จากช่วง 1 ปีมานี้ยังเกิดปัญหาการแต่งตั้ง ผบ.ตร.เช่นเดิม
กระทั่งบานปลายกลายเป็น “วิกฤติศรัทธา” นำมาสู่การเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปตำรวจ (เพิ่มเติม) ด้วยการให้ตำรวจมีส่วนร่วมและการเปลี่ยนแปลงใน สตช.ต้องเกิดจากตำรวจเอง เพราะที่ผ่านมาการปฏิรูปเป็นลักษณะจัดท็อปดาวน์โดยนายกฯตั้งคนนอกมาเป็นกรรมการ แต่ตำรวจที่รู้ปัญหาดีกลับไม่ถูกเชิญให้มีส่วนร่วมด้วย
อย่างกรณี “การปฏิรูปตำรวจล่าสุดก็มีข้อจำกัด” ด้วยการตั้งทหารคือ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน “แม้มีตำรวจด้วยแต่ยังไม่ตอบโจทย์” เพราะไม่ครอบคลุมถึงผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ ทำให้เกิดประเด็นต้องปฏิรูปใหม่ในครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์อาชญากรรม และความต้องการของประชาชน
ย้ำปัญหาที่นำมาสู่แนวทางการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้แบ่งเป็น 3 เรื่องคือ 1.โครงสร้างการบริหารศูนย์รวมอำนาจมีการเมืองแทรกแซง การสอบสวนไม่พัฒนา 2.การบริหารงานละเลยในเรื่องระบบคุณธรรมให้ซื้อขายตำแหน่งนำมาซึ่งการหาเงินมาจากการทุจริต และ 3.การมีส่วนร่วมของประชาชน และกลไกตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ
...
กรอบหลักการปฏิรูปมี 4 อย่าง คือ 1.ปฏิรูปตำรวจแล้วประชาชนได้อะไร 2.พฤติกรรมตำรวจที่ไม่ถูกต้องควรแก้ไข 3.แก้ไขความขาดแคลน 4.แก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจฯ 2565 ในส่วนที่ไม่ถูกต้อง
ฉะนั้นขอเสนอแนวทาง “การปฏิรูปตำรวจ” เพื่อให้การบริหารเป็นไปตามระบบคุณธรรมมีความเป็นธรรมาภิบาล เพราะหากนายกฯ เป็นประธาน ก.ตร.ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ในเรื่องการแทรกแซง จึงเรียกร้องให้ปรับโครงสร้าง ก.ตร.โดยให้ประธาน ก.ตร.มาจากการเลือกตั้งสัดส่วน ก.ตร.โดยตำแหน่งกับการเลือกตั้งมีจำนวนเท่ากัน
เพราะปัจจุบัน ก.ตร.โดยตำแหน่งมี 10 คน และ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิจากการเลือกตั้งมี 6 คน เช่นนี้ระบบคุณธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในส่วน ก.พ.ค. ทำงานมา 1 ปี 6 เดือน กลับตอบโจทย์ได้ไม่ทั้งหมด เพราะแต่งตั้งเฉพาะหัวขึ้นมาในส่วนงานธุรการและฝ่ายสนับสนุนกลับไม่ถูกกำหนดไว้ ทำให้จำเป็นต้องแก้ไขให้สมบูรณ์
สุดท้ายคือ “แก้ไขการสรรหา ก.ร.ตร.” เพื่อให้เป็นกลไกตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไม่ให้ใช้อำนาจโดยมิชอบ “เป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน” ทั้งสนับสนุนพนักงานสอบสวนให้มีขวัญกำลังใจบริการ
นี่เป็นเสียงจาก “เวทีปฏิรูปตำรวจ” ที่มีสมาคมตำรวจ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ชมรมพนักงานสอบสวน เรียกร้องต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในองค์กรตำรวจให้เป็นที่พึ่งของประชาชนแท้จริง.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม