ไทยผลิตปาล์มน้ำมันได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่มีปริมาณผลิตคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 4 ของปาล์มน้ำมันที่โลกผลิตได้ ทำให้ความเป็นไปของราคาขึ้นอยู่กับผู้เล่นรายใหญ่ คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

“ตั้งแต่ปี 2562 ราคาปาล์มน้ำมันดีดตัวสูงขึ้น ก่อนหน้านั้น ปี 2561 ชาวสวนปาล์มขายผลปาล์มทะลายได้รวมกัน 3 หมื่นล้านบาท และมาดีดตัวขึ้นไปที่ 5 หมื่นล้านในปี 2562, 7 หมื่นล้านในปี 2563, 1.1 แสนล้านในปี 2564 และขึ้นสู่ยุคทองในปี 2565 ที่ชาวสวนปาล์มมีรายได้จากปาล์มน้ำมันสูงถึง 1.47 แสนล้าน”

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล่าถึงความเป็นมาของยุคทองปาล์มน้ำมัน เนื่องจากช่วงเวลานั้น คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้บริหารจัดการให้ราคาผลปาล์มเคลื่อนไหวในทางที่เกิดประโยชน์ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด ด้วยการควบคุมสต๊อกเพิ่มการใช้ไบโอดีเซล และผลักดันผลการผลิตส่วนเกินออกไปยังอินเดีย

ถ้ายังพอจำได้ถึงเหตุที่ราคาปาล์มน้ำมันพุ่งขึ้นสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 20 ปี นั่นเพราะ 1.การระบาดของโควิด-19 ทำให้มาเลเซียตัดสินใจผลักดันแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ และฉวยโอกาสต่อการใช้แรงงานต่างชาติ เมื่อปี 2562 ทำให้ขาดแรงงานในการตัดปาล์ม ตั้งแต่นั้นราคาปาล์มเริ่มทะยานขึ้น

...

2. เมื่อราคาทะยานขึ้น อินโดนีเซียเกรงว่าผู้คนในประเทศตัวเองจะใช้น้ำมันปาล์มที่แพง เพราะพ่อค้าจะส่งออกไปขายหมด รัฐบาลอินโดนีเซียจึงประกาศห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มในห้วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม 2565 จนทำให้ราคาปาล์มน้ำมันพุ่งสูงขึ้นไปอีก

และ 3.สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ทั้งสองประเทศซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันทานตะวันและเรปซีดรายใหญ่ของโลก ไม่สามารถส่งออกน้ำมันพืช ยิ่งทำให้ราคาน้ำมันปาล์มพุ่งสูงต่อขึ้นไปอีกอย่างฉุดไม่อยู่

“นี่คือเหตุผลหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มพุ่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และแนวทางการบริหารสต๊อก และมาตรฐานอุดหนุนส่งออกของไทย ยิ่งทำให้ราคาพุ่งกระฉูดแซงหน้าราคาตลาดโลกไปอีก เห็นได้จากชาวสวนมีเงินซื้อปุ๋ยบำรุงปาล์มเต็มที่ และมีเงินถอยรถกระบะป้ายแดงมาวิ่งโชว์กัน

แต่ห้วงเวลาแห่งความสุขของชาวสวนปาล์มมีแค่นั้น เพราะเข้าเดือนมิถุนายน 2565 อินโดนีเซีย ยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม และระบายผลผลิตออกมาโครมใหญ่ ราคาปาล์มเลยดิ่งลงแบบตั้งตัวกันไม่ติด นี่ยังดีว่าปีที่แล้ว อินโดนีเซียได้ประกาศเพิ่มส่วนผสมไบโอดีเซลภายในประเทศเป็นบี 35 เลยหยุดการร่วงของราคาไว้ได้ พลอยทำให้ชาวสวนปาล์มในไทยเรายังขายผลปาล์มได้เฉลี่ยที่ กิโลกรัมละ 5.61 บาท แม้จะลดลงจากปี 2565 ลงมากว่า 2 บาท ถือว่ายังพอมีค่าปุ๋ย ค่ายา โดยรัฐยังกระตุ้นการส่งออกไปอินเดียได้เกือบล้านตัน”

พอมาปีนี้ เราโดนหลายเรื่อง ตั้งแต่การเปิดท่าเรือเพื่อส่งสินค้าเกษตรออกจากยูเครนและรัสเซีย ทำให้น้ำมันพืชที่อั้นไว้ ถูกขายออกมาในตลาดโลก จนเกิดภาวะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้ราคาน้ำมันถั่วเหลืองตกต่ำลงจนมีราคาถูกกว่าน้ำมันปาล์ม ตั้งแต่ปลายปี 2566 ต่อเนื่องต้นปี 2567 ทำให้ไทยเราส่งออกน้ำมันปาล์มได้น้อย เพราะมีราคาแพงกว่าน้ำมันถั่วเหลือง

ส่วนสถานการณ์ภายในประเทศยังเจอผลกระทบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทั้งจากปรากฏ การณ์เอลนีโญ พืชขาดน้ำ ส่งผลให้น้ำหนักและเปอร์เซ็นต์น้ำมันลดลง นอกจากนี้การใช้ไบโอดีเซลทำไม่ได้เหมือนก่อนโควิด เพราะส่วนผสมถูกกำหนดไว้แค่บี 7 ยังไม่เพิ่มกลับไปที่บี 10 เพราะการประกาศใช้มาตรฐานเชื้อเพลิงและเครื่องยนต์ยูโร 5 มาตั้งแต่วันปีใหม่ที่ผ่านมา และยังมีประเด็นเรื่องแยกลูกร่วงอีกต่างหาก

“จากการที่ได้ไปลงพื้นที่สุราษฎร์ธานี ได้พบปะหารือกับพี่น้องแกนนำชาวสวนปาล์มน้ำมันภาคใต้ทั้ง 8 จังหวัด และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กนป. ที่เป็นผู้แทนชาวสวนปาล์มน้ำมัน ทำให้ทราบปัญหาในระดับพื้นที่น่าเป็นห่วง อย่างปัญหาตัดปาล์มดิบ การแยกลูกร่วง โรคระบาดกาโนเดอร์มา ปัญหาเปอร์เซ็นต์การสกัดน้ำมันที่ตกต่ำ ปัญหาการใช้และราคาไบโอดีเซล

...

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเข้าใจและรับรู้ว่าห้วงแห่งความสุข ช่วงราคาขาขึ้นจากสถานการณ์โลกผ่านพ้นไปแล้ว ตอนนี้เรากำลังกลับเข้าสู่สภาวะระดับราคาปกติ ที่มีปัญหาถาโถมเข้ามาสู่วงการปาล์มน้ำมัน ต้องการการเอาใจใส่ดูแลอย่างจริงจังจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความร่วมมือจากทั้งชาวสวนปาล์มน้ำมัน ลานเทและโรงสกัดน้ำมันปาล์ม”

และเพื่อแก้ปัญหาที่กำลังถาโถมเข้ามา รมว.เกษตรฯ ได้สั่งการให้เรียกประชุมอนุกรรมการ เพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการผลิตในวันสิ้นเดือนนี้ โดยจะนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานเอง หลังจากที่ไม่ได้มีการเรียกประชุมมา 7 ปี

“จากนี้ไปในฐานะ รมว.เกษตรฯ ผมจะต้องได้รับรายงานหมด ในความผิดปกติต่างๆ และขอบอกว่าตอนนี้ข้อมูลอยู่ในมือผมหมด” ร.อ.ธรรมนัส ฝากคำพูดถึงผู้เข้าประชุม ที่จะนำข้อมูลหมกเม็ดมาอวดโชว์ 31 พ.ค.นี้ พี่น้องชาวสวนปาล์ม ตั้งตารอฟังผลเอาไว้ให้ดี.

ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม

...