ความท้าทายของภาค “การท่องเที่ยวไทย” ในปัจจุบันคือการสร้างความสมดุลของตลาดนักท่องเที่ยว เนื่องจากตลาดการท่องเที่ยวทั่วโลกมีการแข่งขันกันรุนแรง และในอดีตเราก็พึ่งพาตลาดการท่องเที่ยวต่างชาติประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป
ในปี 2566 ที่ผ่านมา...การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยรายงานว่า “กรุงเทพมหานคร” เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวน 25.79 ล้านคน
สร้าง “รายได้” จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 5.87 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 137 ประเด็นสำคัญมีอีกว่า “กรุงเทพฯ” ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่ดีที่สุด...“Best Cities 2024” ในประเภทเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิก
สำหรับข้อมูลในช่วงไตรมาสแรกปี 2567 นี้ ยังพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดกรุงเทพฯ 7.37 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 14
สามารถสร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 1.78 แสนล้านบาท
“ปัจจุบัน...กลไกขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติโควิด-19 คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจในภาคบริการและภาคการค้า...” ดร.อภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) บอกอีกว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีโอกาสได้รับประโยชน์จากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น เราจึงร่วมกับกรมสรรพากร เดินหน้ามาตรการการคืน “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ให้แก่นักท่องเที่ยว
...
หรือที่เรียกว่า “VAT Refund for Tourist (VRT)”
มาตรการนี้ทำให้ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” มีแรงจูงใจในการซื้อสินค้ามากขึ้น เพราะสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จ่ายไปในประเทศไทยได้ ซึ่งจะทำให้...“ราคาสินค้า” นั้นถูกลง
แน่นอนว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือการเพิ่มการซื้อขายสินค้า นำไปสู่การหมุนเวียนเงินในประเทศ ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน...รายได้สูงขึ้นในหลายภาคส่วน เช่น ภาคการค้า การผลิต...บริการต่างๆ
“การที่นักท่องเที่ยวสามารถขอคืนภาษีได้ ทำให้สินค้าและบริการในไทยมีราคาที่แข่งขันได้มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดต่างประเทศ ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถดึงดูดลูกค้าต่างชาติได้ดียิ่งขึ้น”
อีกทั้งการที่มีการคืนภาษีให้กับนักท่องเที่ยวก็ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยให้เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว ส่งผลให้เมืองไทยเป็นที่นิยมและมีการแนะนำให้มาเที่ยวกันอย่างต่อเนื่อง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า...โอกาสที่จะกระจายรายได้ไปยังจังหวัดต่างๆก็มีมากขึ้น “นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ VAT REFUND มักจะเดินทางไปยังหลายจังหวัดเพื่อช็อปปิ้งและท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลดีต่อการกระจายรายได้และการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น”
การที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายในประเทศไทยและรับการคืนภาษี จะช่วยเสริมสร้าง “การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” เนื่องจากส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยไม่มุ่งเน้นเพียงแต่ทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น
มาตรการ VAT Refund for Tourists : VRT จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย และช่วยให้ “ประเทศไทย” เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
จากสถิติการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว (VRT) ของกรมสรรพากรพบว่า ภาพรวมมีร้านค้าทั่วประเทศขึ้นทะเบียนจำนวน 11,088 ร้านค้า น่าสนใจว่า...จำนวนนี้เป็นร้านค้าของผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีเพียง 2,000 ร้านค้า หรือคิดเป็นร้อยละ 18 เท่านั้น
ประเด็นสำคัญมีว่า...ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขึ้นทะเบียน VRT จำนวน 1,133 ร้านค้า หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขึ้นทะเบียน VRT ทั้งประเทศ
หากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี หาดใหญ่ ฯลฯ ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนในระบบ VRT...มาตรการการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ก็จะสร้างโอกาสให้เข้าถึงเครื่องมือที่ช่วยจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเป็นลูกค้า
“การเป็นผู้ประกอบการ VRT ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีให้ดูมีความเป็นมืออาชีพ มีมาตรฐาน ซึ่งจะได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ...อาจส่งผลให้มีการเพิ่มเติมของลูกค้าภายในประเทศด้วย นั่นหมายถึงโอกาสสร้างรายได้...เสริมสร้างภาพลักษณ์ในยุคที่ตลาดเปิดกว้าง การแข่งขันสูง”
สสว.มีบทบาทเป็นผู้นำในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ ผ่านกลไกการพัฒนา...เข้าถึงตลาดทั้งระบบออนไลน์ ออฟไลน์ รวมทั้งมาตรการต่างๆเพื่อสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพและสร้างโอกาสที่สอดคล้องกับธุรกิจ สำหรับมาตรการความร่วมมือข้างต้นนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น
...
ยุคนี้ประเด็นสำคัญที่ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องให้ความสำคัญ คือ “ความยั่งยืน”
วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) บอกว่า เราจะบูรณาการผลักดันการส่งเสริมผู้ประกอบการ เพื่อให้มีศักยภาพเท่าทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงข้อมูลสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง...ภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในมิติต่างๆ
ยกตัวอย่าง “SME Privilege Club คลับพิเศษสำหรับ SME” มุ่งเน้น 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มผลิตภาพ...ลดต้นทุน การขยายช่องทางการตลาด และด้านการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริม พัฒนาผู้ประกอบการ อีกทั้งยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล...รับรู้ความต้องการของผู้ประกอบการ
...
เราจะเดินหน้าทำหน้าที่เคียงข้าง “SME” ...คู่คิดที่ดีผู้ประกอบการไทยตลอดไป ติดตามข่าวสาร ศึกษาเรียนรู้ นโยบายต่างๆไปด้วยกันได้ผ่านแอป “SME connect”
ตอกย้ำมาตรการ VRT...คืน “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ขอร่วมเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆชิ้นหนึ่งขับเคลื่อนทำให้มีส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น
ที่สำคัญยังเป็นการสนับสนุนให้ “เอสเอ็มอี” เข้าสู่ระบบ (Formalization) เพิ่มขึ้นมากอีกด้วย
รายละเอียดคร่าวๆก็คือ เราจะจัดกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งกลุ่มที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบ VRT ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และรู้ถึงช่องทางเข้าร่วมมาตรการได้โดยสะดวก ขณะเดียวกันกลุ่มที่อยู่ในระบบ VRT อยู่แล้ว ก็จะได้รับการสนับสนุนให้อยู่ใน VRT Blockchain ...เก็บข้อมูลบัญชีธุรกรรม
เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคืนภาษี ให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
เร็วๆนี้ก็มีการสัมมนาหัวข้อ “สร้างจุดแข็ง เพิ่มจุดขาย ด้วยกลยุทธ์ 3R ภายใต้มาตรการ VRT” ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ เป็นการจัดกิจกรรมครั้งที่ 4 หลังจากจัดนำร่องครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปลายปีที่แล้ว และเดือนสองเดือนที่แล้วก็มีการจัดกิจกรรมไป 2 ครั้ง ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดภูเก็ต
...
คาดว่า...ในปี 2567 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะสามารถสร้างมูลค่าการขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่าปี 2566 รวมทั้งพัฒนาศักยภาพธุรกิจให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม