จากการเสวนายกระดับความร่วมมือการตรวจติดตามเฝ้าระวังสารพิษตกค้างจากวัตถุอันตรายทางการเกษตรในผักและผลไม้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ม.มหิดล กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ The Centre for Addiction and Mental Health ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิจัยประจำโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและระดับโลก โดยคนไทย 67% เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งพบว่าการบริโภคอาหารเป็น 1 ใน 5 ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตคิดเป็น 9.7% ของคนไทย
ดร.นพ.บัณฑิตกล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต้องใช้หลายหน่วยงานร่วมกันจัดทำแผนผลักดันการจะให้หน่วยงานต่างๆมาร่วมมือกันได้ต้องอาศัยคณะกรรมการระดับชาติที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพราะหากประธานสนใจผลักดันงานก็จะเดิน จึงได้มีการออกแบบการทำงานใหม่เชื่อมการทำงานของหน่วยงานระดับกลาง เช่น เรื่องการตรวจหาสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อหาข้อสรุปเสนอหน่วยงานระดับประเทศต่อไป เบื้องต้นนำร่องการตรวจหาและจัดเก็บข้อมูลสารพิษตกค้างให้เป็นระบบในพริกและส้ม โดยวางระบบการสุ่มตรวจ การเก็บข้อมูลที่ตรงกัน คาดว่าใช้เวลา 2 ปีในการคำนวณเงินที่จะต้องลงทุนในการตรวจ และเสนอภาครัฐให้ตัดสินใจ เปรียบเทียบกับเม็ดเงินลงทุนด้านการรักษาเมื่อเกิดโรคขึ้น ซึ่งคาดหวังว่าเมื่อระบบการทำงานดีขึ้น มีการตรวจสอบสารพิษและแจ้งให้ประชาชนทราบและเฝ้าระวังการบริโภคในระยะยาวก็คาดหวังว่าคนไทยจะเสียชีวิตลดลง.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่
...