ผมนึกถึงเสียงวิพากษ์เกรี้ยวกราด คำพูดที่ไม่ตรงใจนักการเมืองวัยละอ่อน จากสื่อรุ่นพ่อใหญ่ แล้วพยายามคิดว่าถ้าเนื้อหาเดียวกัน ออกจากปากพระฝรั่งอย่างสมภารวัดพุทธในออสเตรเลีย “พระอาจารย์พรหม” ตามวิสัยพระที่จะสอนด้วยความเมตตา ท่านจะสอนออกมาแบบไหน?

เจอเรื่อง หินมีค่า ในชวนม่วนชื่น เล่ม 1 เคยเขียนไปแล้ว แต่เห็นว่าตรงใจ ใช่ไม่ใช่ ลองอ่าน

ในชั่วโมงบรรยายพิเศษให้นักศึกษาปริญญาโท วิชาเศรษฐศาสตร์สังคม คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในอเมริกา ท่านศาสตราจารย์ไม่ได้บอกนักศึกษาว่า จะบรรยายหัวข้ออะไร

ท่านอุ้มโถแก้วเปล่าใบหนึ่งมาวางบนโต๊ะ แล้วดึงถุงที่เต็มไปด้วยก้อนหินจากใต้โต๊ะขึ้นมา ค่อยๆหยิบก้อนหินใส่ในโถทีละก้อนๆจนไม่สามารถใส่ได้อีกต่อไป

คำบรรยายประโยคแรกจึงเริ่ม ท่านถามนักศึกษาว่า “โถนี่เต็มหรือยัง?”

หลายเสียงตอบ “เต็มแล้ว”

ท่านศาสตราจารย์ยิ้ม แล้วดึงถุงที่สองออกมาจากใต้โต๊ะ ถุงนี้เต็มไปด้วยกรวด เขาค่อยๆใส่กรวดลงไปในโถ

เขย่าๆจนกรวดเล็กๆนั้นเข้าไปอยู่ตามซอกต่างๆระหว่างก้อนหิน

ถึงคำถามที่สอง “โถนี่เต็มหรือยัง?”

คราวนี้พวกนักศึกษาเริ่มรู้ทาง...พวกเขาตอบว่า “ยังไม่เต็ม”

แน่นอน คำตอบนักศึกษาถูก ท่านศาสตราจารย์ดึงถุงต่อไปขึ้นมา คราวนี้มันเป็นถุงใส่ทรายละเอียด เขาค่อยๆจัดการให้ทรายลงไปแทนที่ช่องว่างระหว่างก้อนหินและก้อนกรวด

แล้วก็ถึงคำถามเดิมๆ “โถนี่เต็มหรือยัง?”

สถานการณ์ถึงขั้นนี้ พวกลูกศิษย์เริ่มรู้จักอาจารย์ดี จึงตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “อาจจะยัง”

...

คำตอบนี้ อาจารย์ยิ้มอีก แล้วท่านก็หยิบเหยือกน้ำเล็กๆออกมา ค่อยๆเทน้ำลงไปในโถ ที่เห็นๆกันว่ามันเต็มไปด้วยก้อนหิน ก้อนกรวด และเม็ดทราย

ท่านศาสตราจารย์บรรจงเทน้ำจนไม่สามารถที่จะเทได้ต่อไป แล้วก็วางเหยือกลง กวาดสายตามองหน้าบรรดาศิษย์ หลายคนเริ่มคิด นี่ช่างเป็นชั่วโมงสอนที่ใช้คำพูดน้อยที่สุดเท่าที่เคยเรียนมา

ท่านศาสตราจารย์มองบรรดาศิษย์แล้ว ก็ถึงคำถามประโยคที่ยาวกว่า “บทเรียนนี้สอนอะไรแก่พวกเธอ”

“ไม่ว่าตารางของเราจะแน่นและยุ่งขนาดไหน เราก็ยังสามารถ เพิ่มบางอย่างเข้าไปได้เสมอ”

นักศึกษามหาวิทยาลัยดังๆ ไม่ว่าบ้านเมืองไหน ก็มักตอบออกมา เหมือนกันทำนองนี้แหละ

“ไม่ใช่” เสียงของศาสตราจารย์ดัง และเน้นหนักมาก แล้ว ท่านก็ให้คำสอนสำคัญ

“มันแสดงให้เราเห็นว่า ถ้าเราต้องการใส่หินก้อนใหญ่ๆลงไป เราก็ต้องใส่มันไปก่อนสิ่งอื่นๆ”

เป็นอันว่า หัวข้อเรื่องชั่วโมงบรรยายที่ใช้คำพูดน้อยที่สุด ที่นักศึกษาปริญญาโทในห้องนั้นได้เรียนรู้ก็คือ

บทเรียนเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ

พระอาจารย์พรหมจบเรื่องเล่า “อะไรที่เห็นหินก้อนใหญ่ในโถของเรา อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา สิ่งนั้นก็คือ “หินมีค่า” ที่เราต้องลงในตารางชีวิตก่อน”

ไม่เช่นนั้น เราอาจะไม่ได้เข้าใกล้ หรือใส่มันลงในชีวิตของเราเลย

เรื่องเล่าของพระอาจารย์พรหมจบ ทิ้งประเด็นให้ผมคิดสองข้อ ข้อแรก สำหรับคนรักคุณทักษิณ “หินมีค่า” ซึ่งก็คือ คุณอุ๊งอิ๊งค์ ลูกสาว งานของว่าที่นายกรัฐมนตรีประเทศไทย คงช้ากว่านี้ไม่ได้อีก

แต่สำหรับคนไม่รักทักษิณ มีคนคิดได้ถึงขั้นเอาบ้านเมืองไปสุ่มเสี่ยงกับเด็กไร้เดียงสา หากมองอย่างอารมณ์ขัน ใช้คำพังเพยโบราณ คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง ก็น่าจะพอ.


กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม