ในระยะหลัง...เรามักได้ยินข่าวการประพฤติตนไม่อยู่ในกรอบพระธรรมวินัยของนักบวชในพระพุทธศาสนาบ่อยขึ้น จนกลายเป็นข่าวในทางลบของพระพุทธศาสนารายวัน มักเกิดขึ้นกับพระภิกษุผู้มีพรรษามาก รวมถึงพระสังฆาธิการบางรูปจนกลายเป็นข่าวเศร้าหัวใจ

...สร้างความเสื่อมศรัทธาให้กับชาวบ้าน...ชาวพุทธ จำเป็นที่ทุกฝ่ายไม่ว่าพระภิกษุเอง อุบาสกอุบาสิกาเอง จะต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ป้องกันมิให้เหตุร้ายเกิดขึ้นกับนักบวชในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดและแห่งหนตำบลใดก็ตาม ทั้งหมดคือผืนแผ่นดินไทย ชาวพุทธนี่เองที่จะป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นนี้

ถ้าเหตุร้ายและข่าวร้ายเกิดขึ้นบ่อยเช่นนี้ก็ต้องยอมรับกันเลยว่า “พระพุทธศาสนา” เสื่อมอย่างแน่นอนและเสื่อมเพราะ “ชาวพุทธ” ทำให้เสื่อม

พระครูจินดาสุตานุวัตร (พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก) ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. บอกว่า ข่าวร้ายหรือความเสื่อมที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตก็คงมิได้มีเช่นนั้นตลอดไป ข่าวดีหรือความศรัทธาก็เกิดขึ้นกับ “ชาวพุทธ” มีเช่นเดียวกัน

...

เมื่อมีการประกาศผลการสอบ “บาลีสนามหลวง” ประจำปีนี้ว่าได้มีพระภิกษุและสามเณรทั่วประเทศสอบได้เปรียญธรรมมากขึ้น นับตั้งแต่เปรียญธรรม 1-2 ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาขั้นต้นไปจนถึงเปรียญธรรม 9 ประโยคเป็นที่สุด...เป็นการศึกษาสูงสุดของการศึกษาสงฆ์

ในปีนี้ได้มีพระภิกษุสามเณรสอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้มากที่สุด ได้มีสามเณรที่มีอายุน้อยที่สุดรูปหนึ่งสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคอีกด้วยคือ สามเณรที่มีอายุเพียง 10 กว่าปีเท่านั้น

ส่วนมากที่ผ่านมาผู้สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคจะมีอายุประมาณ 19 ปีขึ้นไป จนบางรูปได้กลายเป็น “นาคหลวง” คือพระมหากษัตริย์รับเป็นผู้อุปถัมภ์อุปสมบทให้ ในประวัติศาสตร์ของการเป็น “นาคหลวง” รูปแรกคือ “สามเณรเสฐียรพงษ์ วรรณปก” ซึ่งพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดทองนพคุณฝั่งธนบุรีนี่เอง

...มาปีนี้ได้เกิดสามเณรน้อยที่มีอายุน้อยที่สุดก็จำพรรษาหรือเรียนในสำนักเรียน วัดโมลีโลกยาราม และเป็นสำนักเรียนที่มีพระภิกษุสามเณรสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคมากที่สุดในปีนี้คือ สอบได้ 55 รูป จึงกลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวพุทธทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ฝั่งธนบุรี

พระครูจินดาสุตานุวัตร ย้ำว่า ข่าวดีที่สร้างความศรัทธาให้ชาวพุทธและชาวบ้านคงจะมีอยู่ตลอดไป ตราบใดที่ชาวพุทธเรายังเห็นความสำคัญและให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร คนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นทายาท ...เป็นกำลังอันสำคัญให้กับ “พระพุทธศาสนา” ของเรา

ดังนั้น “การศึกษา” เท่านั้นจึงจะช่วยสร้างสรรค์แต่ในสิ่งที่ดีและสร้างความเจริญงอกงามในพระพุทธศาสนา ศาสนทายาทจึงควรเริ่มต้นสร้างกันที่ตรงนี้

“ความไม่ดีไม่งามที่เคยกลายเป็นบ่อนทำลายศรัทธาของชาวบ้าน...ชาวพุทธก็จะเลือนรางหายไปในที่สุด...ความเป็นเลิศทางปัญญาของพระภิกษุ สามเณรในพระพุทธศาสนามีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง ความเฉลียวฉลาดในการศึกษาเล่าเรียนพระธรรม...พระวินัย จึงควรได้รับการสนับสนุน...อุปถัมภ์”

นักบวชที่รอบรู้และแตกฉานในพระธรรม...พระวินัยก็จะมีมากขึ้น เมื่อเกิดข้อสงสัยในหลักธรรมของชาวพุทธขึ้นมาเมื่อใด ก็จะได้รับคำชี้แจง หรืออธิบายที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย จนเกิดคลายความสงสัยขึ้นมาได้ แต่ที่ผ่านมาเมื่อเกิดอธิกรณ์ หรือสิ่งที่ไม่ดีไม่งามขึ้นมากับพระภิกษุหรือนักบวชรูปใด...

มักไม่ค่อยได้รับคำอธิบายหรือชี้ชัดเจนแก่ชาวบ้าน...ชาวพุทธจึงกลายเป็น “การเดา” เอาเป็นที่ตั้ง จนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของชาวบ้าน หลายๆกรณีชาวบ้านต้องรวมตัวกันเองแสดงตนมาเป็นโจทก์เสียเอง รวมถึงเข้าไปแก้ไขปัญหาเสียเองจนได้ข้อยุติเป็นที่สุด

การให้ความอุปถัมภ์ทางด้าน “การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร” จึงควรให้มีมากขึ้นกว่านี้และให้เป็นไปอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรที่กำลังศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอยู่ในสำนักเรียนต่างๆทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภัตตาหารเช้า ภัตตาหารเพล ทุนการศึกษาเล่าเรียนหนังสือ ผ้าไตรจีวร...ยารักษาโรค ฯลฯ

...

“เมื่ออาพาธขึ้นมาชาวพุทธเราทำบุญอยู่ในขณะนี้ก็ดีอยู่แล้ว แต่ควรเน้นสนับสนุน ให้ความอุปถัมภ์ด้านการศึกษาของพระภิกษุสามเณรก็จะได้บุญเกิดคุณค่าอย่างมหาศาล ปีนี้ขอให้มาร่วมใจกันอนุโมทนากับพระภิกษุสามเณรที่ประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ไม่ว่าจะเป็นรูปใดสำนักเรียนใด”

จะได้กลายเป็น “พลัง” ให้พระภิกษุสามเณรใฝ่ดีรักการเรียนมีกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยต่อไป ล้วนแต่จะเป็นผลดีต่อพระพุทธศาสนาทั้งปวง จนสร้างความมั่นคงความเจริญรุ่งเรืองให้กับพระพุทธศาสนาของเราได้อย่างดียิ่ง

“การกำจัดสิ่งที่ไม่ดีในอดีตจะต้องมีสิ่งใหม่ที่ดีเข้ามาแทน นั่นคือ เราเคยพบเห็นการประพฤติปฏิบัติที่นอกพระธรรมวินัยของพระภิกษุหรือนักบวชบางรูปจนสร้างความเสื่อมศรัทธาขึ้นมา เหตุที่ไม่ดีก็จะมีต่อไปตราบใดที่เราไม่ช่วยกันกำจัดนักบวชนอกศาสนา หรือนักบวชที่อาศัยศาสนาหากิน”

พระภิกษุรูปใดที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย ไม่อยู่ในศีล...ในธรรม ขอให้ช่วยกันกำจัดออกไปจากวัดวาอาราม วัดเป็นศาสนสถานเป็นสิทธิ์ของชาวพุทธที่จะช่วยกันให้ความอุปถัมภ์ค้ำจุน ทำให้หมดจด

...

“ศาสนสถานเป็นของชาวพุทธกันทุกคนไม่ว่าจะอยู่ท้องถิ่นใดหรือแห่งหนตำบลใด เราควรส่งเสริม...สนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบอยู่ในวัดวาอารามนั้นๆ อย่าให้กาฝากมาทำลายพระพุทธศาสนาหรือวัดวาอารามของเรา...วัดพึ่งบ้านและบ้านก็พึ่งวัด จึงควรเป็นสโลแกนที่ใช้ได้ตลอดไป”

สุดท้ายนี้อาตมาขอให้ “ชาวบ้านและชาวพุทธ” ช่วยกันดูแล สอดส่อง ให้ความอุปถัมภ์ค้ำจุนวัดวาอารามในพื้นที่ของตนหรือพื้นที่ที่ตนเองพักอาศัย สิ่งที่ไม่ดีหรือบุคคลที่ไม่ดีที่มีอยู่ภายในวัดก็ขอให้ช่วยกันขจัดออกไป สิ่งที่ดีและมีอยู่แล้ว...ก็ขอให้ช่วยกันอุ้มชูดูแลมิให้หายไป

รวมถึงส่งเสริม ให้ความร่วมมือร่วมใจ...ให้สิ่งที่ดีนั้นได้ดียิ่งๆขึ้นไป

“สามเณรน้อย” คือเด็กที่มีอายุยังไม่ถึง 20 ปี ได้บรรพชาเข้ามาในพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็น “เหล่ากอของสมณะ” ที่ชาวบ้าน...ชาวพุทธ ควรให้ความสำคัญ ให้ความใส่ใจ เพราะเด็กที่มีอายุยังเยาว์นี้ถ้าเธอมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาก็จะกลายเป็นทายาทให้กับพระพุทธศาสนาได้อย่างดี

...

ยิ่งเราได้พบเห็นสามเณรตัวน้อยๆนี้ได้ประสบความสำเร็จในการศึกษาพระธรรมวินัยตั้งแต่วัยเยาว์ หวังได้เลยว่าอนาคตทายาทของพระพุทธศาสนาจะมีคุณภาพมีศักยภาพให้กับส่วนรวมได้อย่างแน่นอน

“เราอาจได้เห็นเด็กตัวน้อยๆ รักและศรัทธาพระพุทธศาสนา อยากจะบรรพชาเป็นสามเณรเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เนื่องมาจากสิ่งเร้าที่อยู่รอบตัวเด็กได้เป็นเหตุ นับตั้งแต่บิดา...มารดาพาบุตรหลานเข้าวัดเข้าวาไปทำบุญ เข้าไปรักษาศีลภายในวัด เข้าไปพบเห็นแต่สิ่งที่ดีๆภายในวัด”

สามเณรน้อยภายใต้ร่มเงาผ้ากาสาวพัสตร์ที่กำลังจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นศาสนทายาทของพระพุทธศาสนานี้ จะเป็นความหวังชาวบ้าน... ชาวพุทธที่จะได้พบเห็นความสะอาด ความสว่าง ความสงบใน “พระธรรม” ของพระพุทธองค์...เป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา รักษาวัดวาอารามต่อไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม