ฤดูร้อนปีนี้คนไทยทั่วทุกภูมิภาค ต้องเจอกับ “สภาพอากาศร้อนสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน เม.ย.” ส่งผลให้อุณหภูมิสูงสุด ประมาณ 43–44 องศาฯ จนหลายพื้นที่ทำลายสถิติของตัวเองเมื่อเทียบกับในอดีตกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็น “ความเปราะบางของโลก” จากการใช้พลังงานฟอสซิลก่อเกิดก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก “ห่มคลุมโลกกักเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์” ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้อากาศแห้งแล้ง “ร้อนจัด” คาดว่าจะอ่อนกำลังลงกลางเดือน พ.ค.2567 นี้

ก่อนจะเข้าสู่ “ปรากฏการณ์ลานีญา” ที่อาจทำให้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันและน้ำท่วมได้นี้ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต บอกว่า ปีนี้อากาศร้อนจัดทำลายสถิติเกือบทุกพื้นที่แถมอุณหภูมิยังสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30 ปี 4-5 องศาฯ กระทบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน

...

สาเหตุก็มาจาก 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องแรก... “โลกร้อน” อันเกิดจากการใช้พลังงานจากฟอสซิลเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP แต่ละประเทศ ตามรายงานกลุ่มประเทศยุโรปเป็นกลุ่มเดียวที่ปล่อย CO2 ลดลง ขณะที่จีน อินเดีย กลุ่มทวีปเอเชีย และทวีปอเมริกาเหนือยังใช้พลังงานปลดปล่อย CO2 เพิ่มขึ้น 1-5% ในปี 2565

ทั้งที่ต้องลดลง 9% ต่อปี ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก “เดือน เม.ย.ปีนี้สูงขึ้น 1.8 องศาฯ” เกินขีดจำกัดข้อตกลงปารีสที่จะไม่ให้โลกสูงเกิน 1.5 องศาฯ เรื่องที่สอง...“อิทธิพลเอลนีโญ” นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2566 เอลนีโญยกระดับดีดตัวขึ้นส่งผลกระทบยาวต่อเนื่องไปอีก 4-6 เดือน

ทั้งยังมีกรณี “ภูเขาไฟระเบิดในไอซ์แลนด์ และอินโดนีเซีย” ทำให้ฝุ่นเถ้าถ่านปกคลุมท้องฟ้าเป็นม่านเรือนกระจกทำหน้าที่คล้ายผ้าห่มโลกไม่ให้ความร้อนแสงอาทิตย์สะท้อนออกได้สะดวกเกิดความร้อนสะสม

แถมมีปัจจัยย่อยจากดวงอาทิตย์ปล่อยพลังงานมากในรอบ 11 ปี “อุณหภูมิสูงขึ้น 0.2 องศาฯ” สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นชนวนกระตุ้นโลกร้อนจนช่วงที่ผ่านมา “ประเทศไทย” เจอสภาพอากาศร้อนสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีการก่อน

ไม่เท่านั้น “อากาศร้อนจัดนี้” กลับมีผลถึงพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นน้อยลง เพราะปกติอากาศที่ร้อนจัดติดต่อกันหลายวันมักก่อตัวเป็น “เมฆ” แล้วมวลอากาศเย็นทะเลอ่าวไทยก็เข้ามาปะทะมวลอากาศร้อน “เกิดเป็นฝนฟ้าคะนอง” แต่ปีนี้สภาพอากาศร้อนจัดทำให้ไม่มีกำลังลมแรงพอนำความชื้นเข้ามาได้

ปัญหาว่า “อุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์” ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เคยเกิดมาก่อนเช่น “GDP ภาคการเกษตรต้นปีนี้ลดลง 4.1%” โดยด้านพืชลบ 6.4% ทุเรียนสุกเร็วไม่หวานเสียหาย 30-40% มะพร้าวไม่ติดลูกเสียหาย 90% องุ่นให้ผล-น้ำน้อยเสียหาย 70% มูลค่าความเสียหายกว่า 6 หมื่นล้านบาท

สาเหตุที่ความเสียหายมากกว่าทุกปีนั้นมาจาก “การเกิดเอลนีโญรุนแรง” แม้ปีนี้ระดับความรุนแรงต่ำกว่าในอดีตปี 2541 บวก 2.4 ปี 2553 บวก 2.6 ปี 2567 บวก 2.0 แต่ความรุนแรงของดัชนีภัยแล้งกลับสูงกว่าด้วยซ้ำ

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์

...

ดังนั้นการคาดการณ์ดัชนีภัยแล้งสามารถบ่งชี้ว่า “จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตข้างหน้า 1–24 เดือน” เพื่อใช้ในการวางแผนความเสี่ยงต่อเหตุการณ์สภาพอากาศอันเลวร้ายนี้

เหตุผลหลักที่ปี 2567 “มีดัชนีภัยแล้งรุนแรง” ก็มาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง “แม้บางพื้นที่จะมีน้ำต้นทุนดีก็ตาม” ขณะเดียวกัน ความเสียหายทางภาคเกษตรกรรมยังขึ้นอยู่กับพื้นที่ และการเตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์การประยุกต์องค์ความรู้ใหม่

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ปรากฏการณ์ลานีญาโดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังกว่า 50 ปี “พบความเป็นไปได้ในการเกิดน้ำแล้ง และน้ำท่วมมีความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์เอนโซ่” อันเป็นความผันแปรของปรากฏการณ์ธรรมชาติในมหาสมุทรแปซิฟิก 25% จึงต้องประเมินสถานการณ์ต่อไป

ประเด็นมีอยู่ว่า “ประเทศไทยผ่านความร้อนแบบสุดขั้วแล้ว” นับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ค.2567 อุณหภูมิจะลดต่ำลงไม่เกิน 40 องศาฯ “บางพื้นที่ก็จะเริ่มมีฝนตก 10–20 มิลลิเมตรต่อวัน” ทำให้ได้รับความชุ่มชื้นบ้างโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พอผ่อนคลายความร้อนได้มาก

ยิ่งกว่านั้นตอนนี้กำลังเป็นการเปลี่ยนผ่านจาก “เอลนีโญไปสู่ลานีญา” ทำให้ปริมาณน้ำในช่วงต้นฝนเดือน เม.ย.-พ.ค 2567 “ยังไม่ค่อยดีนัก” แต่เมื่อเข้าสู่กลางฤดูฝนปริมาณน้ำจะเริ่มดีขึ้น “อุณหภูมิร้อนจะลดลง” โดยเฉพาะตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไปจะเข้าสู่โหมดลานีญาระดับกลางที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้ปริมาณน้ำฝนดีขึ้นเรื่อยๆ

...

กระทั่งทำให้บางพื้นที่ฝนตกหนักอย่างเช่น “ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้” ที่อาจจะต้องเกิดน้ำท่วมลักษณะน้ำรอการระบาย 4-5 วัน ในส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้วยเพราะฝนตกอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยปกติ “ปริมาณฝนก็มีน้อยตาม” เรื่องนี้อาจกระทบปี 2568 ต้องเจอกับปัญหาน้ำต้นทุนน้อย

ถ้ามาดูสถานการณ์ “น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ตอนนี้” ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ปริมาณน้ำเก็บกักเหลือในเกณฑ์น้อยต่ำกว่า 30% ของความจุเขื่อน เช่นนี้ก็ต้องมานั่งลุ้นกันต่อว่าปริมาณน้ำฝนจากอิทธิพลลานีญาจะตกลงเหนือเขื่อนหรือไม่ แต่ด้วยที่ผ่านมาฝนมักจะตกใต้เขื่อนเป็นส่วนใหญ่

สาเหตุเพราะตามปกติในช่วงนี้ “ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านตอนบนของประเทศ” แต่ด้วยฝนกลับมาช้าในปลายปีอันเป็นช่วงร่องมรสุมเคลื่อนลงมา “ภาคกลาง” กลายเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งต่อไปอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้คงต้องลุ้นกับ “พายุเคลื่อนเข้ามาในไทย” อันจะเป็นปัจจัยเข้ามาช่วยให้น้ำเข้าเติมเต็มเขื่อนหลักในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน แล้วปีนี้คาดการณ์ว่าระหว่างเดือน พ.ค.-ต.ค.จะมีพายุโซนร้อนเกิดขึ้นประมาณ 18 ลูก จากเฉลี่ย 20 ลูก และพัฒนาเป็นพายุไต้ฝุ่น 10 ลูก จากเฉลี่ย 13 ลูก

...

“เส้นทางพายุกว่า 90% มักวนขึ้นบนฝั่งไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ส่วนอีก 10% อาจจะเคลื่อนเข้ามายังประเทศไทยประมาณ 1-2 ลูก แต่การคาดการณ์ฝนล่วงหน้ามีความไม่แน่นอนรัฐบาลต้องติดตามสถานการณ์พร้อมบริหารความเสี่ยงหากมีเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อน้ำท่วมในพื้นที่” รศ.ดร.เสรี ว่า

ตอกย้ำปัญหา “ประเทศไทยบริหารน้ำแบบปีต่อปี” ด้วยการเก็บน้ำในปีนี้ก็มักใช้ให้หมดภายในปีเลยแล้ว “อาศัยดวง หรืออาศัยแห่นางแมว” เพื่อรอให้ฟ้าส่งน้ำฝนลงมา กลายเป็นว่า “เกษตรกรไทย” ต้องเผชิญภัยแล้งมาตลอด ดังนั้นรัฐบาลต้องบริหารความเสี่ยงให้มีปริมาณน้ำต้นทุนก่อนเข้าฤดูฝนปีถัดไปคือ 60% ของความจุ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก้ปัญหา “การทำนาปรัง” ที่ค่อนข้างใช้น้ำมากแต่กลับมีผลผลิตต่ำลงเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ไร่ต่อ 430 กก. แต่ถ้าเปรียบเทียบกับ “ประเทศเวียดนามและอินเดีย” มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพาะปลูกข้าวนาปรังจนสามารถสร้างผลผลิต 1,000 กก.ต่อไร่ หรือออสเตรียได้ผลผลิต 1,700 กก.ต่อไร่

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า “รัฐบาลประเทศเหล่านี้” ให้ความสำคัญกับการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องสนับสนุนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างผลผลิตทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการบริหารน้ำต้นทุนให้สามารถใช้ได้อย่างน้อย 3 ปี เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดภัยแล้งรุนแรง

เพราะคาดการณ์ในช่วงกลางปี 2568-2569 “ลานีญาจะเปลี่ยนผ่านกลับไปสู่เอลนีโญอีกครั้ง” หากกลับมาเป็นเอลนีโญจริงๆ สถานการณ์อาจจะวิกฤติกว่าปี 2567 เพราะตอนนี้พื้นที่ตอนบนมีน้ำเพียง 30% ทำให้ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เพราะการพยากรณ์ระยะยาวยังมีความคลาดเคลื่อนได้เสมอ

นี่คือสถานการณ์สภาพอากาศ สะกิดเตือน “รัฐบาล” ถึงเวลาต้องกำหนดแผนกลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรมโดยให้ความสำคัญกับ “มาตรการปรับตัว” เพื่อประชาชนจะได้มีองค์ความรู้ และตระหนักถึงภัย Climate Change ที่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะครับ...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม