กากแคดเมียม 221 ตัน ถูกลำเลียงถึงโรงงานต้นทางที่ จ.ตากแล้ว ชาวบ้านยังหวั่นอันตรายเพราะอาคารพักคอยไม่ปลอดภัย รอลุ้นคำสั่งศาลปกครอง สั่งยุติเคลื่อนย้ายหรือไม่ ส่วนที่ จ.ระยอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเดินทางมาศาลจังหวัดระยองขอให้มีคำสั่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดการกับกองกากสารเคมีในโรงงานวิน โพรเสส ที่เกิดเพลิงไหม้ ด้านชาวบ้านรอบโรงงานผวาอันตรายฝนตกน้ำชะล้างสารเคมีไหลเข้าชุมชน รมว.อุตสาหกรรมห่วงฤดูฝนกากสารพิษปนเปื้อนลงน้ำ

ความคืบหน้ากรณีนายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือกพร. พร้อมนายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครและคณะ มาตรวจสอบการขนย้ายกากแคดเมียม ที่โรงหลอม ในซอยกองพนันพล ต.บางน้ำจืด อ.เมืองสมุทรสาคร หลังต้องหยุดชะงักลงเพราะเกิดปัญหาที่ จ.ตากนั้น

เมื่อเช้ามืดวันที่ 7 พ.ค. ขบวนรถขนกากแคดเมียมที่เปลี่ยนเป็นใช้รถเทรเลอร์ รวม 8 คันบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนกากแคดเมียมรอบสองจำนวน 147 ถุง น้ำหนักรวมประมาณ 221.54 ตัน เดินทางมาถึงบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ต.หนองบัวใต้ อ.เมืองตาก มีการขนย้ายกากแคดเมียมลงจากรถโดยพนักงานของบริษัทซึ่งใส่ชุด PPE ป้องกันสารพิษ ตามที่มีการประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจการเคลื่อนย้ายทุกขั้นตอน การเคลื่อนย้ายเป็นไปตามขั้นตอนที่วางไว้ มีการคลุมผ้าใบอย่างมิดชิดในโรงพักคอย ใช้เครนยกจัดเรียงซ้อน 4 ชั้นในแต่ละแถวและนำผ้าใบคลุมปิดทับป้องกันน้ำฝนชะล้าง

...

นายศุโรฒ พรมทับ ชาวบ้านหมู่ 3 บ้านคลองห้วยทราย ต.หนองบัวใต้ อ.เมืองตาก ที่มีบ้านอยู่ห่างจากพื้นที่อาคารพักคอยและบ่อกักเก็บประมาณ 500 เมตร กล่าวว่า ไม่ว่าทางราชการจะยืนยันว่าอาคารพักคอยมีความปลอดภัยระหว่างรอการซ่อมหรือสร้างบ่อกักเก็บสารแคดเมียม แต่พวกเราไม่มีความมั่นใจในสวัสดิภาพความปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง (พิษณุโลก)ไม่เห็นด้วยกับการขนย้ายกากแคดเมียมมาอาคารพักคอยหรือโรงพักคอยที่ไม่สมบูรณ์ เพราะมีหลายจุดที่ชาวบ้านกังวลอยู่ แต่หากคำวินิจฉัยออกมาเป็นเช่นไร ถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดที่ชาวบ้านต้องยอมรับต่อไป

ส่วนผลกระทบจากเหตุไฟไหม้โรงงานสารเคมีที่ จ.ระยอง ตอนสายวันเดียวกัน นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เดินทางมาแถลงต่อศาลจังหวัดระยอง ขอให้ศาลสั่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินการกับกองกากสารเคมีในโรงงาน วิน โพรเสส จ.ระยอง โดยใช้เงินประมาณ 6 ล้านบาท ที่ บ.วิน โพรเซส นำมาวางศาล มาดำเนินการเร่งด่วนก่อน โดยก่อนหน้านี้วิน โพรเสส ได้ว่าจ้าง บริษัท เอส เค อินเตอร์เคมิคอล ให้ดำเนินการ แต่ไม่แล้วเสร็จและเกิดเพลิงไหม้ก่อน มีนายโอภาส บุญจันทร์ เจ้าของโรงงาน เดินทางมาไต่สวน ที่ศาลจังหวัดระยอง ช่วงบ่าย

นายจุลพงษ์กล่าวว่า เจ้าของโรงงานยินยอมให้นำเงิน 6 ล้านบาท ไปดำเนินการกำจัดของเสียสารเคมีในโรงงาน โดยของเสียจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นของที่ต้องกำจัดเร่งด่วนและจะเข้าไปประเมินว่า มีของเสียที่ต้องกำจัดเร่งด่วนเท่าไหร่จะไปเร่งเขียนแผนงานและข้อกำหนดขอบเขตของงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องเอาแผนงานมาส่งศาล ศาลถึงจะพิจารณาอนุญาตเอาเงินที่วางศาลอยู่โอนมาให้กรมโรงงานฯ ใช้เงินดำเนินการกับของเสียส่วนแรกเอาไปบำบัดกำจัด ส่วนที่เหลือกรมโรงงานฯ จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายต่อไป และของบจากส่วนอื่นมานำไปกำจัดอย่างถูกวิธี แล้วค่อยฟ้องร้องเรียกคืนจากเจ้าของโรงงานต่อไป

ขณะเดียวกัน ภายในโรงงานวิน โพรเสส เริ่มมีสถานการณ์น่าหวั่นวิตก เนื่องจากเกิดฝนตกหนักทำให้กองสารเคมีอะลูมิเนียมดอสที่กองอยู่ในส่วนที่หลังคาพังไม่มีสิ่งปกคลุม เมื่อถูกน้ำฝนเกิดเป็นควันสีขาวมีกลิ่นเหม็นรุนแรง เช่นเดียวกับด้านหลังโรงงาน ที่บริเวณโกดังที่ 5 ซึ่งถูกไฟไหม้หมดทั้งอาคาร แต่ยังมีซากถัง 200 ลิตรหลายถัง เกิดควันสีขาวพวยพุ่งขึ้นมา คาดว่าน่าจะมีสารเคมีที่ไฟยังไหม้ไม่หมดตกค้างอยู่ จึงเกิดปฏิกิริยากับน้ำฝน

นายเทียบ สมานมิตร อายุ 68 ปี หนึ่งในชาวบ้านที่มีที่ดินอยู่ติดกับโรงงานและได้รับผลกระทบมายาวนานกว่า 10 ปี กระทั่งมาเกิดเหตุไฟไหม้เหมือนซ้ำเติมความเดือดร้อนให้ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอีก กล่าวว่า เมื่อฝนตกทำให้เกิดความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นเพราะน้ำที่ชะล้างสารเคมี จะต้องไหลออกมานอกโรงงาน แม้ว่า อบจ.จะเร่งขุดบ่อเสริมคันดินให้สูงขึ้น แต่การทำงานก็ยังไม่แล้วเสร็จ ฝนตกเสียก่อนและมีทีท่าว่าจะตกต่อเนื่องหลายวันจึงหวั่นว่ามวลน้ำจากโรงงานจะไหลออกไปยังพื้นที่เกษตรและแหล่งน้ำโดยรอบ

ขณะที่นายประสานต์ พฤกษาชาติ รองนายกอบจ.ระยอง ประชุมผู้เกี่ยวข้องวางแผนขุดบ่อดักสารเคมีบ่อที่ 3 โดยจะใช้พื้นที่หลังโรงงานที่เป็นสวนยางของนายเทียบ สมานมิตร คาดว่าต้องใช้พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ เพื่อดักน้ำจากโรงงาน หากมีฝนตกมาซ้ำอีก ได้เจรจาพูดคุยกับนายเทียบขอใช้ที่ดินเพื่อแก้ไขวิกฤติ โดยจะได้ชดใช้คืนความเสียหายให้ซึ่งบ่อที่จะขุดในที่ดินของนายเทียบจะเป็นบ่อที่ขุดไว้เพื่อรองรับน้ำที่ล้นจากทุกบ่อในโรงงานไม่ให้ไหลออกไป

...

ด้านเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้เข้าตรวจสอบระบบการระบายน้ำของโรงงานเมื่อช่วงเช้า พบว่ามีคราบน้ำมันเข้มข้นอยู่ในทางระบายน้ำรอบโรงงาน ส่วนสารเคมีที่ยังเหลืออยู่ยังไม่ถูกน้ำฝนชะล้างไหลออกนอกตัวอาคาร ส่วนช่วงบ่ายยังได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบจำนวนของวัตถุสารเคมีในโรงงานอีกด้วย

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงการขนย้ายกากแคดเมียมว่า เป็นห่วงเรื่องฝน ขณะนี้พยายามขนกากแคดเมียมที่อยู่นอกอาคารเข้าไปเก็บในอาคาร เพื่อคลายความกังวลของประชาชน เช่น รถขนส่งเปลี่ยนมาใช้ตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมด เมื่อถามถึงกรณีเหตุไฟไหม้โรงงานอุตสาหกรรมบ่อยครั้ง น.ส.พิมพ์ภัทราตอบว่า ส่วนหนึ่งมาจากอากาศ ล่าสุดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ได้สั่งให้แต่ละจังหวัดและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ออกสำรวจพื้นที่โรงงานที่มีความเสี่ยงภายใน 20 วัน

ส่วนที่คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนฯ วิเคราะห์ว่าเป็นการวางเพลิงเพื่อเลี่ยงกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้ น.ส.พิมพ์ภัทราตอบว่า คิดได้หลายมุม อันดับแรกกฎหมายบังคับแล้วว่าต้องเคลียร์กากตะกอนสารเคมีออกจากโรงงาน ถ้าคิดในมุมไม่ดี ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ การเผาไม่ต้องเสียค่ากำจัด ผู้ประกอบการต้องยอมรับด้วยว่าการกระทำแบบนี้ มีผลกระทบต่อประชาชนโดยรอบจำนวนมาก เรื่องนี้คงเป็นเรื่องการวางเพลิงไม่ได้ จะต้องยกระดับความรุนแรง ปฏิบัติการแบบนี้หมายถึงความมั่นคงแล้ว จึงขอความช่วยเหลือจากฝ่ายความมั่นคง ไม่ว่าตำรวจหรือดีเอสไอเข้าไปดูแลเรื่องนี้ด้วย

เมื่อถามว่าจะเอาผิดโรงงานเหล่านี้ได้หรือไม่ น.ส.พิมพ์ภัทราตอบว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม เสนอแก้กฎหมายเพิ่มโทษ พร้อมย้ำว่าเรื่องนี้เป็นภัยความมั่นคง ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ไม่ได้มองแค่เรื่องไฟไหม้ แต่ยังมองไปถึงสภาพอากาศที่ชาวบ้านต้องเจอ ส่วนที่เริ่มเข้าฤดูฝน ขณะนี้มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มามอร์นิเตอร์เรื่องสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ เข้าใจว่าประชาชนในพื้นที่เจอปัญหามากที่สุด ยืนยันได้ลำบากว่าน้ำจะปนเปื้อนสารเคมีจากโรงงานลงสู่แหล่งน้ำหรือไม่ อย่างที่ จ.ระยองและพระนครศรีอยุธยา ได้ขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือปภ.สร้างพนังกั้นน้ำ แต่ต้องดูว่าจะทำได้หรือไม่ ยอมรับว่ามีความกังวล

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่