จากการประชุมวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาของประเทศไทย ไตรมาส 1 พ.ศ.2567 ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษากล่าวว่า สกศ.ได้จัดทำรายงานสภาวะการศึกษาไทย เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาของประเทศไทย บริบทและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับหน่วยงานต่างๆใช้ประกอบการจัดทำนโยบายทางการศึกษา สำหรับไตรมาสที่ 1 พ.ศ.2567 (ม.ค.-มี.ค.2567) พบว่า สถานการณ์แรงงานกับการศึกษาภาพรวมปี 2566 การจ้างงานขยายตัวในทุกสาขาและมีแนวโน้มดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานในไตรมาสสี่ลดลงกว่าปีที่ผ่านมาในทุกระดับการศึกษา แต่ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระดับอาชีวศึกษา และสถานประกอบการมีความต้องการการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะเพื่อรองรับการใช้ AI เพิ่มขึ้น ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พบข้อมูลจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กว่าปี 2566 เยาวชนที่มีอายุ 15-17 ปี เป็นกลุ่มที่กระทำผิดมากที่สุด

เลขาธิการ สกศ.กล่าวอีกว่า สถานการณ์เศรษฐกิจกับการศึกษาภาพรวมปี 2566 ขยายตัวชะลอลงจากปี 2565 ผลจากการสำรวจครัวเรือน พ.ศ.2566 (6 เดือนแรก) พบว่า ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเป็นหนี้สินที่ใช้ในการศึกษา ร้อยละ 1.2 ขณะที่การสำรวจสภาวการณ์ทำงานของประชากรทั่วราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 4 (ต.ค.-ธ.ค.2566) พบว่า มีกำลังแรงงานทั้งสิ้น 40.58 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 0.33 ล้านคน (ร้อยละ 0.8) โดยผู้มีงานทำจำนวนถึงร้อยละ 54.4 สำเร็จการศึกษาระดับการศึกษาภาคบังคับหรือต่ำกว่า และมีสำเร็จระดับอุดมศึกษา ร้อยละ 24.3

“เมื่อ AI ทำได้ทุกอย่างและมีประสิทธิภาพกว่ามนุษย์ การประยุกต์ใช้ AI ในการวางแผนการศึกษา และประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการศึกษาให้มีความรวดเร็ว ถูกต้อง และได้สาร สนเทศเชิงลึก ควรนำหลักการด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) มาใช้ควบคู่ในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการวางแผนการศึกษาต้องคำนึงถึงข้อพึงระวังด้านความถูกต้อง ความเอนเอียง และความไม่ครบถ้วนของผลการวิเคราะห์ เพราะ AI เป็นเพียงเครื่องมือช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน สิ่งสำคัญคือการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาให้มีความสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุด” ดร.อรรถพลกล่าว.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่