ศูนย์คุณธรรม เปิดพื้นที่ นักสื่อสารสร้างสรรค์สังคมคุณธรรม ผ่านกิจกรรม Active Media for Society "เล่า-แลก-แตกความคิด" ขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่สื่อดีเพื่อสังคมดี
เมื่อวันที่ 16-17 พ.ค. 2567 ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรม Active Media for Society "เล่า-แลก-แตกความคิด นักผลิตสื่อสร้างสรรค์สังคม" ภายใต้โครงการสานสัมพันธ์เครือข่ายสื่อมวลชน โดยได้รับเกียรติจาก คุณวิบูลย์ ลีรัตนขจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เซิร์ช คุณชุตินธรา วัฒนกุล บรรณาธิการบริหารด้านข่าวออนไลน์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และคุณพลสัน นกน่วม เจ้าของช่อง "เล่าเรื่องแบรนด์กับ แซม พลสัน" ในการเสวนาพิเศษภายใต้หัวข้อ "ความรับผิดชอบต่อสังคมของสื่อในจักรวาลข่าวสารไร้พรมแดน" พร้อมผู้เข้าร่วมกว่า 30 คน ณ ห้อง Barn โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพมหานคร
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวถึง ยุคสมัยของดิจิทัลมีเดียเป็นยุคของการใช้ สื่ออินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร โดยเฉพาะประเด็นการสร้างและผลิตเนื้อหาประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ส่งผลต่อข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีจำนวนมาก ความถูกต้อง ข้อเท็จจริง และคุณค่าข่าวถูกลดทอนส่งผลต่อทัศนคติ
...
ด้วยเหตุนี้ ศูนย์คุณธรรมจึงจัดกิจกรรม "Active Media for Society เล่า-แลก-แตกความคิด นักผลิตสื่อสร้างสรรค์สังคม" เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนเครือข่ายทางสังคมด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่สังคมคุณธรรม พร้อมส่งเสริมค่านิยมเชิงบวกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของผู้รับสารในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และค่านิยมเชิงพฤติกรรมต่อมิติคุณธรรมด้านต่างๆ ให้ผู้คนมีจิตสำนึก รับผิดชอบต่อส่วนรวม และเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่สังคมแห่งสันติสุขต่อไป
คุณวิบูลย์ ลีรัตนขจร กล่าวว่า ในโลกยุคใหม่ที่คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตผ่านการรับข้อมูลข่าวสารออนไลน์ที่คลาดเคลื่อน จะส่งผลต่อความคิด ความเชื่อที่ผิด และนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ผิดพลาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อตนเอง ชุมชน และสังคม ดังนั้น การมีเสรีภาพจำเป็นต้องมีคุณธรรม และการแข่งขันจำเป็นต้องเปลี่ยนจากการแข่งขัน เป็นความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดี
ด้าน คุณชุตินธรา วัฒนกุล เน้นย้ำ การสร้างสื่อที่ดีต้องประกอบไปด้วยข่าวที่คนอยากรู้ กับข่าวที่คนต้องรู้ โดยมีสัดส่วนที่เหมาะสม มีการให้ข้อมูลเชิงความรู้และสร้างทางออกของสังคม
ขณะที่ คุณพลสัน นกน่วม กล่าวถึง เสรีภาพสื่อ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนดู เนื่องด้วยผู้รับสารจำนวนมากชอบความดราม่า ผู้ผลิตสื่อจึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม (Engagement) เพื่อให้สื่อของตนสามารถเข้าถึงและเป็นที่สนใจของผู้รับสาร โดยเลือกวิธีการเล่าที่ตรงจริตกับกลุ่มเป้าหมาย และช่องทางในการนำเสนอที่สนุกและหลากหลาย
กิจกรรมในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นการกระตุ้นจิตสำนึก และตระหนักถึงการสร้างสรรค์สังคมคุณธรรม และสร้าง แรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นในสังคม พร้อมทั้งร่วมกันสร้างการมีส่วนร่วม สร้างกลไกเครือข่ายสื่อมวลชน และเพิ่มศักยภาพ ในการสื่อสาร รณรงค์ สร้างพื้นที่สื่อดี เสริมสร้างค่านิยมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายผลไปยังประชาชนในวงกว้าง.