ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมลงนามความร่วมมือ “การวิจัย พัฒนา ผลิต จำหน่าย และสนับสนุนการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพในการเข้าถึงยาชีววัตถุอย่างถ้วนหน้าให้กับคนไทย” โดย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า เป็นการร่วมวิจัย พัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายยาแอนติบอดีภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง สร้างหลักประกันด้านสุขภาพต่อการเข้าถึงยานี้ในวงกว้างสำหรับผู้ป่วยมะเร็งด้วยราคาที่เหมาะสม มีระยะเวลาเบื้องต้น 15 ปี
ด้าน นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้ากลุ่มวิจัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนายาแอนติบอดีต่อ PD-1 เพื่อรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 โดยการสนับสนุนจากเงินบริจาคของประชาชนกว่า 400 ล้านบาท จนสำเร็จในการพัฒนาเซลล์ตั้งต้นสำหรับผลิตยา และผ่านการทดลองขั้นสูงกับลิงพบความปลอดภัย จากนี้จะนำสู่การวิจัยในมนุษย์ในผู้ป่วยมะเร็งปอด 100 คนในปีหน้า จึงได้ร่วมกับ อภ.เพื่อการวิจัยคลินิกก่อนขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และนำสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม เป้าหมายจะดำเนินการให้สำเร็จภายใน 2 ปี คาดจะทำให้ต้นทุนยาต่ำลงเหลือเพียงหลักหมื่นบาทจากที่ต้องจ่ายหลักกว่าแสนแสนบาทต่อเข็ม ถือเป็นยากลุ่มแอนติบอดีตัวแรกที่นักวิจัยไทยผลิตได้เอง
ขณะที่ พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการ อภ.กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมศึกษาวิจัยทางคลินิกและการผลิตระดับอุตสาหกรรม คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอีก 700 ล้านบาท.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่
...