สิ้นสุดการรอคอย!! วันที่ 27 พ.ค.67 องค์การคลังสินค้า (อคส.) ประกาศเปิดจำหน่ายข้าวสารสต๊อกรัฐเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นข้าวสารหอมมะลิ 15,000 ตัน ที่ จ.สุรินทร์ หรือ “ข้าว 10 ปี”

รายละเอียดบางอย่างเปลี่ยนไปจากหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการประมูล (TOR) ก่อนหน้านี้ ที่ อคส.พยายามประมูลข้าวลอตนี้ แต่ต้องล้มไป เพราะมีเสียงคัดค้านว่า TOR ครั้งนั้นเข้มงวดเกินไป โดยเฉพาะกำหนดให้ผู้เสนอซื้อ ต้องนำ Statement บัญชีธนาคารมาแสดงด้วย และ TOR ครั้งนี้ตัดทิ้งไปแล้ว

ส่วนรายละเอียดอื่นๆ แทบไม่ต่างจาก TOR ในอดีต ทั้งกำหนดให้ชี้แจง TOR, คุณสมบัติผู้ประมูล, ยื่นซองคุณสมบัติ ตรวจสอบและประกาศรายชื่อผู้ผ่าน, ยื่นซองเสนอราคา เปิดซอง ต่อรองราคา และประกาศผู้ชนะ, การทำสัญญา, การชำระเงิน, การส่งมอบ รับมอบ และขนย้าย, การบอกเลิกสัญญา ฯลฯ

สำหรับการประมูลครั้งนี้ จะเปิดให้ผู้สนใจดูข้าวในโกดังทั้ง 2 แห่ง คือ กิตติชัย หลัง 2 และพูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 วันที่ 31 พ.ค.-7 มิ.ย.นี้ โดยให้ดูทางกายภาพด้วยสายตา เพื่อประกอบการพิจารณาเสนอราคาซื้อ ไม่อนุญาตให้นำตัวอย่างข้าวออกนอกคลัง หรือตรวจสอบด้วยวิธีอื่นใด

จากนั้นวันที่ 10 มิ.ย. ยื่นซองคุณสมบัติ และประกาศชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ วันที่ 13 มิ.ย. ส่วนวันที่ 17 มิ.ย. ยื่นซองเสนอราคา เวลา 09.00-12.00 น. ต้องมีหลักประกัน 2% ของมูลค่าข้าวที่ยื่นเสนอซื้อ และเปิดซองวันเดียวกัน ตั้งแต่เวลา 13.00 น. โดยจะมีคณะทำงานรับ-เปิดซอง และต่อรองราคาซื้อ เจรจาต่อรองให้ได้ราคาสูงสุด

กรณีที่มีผู้เสนอซื้อราคาสูงสุดแต่ละคลังเท่ากัน 2 รายขึ้นไป ให้เสนอราคาซื้อเพิ่มเติมจากเดิมไม่ต่ำกว่าครั้งละ 5,000 บาท จนกว่าจะได้ผู้เสนอซื้อราคาสูงสุดรายเดียว และจะเสนอผลให้ผู้อำนวยการ อคส.พิจารณาเห็นชอบ โดยต้องทำสัญญาซื้อขายข้าวกับ อคส.ใน 15 วันทำการ วางหลักประกันสัญญา 5% ของมูลค่าข้าวที่ซื้อ หากไม่ทำสัญญาภายในกำหนด จะริบหลักประกัน 2%

...

กรณีไม่มาทำสัญญา หรือผิดสัญญา อคส.จะบอกเลิกสัญญา คณะทำงานฯจะเจรจาต่อรองกับผู้เสนอซื้อสูงสุดลำดับถัดไป หากเสนอซื้อต่ำกว่าผู้ทิ้งสัญญา ผู้ทิ้งสัญญาต้องจ่ายส่วนต่างราคาให้ อคส.

ทั้งนี้ การประมูลข้าวครั้งนี้ เป็นการประมูลเพื่อการบริโภค ส่วนผู้ชนะประมูลจะนำไปทำอะไร หรือขายให้ใคร ก็สุดแล้วแต่ แต่ไม่ว่าจะขายให้ใครกิน สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ ปรับปรุงคุณภาพข้าวให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

หากเป็นการส่งออก ต้องเป็นไปตามมาตรฐานข้าวส่งออก ของกรมการค้าต่างประเทศ หากทำเป็นข้าวสารบรรจุถุงกินในประเทศ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของกรมการค้าภายใน

เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ รวมถึงรักษาคุณภาพ มาตรฐาน ภาพลักษณ์ข้าวไทย ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่น และทำให้ “ข้าวไทย” เป็นที่ต้องการของคนทั้งโลก ส่งผลถึงการยกระดับรายได้ และคุณภาพชีวิตของชาวนาไทย!!

ฟันนี่เอส

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่