โครงการ “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” เดินหน้าเต็มกำลัง นอกเหนือจากการไปรับบริการในโรงพยาบาลรัฐที่ไหนก็ได้ใน 12 จังหวัดนำร่องแล้ว ความพิเศษอีกอย่างคือโครงการนี้ยังมีคลินิกเอกชนประเภทต่างๆเข้ามาร่วมให้บริการด้วย
ข้อดีสำคัญ...นอกจากไม่ต้องจ่ายเงินเองก็คือสามารถไปรับบริการใกล้บ้าน ไม่ต้องรอคิวนานเหมือนไปโรงพยาบาล อีกทั้งเวลาเปิดทำการก็ยืดหยุ่นกว่าโรงพยาบาลของรัฐ ทำให้อัตราการเข้าถึงบริการสูงขึ้น
“คลินิกเอกชน” ที่เข้าร่วมให้บริการแก่ผู้มีสิทธิ “บัตรทอง” จะมี 7 ประเภท คือ 1.ร้านยา 2.คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น 3.คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น 4.คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น 5.คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น 6.คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น และ 7.คลินิกแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น
น่าสนใจว่าจากการนำร่องโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จนถึง ปัจจุบัน “คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น” ผู้ใช้สิทธิชื่นชอบมากที่สุด
ทพ.อดิเรก วัฒนา ผู้ก่อตั้งคลินิกทันตกรรม ทันตแพทย์อดิเรก จ.แพร่ บอกว่า โดยหลักการแล้วโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ดี เป็นมิติใหม่ของวงการสุขภาพ จึงศึกษาข้อมูล...ปรึกษากับทีมงานและตัดสินใจสมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบ สปสช. โดยเตรียมทันตแพทย์ ผู้ช่วยฯ เพื่อรองรับผู้รับบริการที่เพิ่มขึ้น
...
“เราวางแผนการให้บริการให้เป็นที่พึงพอใจแก่ทั้งผู้ใช้สิทธิบัตรทองและผู้ป่วยที่จ่ายเงินเอง เช่น การจัดช่องทางบริการที่เป็นสัดส่วน การ จัดระบบนัดหมายเพื่อไม่ให้ผู้รับบริการต้องรอคิวนาน หลังเริ่มให้บริการตามนโยบายนี้พบว่าประชาชนให้การตอบรับที่ดีมาก ทั้งในแง่จำนวนที่เพิ่มขึ้น ความพึงพอใจ รู้สึกสะดวกรวดเร็ว”
เดิมทีต้องไปโรงพยาบาล รอคิวนาน สถานที่มีความแออัด...มารับบริการที่คลินิกเอกชนสะดวกกว่า ที่สำคัญคือระยะเวลาการให้บริการของเอกชนมีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับวิถีชีวิตมากกว่า
“การที่คลินิกทันตกรรมเอกชนเข้าร่วมให้บริการในระบบบัตรทองถือว่าเป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ประชาชนเข้าถึงบริการปฐมภูมิด้านทันตกรรมมากขึ้น ทำให้การเจ็บป่วยนั้นได้รับการรักษาที่รวดเร็ว เช่น ได้รับการอุดฟันอย่างทันท่วงที รอยโรคก็จะหยุดอยู่แค่นั้น ไม่ลุกลามไปถึงขั้นถอนฟันหรือรักษารากฟันในอนาคต”
โรคเกี่ยวกับ “ฟัน” จะมีความซับซ้อนและค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงกว่า
ทพ.นฤชิต ทองรุ่งเรืองชัย เจ้าของคลินิกโนนสังทันตกรรม อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู เสริมว่า การเข้าร่วมโครงการกับ สปสช. ประโยชน์ที่คลินิกจะได้รับคือ เป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น มีจำนวนผู้รับบริการ มากขึ้นส่วนการดูแลเราจะพูดคุยกับคนไข้อยู่แล้วว่าจะมีการตรวจแล้ววางแผนการรักษา
ถ้าเป็นการรักษาขั้นพื้นฐานเราก็ให้บริการได้เลย แต่ถ้าเป็นการ รักษาที่ยุ่งยากซับซ้อนก็จะแนะนำให้ไปที่โรงพยาบาล...โรงพยาบาลก็จะได้ลดความแออัด คนไข้ก็มีความสะดวก มีช่องทางรับบริการที่หลากหลายมากขึ้น
“อยากฝากถึงเพื่อนๆทันตแพทย์ว่า เวลาทำจริงๆ ตอนสมัครอาจมีขั้นตอนหลายขั้นตอน แต่ถ้าผ่านขั้นตอนการสมัครแล้ว กระบวนการเบิกจ่ายต่างๆก็เป็นไปตามที่ สปสช.สัญญาไว้ และการใช้งานโปรแกรมต่างๆก็ไม่ยาก ถ้าเทียบประโยชน์ที่ได้เมื่อเทียบกับการลงทุนแล้วถือว่าคุ้มค่า...อยากเชิญชวนให้มาร่วมโครงการนี้”
บริการด้านทันตกรรมเป็นสิ่งที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองชื่นชอบมากที่สุด ในช่วงนำร่องโครงการ “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” เฟสที่ 1-2 มีคลินิกทันตกรรมเอกชนร่วมให้บริการทั้งหมด 106 แห่ง...มีการให้บริการประชาชนไปแล้วประมาณ 10,000 คน
หรือ...คิดเป็นจำนวนการรับบริการมากกว่า 15,000 ครั้ง โดย เฉลี่ยประชาชน 1 คน มารับบริการ 1.5 ครั้ง
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่า จากการสอบถามประชาชนว่ามาใช้บริการแล้วเป็นยังไงบ้าง ก็ได้รับคำตอบว่าประชาชนมีความสุขมากเลยเพราะได้เข้าถึงบริการโดยที่ใช้เวลาน้อย ไม่ต้องรอคอยนานเหมือนเมื่อก่อน...ไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย
และ...คลินิกทันตกรรมก็มีการกระจายมากขึ้น
ลงลึกในรายละเอียด “บริการทันตกรรม” ที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถไปรับบริการที่คลินิกได้ฟรีจะมี 5 รายการ ได้แก่ การขูดหินปูน การอุดฟัน การถอนฟัน การเคลือบหลุมร่องฟัน และการเคลือบฟลูออไรด์
...
สปสช.ให้สิทธิในการรับบริการ 3 ครั้งต่อปี ซึ่งแม้จะดูเหมือนน้อย แต่ตัวเลขนี้ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วว่า สามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมให้แก่ประชาชนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้สปสช. สามารถจัดสิทธิประโยชน์แก่ประชาชนได้ โดยไม่เป็นภาระงบประมาณมากเกินไป
อย่างไรก็ดี หากใช้สิทธิรับบริการครบ 3 ครั้งแล้ว และยังมีปัญหา สุขภาพช่องปากที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อก็ยังสามารถไปรับบริการได้ที่หน่วยบริการประจำของตนเองได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม
ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภา คนที่ 1 ย้ำว่า ทันตแพทยสภามองภาพของคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมให้บริการในโครงการนี้ว่าเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ดังนั้นการให้บริการจึงไม่ใช่แค่ขูดหินปูน ถอนฟัน อุดฟัน แต่จะดูแลประเมินความเสี่ยงสุขภาพช่องปากผู้รับบริการและวางแผนการรักษาทั้งหมด
จากนั้น...จึงจะทำหัตถการที่จำเป็น ซึ่งในขณะนี้ สปสช.กำหนดให้ใช้สิทธิรับบริการได้ฟรีไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี ดังนั้น...หากปัญหาสุขภาพในช่องปากยังรักษาได้ไม่หมด ในครั้งที่ 4, 5 หรือ 6 ก็สามารถไปรับบริการต่อที่โรงพยาบาลรัฐ หรือ...ถ้าสามารถจ่ายได้เองก็รับบริการต่อเนื่องที่คลินิกเลย
...
สำหรับเป้าหมายการเพิ่มจำนวน “คลินิกทันตกรรมเอกชน” ให้เข้ามาร่วมให้บริการผู้มีสิทธิบัตรทอง ทพ.ธงชัย มองว่า ปัจจุบันมีคลินิกทันตกรรมเอกชนทั่วประเทศประมาณ 7,000 แห่ง ถ้าหักคลินิกในพื้นที่ กทม.ออกจะเหลือประมาณ 4,000 กว่าแห่ง
ในจำนวนนี้ทันตแพทยสภาตั้งเป้าว่าจะมีคลินิกทันตกรรมเอกชนเข้าร่วมประมาณ 25% หรือประมาณ 1,000 แห่ง
ตอกย้ำมุมมองปิดท้ายจาก “คลินิกทันตกรรมเอกชน” ที่เข้าร่วมโครงการนี้กับการตัดสินใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายบริการกับ สปสช.
ทพ.โปรัตน์ อยู่ไทย คลินิกทันตกรรมโปรัตน์ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่เข้าร่วมให้บริการแก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีประชาชนมารับบริการเพิ่มขึ้นถึง 20% ส่วนตัวรู้สึกพึงพอใจค่อนข้างมาก เนื่องจากได้ช่วยให้ประชาชนรับบริการได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องรอนาน ไม่ต้องไปรอคิวตั้งแต่ตี 3-4
ที่สำคัญคือ...ในจำนวนผู้มารับบริการที่เพิ่มขึ้นนี้มี “ผู้สูงอายุสิทธิบัตรทอง” ที่ไม่เคยไปรับบริการทันตกรรมที่หน่วยบริการเลยสักครั้งในชีวิต ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ทำให้เลือกไม่ไปรับบริการหรือเข้าไม่ถึงบริการ แต่มารับบริการที่คลินิกเป็นครั้งแรก
กล่าวได้ว่า...หากไม่มีนโยบายในลักษณะนี้ จะมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่อาจไม่ได้รับบริการทันตกรรมเลยตลอดชีวิตทั้งๆที่สุขภาพช่องปากเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยตรง.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม