วันก่อนผมบอกน้องนักข่าวทีวีแบบขอไปที เขียนว่า ขอมคือ เขมร อย่างมั่นใจไปก่อน...เพราะนั่นเป็นเรื่องรู้ๆกันพื้นฐาน เพราะหากจะบอกว่า ไม่แน่! ขอม ไม่ใช่ขแมร์ เขมร แต่คือไทย ก็ต้องพูดกันยาว
แต่ก็ตั้งใจ ถ้าเจอหนังสือที่ถกแถลง เรื่องขอมเมื่อไหร่! ก็จะอ่าน เอามาขยายให้ฟังต่อ
ในหนังสือ “ขอมโบราณ” (สำนักพิมพ์ก้าวแรก พ.ศ.2565) กิตติ โล่ห์เพชรรัตน์ เขียนไว้ในบทที่ 8 ขอมโบราณ ไม่ใช่กัมพูชา และเริ่มต้นอธิบายต่อไปว่า ขอมคือไทย ไม่ใช่เขมร
ผู้รู้ไทยหลายคนเคยกล่าว ขอมน่าจะเป็นชนเผ่าไทยหรือวัฒนธรรมไทยโบราณในดินแดนไทยมานานนับพันปี ส่วนเขมรนั้นเป็นชนเผ่าหนึ่งที่เข้ามาอาศัยภายหลัง
ขอมเคยมีอำนาจครอบคลุมดินแดนไทย ในพื้นที่อีสานใต้ขึ้นไปถึงอีสานเหนือ เรียกว่าเกือบทั้งภาคอีสาน รวมภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคเหนือบางส่วน และภาคตะวันตกและภาคใต้ตอนบน
โบราณสถาน แสดงอารยธรรมขอมโบราณมากมาย สกลนคร ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ลพบุรี เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ลำพูน ค่อนแผ่นดินไทยเป็นอารยธรรมขอม
เชื่อว่าอาณาจักร ทวารวดี ละโว้ ศรีวิชัย ทับซ้อนอาณาจักรขอม หรือไม่ก็อาจเป็นอาณาจักรเดียวกัน
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยอธิบาย ขอมเป็นพวกฮินดู หรือพุทธมหายาน ใครเข้ารีตเป็นฮินดูหรือพุทธมหายาน เป็นได้ชื่อว่าขอม ขอมไม่ได้ชื่อชนชาติ เพราะไม่มีชนชาติขอม ขอมเป็นชื่อทางวัฒนธรรมเช่นเดียวกับสยาม
จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้ในแนวเดียวกัน หมายถึงคนกลุ่มหนึ่งที่รับวัฒนธรรมฮินดูจากชมพูทวีป ภายหลังเปลี่ยนเป็นพุทธมหายาน ใช้อักษรขอมในการจดจารึก ชนกลุ่มนี้รวมชนชาติเขมร และรัฐเครือญาติ รวมทั้งรัฐละโว้
ขอมถูกใช้เรียกกลุ่มคนโดยรวม คล้ายกับการใช้คำว่าแขก ที่เรียก คนอิสลาม ซิก ฮินดู โดยไม่ได้แยกว่าเป็นคนอินเดีย ศรีลังกา มลายู ชวา หรือชาวอาหรับ
...
จิตรอธิบายต่อ คำว่าขอม ถูกนำมาใช้ในงานเขียนสมัยใหม่ โดยความรู้สึกชาตินิยมมากกว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เช่นถือว่า ขอมเป็นคนกลุ่มที่เคยแผ่อำนาจมาครองดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาถึงสุโขทัย
ต่อมาชาวสุโขทัย จึงลุกขึ้นต่อสู้เพื่อให้พ้นจากอำนาจขอม เพื่อสร้างคติชาตินิยมในประเทศไทย
แต่สุจิตต์ วงษ์เทศ เสนอว่า ขอมน่าจะหมายถึงคนในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ต่อสู้ชิงความเป็นใหญ่กับคนทางเหนือ คำว่าขอมใช้เรียกคนละโว้หรือลพบุรี ต่อมาจึงเรียกรวมถึงเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร ต้นกำเนิดอยุธยา
คำในประวัติศาสตร์อยุธยา ขอมแปรพักตร์ เป็นคำเรียกคนมีความหมายทางวัฒนธรรม เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
กิตติ โล่ห์เพชรรัตน์ เสริมว่า ชาวเขมรเอง ไม่ได้เรียกตัวเองว่าขอม และไม่รู้จักขอม จารึกวัดศรีชุม สุโขทัย ระบุชื่อ ขอมสบาดโขลญลำพง ต่อมาในสมัยศรีอยุธยา ชื่อขอมจึงมีความหมายเปลี่ยนไปเป็นพวกเขมร
อีกประเด็นระบบการปกครองของไทยจากระบบธรรมราชามาเป็นแบบเทวราชา ไม่น่าเชื่อว่าเป็นเรื่องวิวัฒนาการ แต่น่าจะเป็นการนำระบบการปกครองจากพวกขอมที่อพยพมาจากนครวัด
เนื่องจากขอมโบราณกับไทย (สยาม) โบราณ เป็นเครือญาติกัน
ต่อจากนี้ เป็นเรื่องที่ผมอ่านจากหนังสือเล่มอื่นนานเต็มที...จนตกผลึกเป็นความจำ...
เรารู้จักเส้นแบ่งเขาพระวิหาร เขมรสูง แถวอีสาน รู้ว่าเขมรต่ำ คือดินแดนทะเลสาบ มีตำนานครั้งหนึ่ง พระนางลักษมีกัมพูชา ผู้นำเขมรสูง อภิเษกรวมแผ่นดินกับเจ้าชายเขมรต่ำ ยุคนั้นสืบราชวงษ์ทางสายแม่
จนเป็นที่มาของชื่อเรียกกัมพูชา
และแหล่งกำเนิด แผ่นดินแม่แท้ๆ กสิตินทราคม ก็คือบ้านยางโป่งสะดา ละหานทราย จุดพบเทวราชา พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ที่เราเพิ่งได้คืนมาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติวันนี้.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม