เราได้ยินเรื่องคาร์บอนเครดิตมาช้านานไม่ต่ำกว่า 2 ทศวรรษ นับแต่ประเทศไทยได้เข้าร่วมให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต เมื่อปี 2545 และ และในปี 2550 ครม.ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. หรือ Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization : TGO)

แต่กาลเวลาที่ผ่านมา การซื้อขายคาร์บอน ต้องทำกันยังไง ใครจะซื้อ จะขายที่ไหน จะปลูกพืชอะไรแล้วขายคาร์บอนได้ บ้านเราไม่มีหน่วยงานไหนอธิบายให้เข้าใจง่ายๆได้เลย...มันเลยทำให้การซื้อขายคาร์บอนของเราไปไม่ถึงไหน

ทั้งที่ตลาดนี้มูลค่าการซื้อขายมหาศาล เฉพาะปีที่แล้วมีการขายคาร์บอนกันทั่วโลกมากถึง 949 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยกว่า 35 ล้านล้านบาท

และโลกได้จัดให้ “คาร์บอน” เป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งไปแล้ว โดยตลาดใหญ่อยู่ในสหภาพยุโรปกว่า 87% ของตลาดคาร์บอนทั้งหมดของโลก

...

การขายคาร์บอนในบ้านเรา ยังวนเวียนอยู่แค่ในภาคป่าไม้ ต้นไม้ยืนต้น แต่ภาคเกษตรที่มีพืชเศรษฐกิจหลัก ไม่ว่าข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, อ้อย สามารถขายคาร์บอนได้ ที่ไม่เป็นโล้เป็นพายมานาน กำลังมีท่าทีว่ากำลังจะเป็นรูปเป็นร่าง เป็นจริงเป็นจัง ในยุค ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ นี่แหละ

“ที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นผมไม่ทราบ แต่จากนี้ไปเราต้องขับเคลื่อนจริงจัง ให้คาร์บอนเป็นสินทรัพย์ของพี่น้องเกษตรกร ที่จะต้องขายได้จริง จับต้องเป็นเงินเป็นทองได้ ผมได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร หาข้อมูล ศึกษาวิจัยว่าพืชเศรษฐกิจใด ลดคาร์บอนได้เท่าใด กักเก็บได้เท่าใด และจะขายได้เท่าใด ขายที่ไหน ขายอย่างไร ต้องติดต่อใคร อย่างเป็นรูปธรรม

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย พี่น้องเกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ทำเองไม่ได้หรอก เขาเข้าไม่ถึง มีแต่บริษัทใหญ่ที่ทำกัน ดังนั้น ผมสั่งการว่า เราต้องมีกลไกอย่างง่าย ที่ช่วยให้เกษตรกรทุกคนเข้าถึงตลาดคาร์บอน ต้องมีการรวมแปลงใหญ่ เพื่อทำข้อตกลงกับ ผู้ซื้อ มีกลไกเสมือนพี่เลี้ยงดำเนินการให้”

ร.อ.ธรรมนัส ให้ข้อมูลถึงพืชเศรษฐกิจหลักในภาคเกษตร ที่กักเก็บคาร์บอนได้มากที่สุดคือ ยางพารา มีพื้นที่ปลูก 22 ล้านไร่ จะกักเก็บ คาร์บอนได้ 92 ล้านตัน

รองลงมาคือ อ้อย มีพื้นที่ปลูก 11.5 ล้านไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 38 ล้านตัน...มันสำปะหลัง มีพื้นที่ปลูก 9 ล้านไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 27 ล้านตัน...ปาล์มน้ำมัน พื้นที่ปลูก 6.5 ล้านไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 17 ล้านตัน...ข้าวมี 62 ล้านไร่ การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง จะลดคาร์บอนได้ 37 ล้านตัน

รวมพืชหลัก 5 ชนิดนี้ จะกักเก็บคาร์บอนได้ 211 ล้านตัน หากขายคาร์บอนได้แค่ตันละ 100 บาท จะได้เงิน 21,100 ล้านบาท ให้เกษตรกรเอาไปแบ่งกัน

แต่ในต่างประเทศขายคาร์บอนได้ตันละ 400-500 บาท

...

ถ้าเรายกระดับได้เหมือนในต่างประเทศ คาร์บอนของพืชหลัก 5 ชนิดในภาคการเกษตร จะมีค่ามากเป็นแสนล้านเลยทีเดียว นี่จะเป็นหนทางเพิ่มรายได้ให้พี่น้องเกษตรกร

“ข้อสั่งการของผมชัดเจน หน่วยงานในกระทรวง เกษตรทุกหน่วยงานต้องขับเคลื่อนให้เกษตรกรจับต้องเงินจากการขายคาร์บอน ภาคการเกษตรให้ได้เร็วที่สุด” รมว.ธรรมนัส กล่าวทิ้งท้ายให้คิดกัน.

ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม