ย้อนไปเมื่อ 45 ปีก่อน ผืนป่าธรรมชาติขนาด 170 ไร่ ของบ้านไร่ลุงคริส ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นเพียงเขาหัวโล้นที่มีสภาพเสื่อมโทรมแห้งแล้งด้วยความตั้งใจของเจ้าของพื้นที่ที่อยากให้ธรรมชาติฟื้นคืนกลับมาสมบูรณ์ เขาจึงเริ่มปลูกต้นไม้ แล้วปล่อยให้ธรรมชาติดูแลตัวเองจนระบบนิเวศมีความหลากหลายทั้งป่าไม้และสิ่งมีชีวิต

จากต้นแรกที่หยั่งรากลงดิน ทุกวันนี้ ไร่แห่งนี้เปรียบเสมือนธนาคารทรัพยากรชีวภาพ (Bio Bank) ที่เป็นต้นกำเนิดของหลายชีวิต และเป็นห้องเรียนแสนสนุกของคนที่สนใจเรียนรู้เรื่องป่าธรรมชาติ รวมถึงน้องๆ ในค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ‘เพาเวอร์กรีน’ รุ่นที่ 19 ที่บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันจัดขึ้น ภายใต้แนวคิด ‘วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม-เรียนรู้สู่การปฏิบัติ’

ค่ายเพาเวอร์กรีน จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 โดยเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นของบ้านปูในการสร้างเสริมศักยภาพและพลังให้แก่เยาวชน เพื่อให้พวกเขาเป็นกำลังสำคัญ ในการทำให้โลกของเราดีขึ้น (Earth Betterment) ถึงวันนี้มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการค่ายเพาเวอร์กรีนมากกว่า 1,100 คน

“บ้านปูต้องการสร้างความตระหนักรู้ และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชน และใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ รวมถึงสร้างเครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นกำลังในการปกป้อง ฟื้นฟูและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ไม่ว่าในระดับชุมชน ระดับประเทศ หรือระดับนานาชาติ” รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เล่าถึงเหตุผลที่บ้านปูเลือกติดอาวุธและสร้างเสริมศักยภาพให้กับเยาวชน เพราะพวกเขาเหล่านี้คือกำลังสำคัญในการโอบอุ้มดูแลสิ่งแวดล้อมในอนาคต

เชื่อมโยงป่ามาสู่เมือง

ด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมมีโจทย์ที่เปลี่ยนไปทุกปีตามบริบทและสถานการณ์ รูปแบบของค่ายจึงมีการพัฒนาและเพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหา รวมถึงสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สอดรับกับเทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาค่ายเพาเวอร์กรีนมีรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิกฤติโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาขยะทะเล กรีนไลฟ์สไตล์ ฯลฯ และปีนี้ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Urban Rewilding: ป่า-เมือง-ชีวิต” เชื่อมโยงป่ามาสู่เมือง เชื่อมทุกชีวิตให้ใกล้ชิดธรรมชาติ

อย่างที่รู้กันดีว่า ป่ามีความสำคัญกับทุกชีวิตเพราะเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงอยู่ และเป็นผู้รักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม การลดลงของผืนป่าจึงเป็นเรื่องน่าเศร้าและต้องเร่งมือฟื้นฟู ในรายงานสถานการณ์ป่าไม้ประเทศไทยประจำปี 2566-2567 ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ป่าไม้อยู่เพียง 101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเท่านั้น การหายไปของผืนป่าไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงพื้นที่รอบด้าน แต่แผ่ผลร้ายมาถึงชุมชนคนเมืองอย่างทั่วถึงกันจากระบบนิเวศที่ขาดสมดุล

ขณะเดียวกัน สังคมเมืองก็โหยหาธรรมชาติไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่มีพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร ซึ่งองค์การอนามัยโลกตั้งเกณฑ์มาตรฐานไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน แต่ปัจจุบัน อัตราพื้นที่สีเขียวต่อประชากรมีอยู่เพียง 3.54 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น

“ปีนี้เราเห็นเทรนด์ของการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองมากขึ้น กรุงเทพมหานครและหลายองค์กรให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง บ้านปูจึงเห็นว่าควรมีการให้ความรู้เรื่องป่าในเมืองอย่างจริงจัง เพราะป่าในเมืองจะช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีในเขตเมือง เช่น ช่วยดูดซับมลภาวะ ลดอุณหภูมิ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและขับเคลื่อนกิจกรรมทางสังคม ช่วยให้คนที่อยู่ในเขตเมืองมีสุขภาวะที่ดี”

เรียนรู้แบบ 3Rs เพื่อร่วมฟื้นป่าเมือง

น่ายินดีว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏตัวอย่างชัดเจนในหลายปีมานี้ ได้สร้างความตื่นตัวให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ประกอบกับช่วงเวลาการจัดกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปิดเทอมใหญ่ ทำให้ปีนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมมากถึง 537 คน จาก 277 โรงเรียน 65 จังหวัด และคัดเลือก 50 เยาวชน จาก 48 โรงเรียน 32 จังหวัด เข้าร่วมกิจกรรมทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพของป่าในเมืองอย่างเป็นระบบ โดยคัดเลือกจากคลิปวิดีโอนำเสนอแนวคิดภายใต้โจทย์ ‘ป่าในเมืองมีความสำคัญต่อความหลากหลายของระบบนิเวศอย่างไร และในฐานะแกนนำเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อม คุณมีแนวคิดหรือวิธีการในการขับเคลื่อนการจัดการพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองอย่างยั่งยืนอย่างไร?’

อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ไร่ลุงคริส จังหวัดสระบุรี และสวนเบญจกิติ กรุงเทพฯ คือ 3 พื้นที่เรียนรู้ที่จะบ่มเพาะเรื่องราวของป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้การเรียนรู้แบบ 3Rs คือ ‘Reconnect’ เชื่อมโยงชีวิตคนเมืองให้ใกล้ชิดกับป่า เรียนรู้ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับธรรมชาติรอบตัว ‘Restore’ เรียนรู้แนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของป่าในเมือง และ ‘Redesign’ ศึกษาการออกแบบเมืองสีเขียวอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

“การเรียนรู้เรื่องป่าในเมือง ความรู้พื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญมาก เราจึงออกแบบกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆ ได้เข้าใจตั้งแต่พื้นฐาน เข้าใจถึงความหลากหลายทางชีวภาพของป่าไม้เมืองไทย เราจะฟื้นฟูได้ด้วยวิธีใดบ้าง และนำไปสู่การออกแบบ ฟื้นสภาพนิเวศดั้งเดิมให้กลับคืนมาอย่างเหมาะสมกับโลกปัจจุบัน เป็นการเรียนรู้จนครบกระบวนการ” รศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 19 หนึ่งในทีมงานที่ร่วมออกแบบกิจกรรมเรียนรู้ของค่ายในปีนี้และเป็นส่วนหนึ่งของเพาเวอร์กรีนมากว่าสิบปี ให้คำอธิบาย

ที่อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่และเป็นศูนย์รวมสมุนไพรธรรมชาติหายากกว่า 800 ชนิด เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องสมุนไพรไทย พืชสำคัญของป่าเมือง และตื่นเต้นกับกิจกรรมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อขยายพันธุ์พืชสมุนไพรก่อนปลูกลงดิน รวมถึงได้ซึมซับความหลากหลายทางชีวภาพของป่าในเมืองอีกแห่ง ที่สัตว์ธรรมชาติอยู่ร่วมกันกับมนุษย์ได้อย่างเป็นมิตร ก่อนจะเดินทางไปสัมผัสป่าธรรมชาติ ที่มีประสบการณ์ใหม่รออยู่ตลอดสองวัน

ป่าธรรมชาติ เชื่อมโยงป่าในเมือง

ความเป็นมาของไร่ลุงคริสไม่เพียงแต่ให้แรงบันดาลใจในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ผืนป่าที่มีคนธรรมดาเป็นแบบอย่าง แต่ยังทำให้เด็กๆ ได้รู้ซึ้งถึงความเก่งกาจของธรรมชาติ ที่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้โดยอาศัยการเกื้อกูลกันของพืชและสัตว์ มนุษย์ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ช่วยไม่ให้คนเข้ามารุกราน จนค่อยๆ กลับมาเป็นผืนป่าที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ มีต้นน้ำหล่อเลี้ยงป่าและชุมชน มีสถานะเสมือนธนาคารทรัพยากรชีวภาพ เก็บรักษาทรัพยากร ที่ปันผลกำไรให้ป่าและเมืองในรูปแบบของผู้สร้างสมดุลให้สิ่งแวดล้อม และจัดสรรพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้และสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าผืนนี้ผ่อนคลายเราด้วยสายลมเย็นแม้ในวันที่ประเทศไทยเผชิญกับคลื่นความร้อนรุนแรงในเดือนพฤษภาคม นั่นเป็นประโยชน์ของป่าที่ส่งเสียงมาถึงเราเป็นอย่างแรก

ท่ามกลางพันธุ์ไม้นับร้อยชนิดทุกระดับเรือนยอด ที่แทรกตัวกันอยู่อย่างไม่เป็นแถวเป็นแนวตามธรรมชาติของป่า ได้เชื่อมโยงชีวิตคนเมืองให้ใกล้ชิดป่ามากขึ้น ผ่านการเดินเท้าสำรวจความหลากหลายของพืชพันธุ์และสัตว์ป่าขนาดเล็ก รวมถึงนกอีกราว 50 สายพันธุ์ที่มีทั้งอาศัยอยู่ถาวรและเป็นนกอพยพ และได้ใช้เวลาทำความรู้จักตนเองและเชื่อมโยงตัวเองกับธรรมชาติในกิจกรรม Natural Theraphy คลาสบำบัดใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่

ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่ทำหน้าที่เป็นผู้พยากรณ์ฝนฟ้า ถูกเล่าผ่านกิจกรรมถอดรหัสพยากรณ์จากต้นไม้ เด็กๆ จะต้องฝึกสังเกตพฤติกรรมต้นไม้ เช่น การปลิดขั้วของเมล็ดยางนา ยางเหียง ฯลฯ ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดฝนขนาดสามารถนับวันรอได้ นี่เป็นภูมิปัญญาที่ผ่านการบันทึกสถิติและทดลองจนกลายเป็นศาสตร์แห่งธรรมชาติ นับเป็นโอกาสที่ดีที่เด็ก ๆ ได้มาใช้เวลาเรียนรู้ธรรมชาติในเชิงลึกจนสามารถเข้าใจพฤติกรรม ความเปลี่ยนแปลง จนสามารถถอดรหัสจากสิ่งที่ธรรมชาติกำลังบอกได้

หลังจากได้ลองศึกษา ทำความเข้าใจพืชพันธุ์แต่ละชนิดแล้ว ก็ถึงเวลาที่เด็ก ๆ จะได้ร่วมกันปลูกป่าเพื่อฟื้นคืนไม้พื้นถิ่น ซึ่งไม่ใช่เพียงการเอารากลงดิน แต่ทุกคนจะต้องเรียนรู้วิธีการปลูกต้นไม้อย่างถูกวิธีเพื่อให้แต่ละต้นสามารถเติบโตได้ตามธรรมชาติต่อไปอย่างยั่งยืน เมื่อได้รับคำแนะนำจากทีมผู้เชี่ยวชาญแล้ว ก็ถึงเวลาลงมือ ลงแรง เด็ก ๆ ก็ไม่รอช้ารีบแบ่งหน้าที่ ส่วนหนึ่งก็ช่วยกันเตรียมหลุมปลูก เตรียมดินและอุปกรณ์ ส่วนหนึ่งก็ช่วยกันแจกจ่ายกล้าไม้ นำลงหลุมปลูก ซึ่งในการปลูกจะมีการรองพื้นหลุมด้วยโพลิเมอร์ซึ่งมีสารอาหารและมีคุณสมบัติในการเก็บกักความชื้นได้นานนับปี เพื่อให้ต้นไม้เติบโตได้แม้จะเป็นการปลูกในช่วงแล้ง และเด็ก ๆ แต่ละคนก็มีความหวังว่าสักวันหนึ่งพวกเขาจะพากันกลับมาดูต้นไม้ที่ได้ช่วยกันปลูกในวันนี้เติบโตอย่างสมบูรณ์

ความหลากหลายทางชีวภาพจากผืนป่า ถูกเชื่อมโยงเข้ากับการเรียนรู้พื้นที่ป่าในเมือง ที่สวนเบญจกิติ กรุงเทพฯ ที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาพื้นอย่างเป็นระบบ และเป็นต้นแบบของการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของป่าในเมือง เด็กๆ ได้เข้าใจถึงแนวทางการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติในเขตเมืองสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน วิธีการประเมินศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ บทบาทหน้าที่ของรุกขกรที่ช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง ผ่อนคลายร่างกายและเชื่อมโยงจิตใจกับธรรมชาติผ่านกิจกรรมอาบป่า และยังได้ศึกษาการออกแบบสวนเบญจกิติ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่สำหรับสร้างระบบนิเวศเลียนแบบธรรมชาติที่สมบูรณ์ รวมถึงได้ช่วยกันฝึกออกแบบเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยใช้องค์ความรู้จากค่ายมาสร้างสรรค์จินตนาการ

“ป่าธรรมชาติกับป่าในเมืองมีสภาพแวดล้อมที่ความแตกต่างกัน แต่เราสามารถนำเอาบทเรียนบางอย่างของป่าธรรมชาติไปใช้กับการปลูกป่าในเมืองได้ ได้เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพว่าทุกสิ่งที่ความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และเมื่อได้เห็นการออกแบบสวนเบญจกิติ ก็ได้เห็นว่าเราสามารถสร้างระบบนิเวศแบบป่าในเมืองได้ เพื่อที่ทุกคนจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และป่าในเมืองจะทำให้คนเมืองมีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดีขึ้น เป็นเรื่องดีหากในอนาคตจะมีป่าในเมืองเพิ่มขึ้นกว่านี้ และกิจกรรมของค่ายเพาเวอร์กรีนก็ช่วยเปิดมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ได้เห็น ได้สัมผัส ได้ลงมือทำ ทำให้เราตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นับเป็นโอกาสที่ดีมากที่ได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้” มนพัทธ์ คงน้อย นักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนสตรีนนทบุรี ซึ่งตั้งใจวางเส้นทางการเรียนของตัวเองไว้ในสายวิทยาศาสตร์หรือสิ่งแวดล้อม เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ได้รับ

ขณะที่ ชนพล สร้อยประเสริฐ นักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งคลุกคลีอยู่กับกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนมาตั้งแต่ ม.1 จนเป็นแกนนำเยาวชนในการจัดค่ายและจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ก็ได้ประสบการณ์และความรู้ใหม่จากการเข้าร่วมครั้งนี้

“ผมประทับใจในหลายกิจกรรม เราได้มิตรภาพใหม่ๆ ได้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในเชิงปฏิบัติการ เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อให้ได้กล้าไม้ที่แข็งแรงสำหรับนำไปปลูกต่อ การปลูกต้นไม้โดยใช้โพลิเมอร์ช่วยในการกักเก็บความชื้นในดิน ความรู้เหล่านี้มีประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการปลูกป่า และเป็นความรู้ใหม่ที่ผมจะได้นำไปเผยแพร่ต่อในการจัดค่ายของผมกับโรงเรียน ส่วนเรื่องป่าในเมือง ผมคิดว่ามีความสำคัญมาก ปัจจุบันการขยายตัวของพื้นที่เมืองส่งผลให้พื้นที่สีเขียวลดลง ส่งผลให้เมืองของเรามีแหล่งผลิตอากาศบริสุทธิ์ลดตามลงไป หากเราคืนพื้นที่ป่าให้เมือง ก็เหมือนเราได้คืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับลมหายใจของเรา รวมถึงยังมีส่วนช่วยฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ให้กลับคืนสู่ธรรมชาติในเมืองอีกด้วย”

แม้ค่ายเพาเวอร์กรีนแคมป์ ครั้งที่ 19 จะสิ้นสุดลง แต่เรื่องราวและประสบการณ์การที่น้องๆ ได้เรียนรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติหลากหลายรูปแบบอย่างเข้มข้น ได้เกิดเป็นความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของป่าในเมือง และป่าที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์เช่นป่าธรรมชาติ สามารถสร้างได้แม้อยู่ในพื้นที่เมือง โดยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้ในการออกแบบฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ ทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดการเรียนรู้เพื่อรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่พวกเขาเหล่านี้จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญในอนาคต