"พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์" ชี้ปมกฤษฎีกาตีความให้ "บิ๊กโจ๊ก" ออกจากราชการ ต้องรอ "คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ" วินิจฉัยชี้ขาด ย้ำหากวินิจฉัยล่าช้า "บิ๊กโจ๊ก" อาจเสียสิทธิแคนดิเดต ผบ.ตร. ยันความเห็นกฤษฎีกา ไม่มีผลต่อการพิจารณาของ ก.พ.ค.ตร.
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 67 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.เอก อังสนาสนนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตอบคำถามสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรณีมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ออกจากราชการไว้ก่อน ว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้สอบถามความเห็นในกรณีนี้ 2 ประเด็น คือ การสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน นายกรัฐมนตรีต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อให้โปรดเกล้าฯ พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ และมีกรอบระยะเวลาที่จะต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบใน 2 ประเด็นนี้ว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูล ตามมาตรา 140 และมาตรา 179 แห่งพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 ส่วนกรอบระยะเวลาในการนำความขึ้นกราบบังคมทูลนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น หากเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้น ก็จะชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย และเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกสอบสวน อย่างไรก็ตามสำหรับ 2 ประเด็น ที่ได้มีการสอบถามไป หน่วยงานรัฐที่มีการสอบถามความเห็นไปจะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2482 และแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ส่วนข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีมายังหน่วยงานรัฐ มิได้มีผลบังคับให้หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยงานนั้น อย่างกรณีนี้นายกรัฐมนตรีอาจจะรับข้อสังเกตมาพิจารณา แต่ต้องนำความขึ้นทูลเกล้าฯ แน่นอน ตามที่วินิจฉัยมาแต่เมื่อไหร่นั้น นายกรัฐมนตรีอาจจะต้องรอฟังผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ก่อน
...
พล.ต.อ.เอก กล่าวต่อว่า การวินิจฉัยของ ก.ค.พ.ตร.เทียบเท่ากับศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งการวินิจฉัยจะมี 2 แนวทาง คือ กรณีแรกเป็นคุณกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ผลก็คือต้นสังกัดจะต้องมีคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการทันที โดยมีผลย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน และเชื่อว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็จะนำคำวินิจฉัยดังกล่าวเพื่อใช้สิทธิฟ้อง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร.อย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่ผลคำวินิจฉัยเป็นโทษนั้น พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็สามารถร้องศาลปกครองสูงสุดได้ ซึ่งมีกรอบระยะเวลา 90 วัน ย้ำว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมาย ไม่ใช่ใครจะมาให้ความเห็นว่าต้องเข้ามาตรา 120 วรรคท้าย หรือมาตรา 131 ต้องรอ ก.พ.ค.ตร.และศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด
"ทราบว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือและส่งเรื่องมาให้สำนักงานเลขาธิการนายกฯ แล้ว ตามไทม์ไลน์ รรท.ผบ.ตร. มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตั้งกรรมการสอบสวนวินัย และให้ออกจากราชการไว้ก่อน เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 จากนั้นวันที่ 22 เม.ย. 2567 ส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นำความขึ้นกราบบังคมทูล แต่กรณีนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้อุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ในประเด็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายดังกล่าว ปรากฏว่าสำนักเลขาธิการนายกฯ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาพิจารณา ต่อมาวันที่ 9 พ.ค. 2567 สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือแจ้งไปยัง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ว่า คำสั่งตั้งกรรมการสอบวินัยและให้ออกจากราชการดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการจะยกเลิกคำสั่งนั้น ต้องให้ไปอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร." พล.ต.อ.เอก กล่าว
พล.ต.อ.เอก กล่าวอีกว่า สถานะของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ขณะนี้ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน และกระบวนการทางกฎหมายยังไม่สมบูรณ์ ต้องรอกระบวนการโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง ซึ่งจะมีผลย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการ คือ 18 เม.ย. 2567 ส่วนกระบวนการวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะจะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในหลายเรื่อง หากมีความล่าช้าออกไปอาจจะเสียสิทธิในการเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. ขณะเดียวกันการพิจารณาวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. มีความเป็นอิสระ ย้ำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว ไม่มีผลต่อการพิจารณาวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ ซึ่งตามขั้นตอนปกติ ตร.จะส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลเกล้า แต่กรณีนี้มีการอุทธรณ์และร้องทุกข์หลายหน่วยงาน