อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม มีคำถามสำคัญที่ “ภาครัฐ” ต้องเร่งให้คำตอบ...
กรณีโกดังเก็บ “สารเคมี” และ “กากอุตสาหกรรม” ของบริษัทวินโพรเสส อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่ถูกอายัดไว้เพื่อดำเนินคดีเกิดไฟไหม้อย่างรุนแรง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก มีคำถามสำคัญตามมาหลังจากเพลิงสงบลง
หนึ่ง...หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบนำซากสารเคมีและกากอุตสาหกรรมที่ถูกไฟไหม้ รวมทั้งขี้เถ้าจำนวนมากเหล่านี้ไปกำจัด และใครจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย?
“หากดำเนินการขนย้ายชักช้าและเกิดฝนตกลงมาหรือมีลมกรรโชกแรง จะทำให้เกิดการชะล้างและพัดพาสารเคมีในโรงงานดังกล่าวลงไปในพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน รวมทั้งยังกลายเป็นฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนด้วย”
สอง...จะใช้เวลานานแค่ไหน? ในการพิสูจน์ว่าเกิดไฟไหม้เองหรือเกิดจากการวางเพลิง
สาม...ใครจะเป็นผู้จ่ายค่าเยียวยาค่ารักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
...
สี่...ใครจะเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยและฟื้นฟูที่ทำกินของประชาชน รวมทั้งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
ห้า...ใครจะเป็นผู้จ่ายค่าอุปกรณ์การดับเพลิง รวมทั้งค่าน้ำและค่าสารเคมีที่ใช้
หก...ควรจะต้องมีการปรับปรุงและปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรมอันตรายหรือไม่? อย่างไร?
ต่อเนื่องมาถึง...ประเด็นร้อน ข้อสังเกตของการเร่งรีบขนตะกรัน “กากแคดเมียม” กลับไปฝังกลบที่โรงงานต้นทางจังหวัดตาก อาจารย์สนธิ ย้ำว่า ในการขนกากพิษอันตรายจำนวนมาก...ควรต้องจัดทำแผนประเมินความเสี่ยงของการที่จะเกิดการหกรั่วไหลในทุกรูปแบบ ตั้งแต่การสวมถุงบิ๊กแบ็ก 2 ชั้น
การขนย้ายขึ้นรถเทรเลอร์, การนำกากไปกองเก็บที่โรงงานแต่งแร่, การปรับเสถียรกาก, การทำให้แข็งและการทดสอบการซึมน้ำ, การเตรียมหลุมการขนย้าย
และต้องมีการจัดเตรียมแผนฉุกเฉิน แผนเผชิญเหตุกรณีเกิดการรั่วไหล เช่น รถขนย้ายเกิดอุบัติเหตุสารแคดเมียมหกรั่วไหล, ฝนตกขณะทำการขนย้าย, ฝนตกลงไปในหลุมที่เตรียมไว้
รวมทั้งต้องมีแผนการสื่อสารกับประชาชนในทุกขั้นตอนการขนย้าย...แผนดังกล่าวได้จัดทำหรือได้เคยซักซ้อมหรือไม่...หากเกิดเหตุขึ้นมาทางกระทรวงอุตสาหกรรมอาจรับมือไม่ไหว
ประเด็นต่อมา...เป็นการเร็วเกินไปที่รีบร้อนขนกากแคดเมียมกลับไปจังหวัดตากและได้เร่งรัดให้บริษัท บาวด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด เตรียมรับกากแร่ไปเก็บในโรงแต่งแร่ การเตรียมหลุม Secured Landfill ทั้งๆที่โรงงานนี้ได้ถอนเครื่องจักรและอุปกรณ์ออกไป และเป็นโรงงานร้างตั้งแต่ปี 2560 แล้ว?
เพราะไม่มี “แร่สังกะสี” ให้ถลุง จึงไม่ได้เป็นมืออาชีพเหมือนกับโรงงานลำดับที่ 101 ใช้สำหรับในการฝังกลบกากพิษอันตรายนี้ ดังนั้น...การเร่งรัดโดยที่มีความไม่พร้อมและดำเนินการไม่รอบคอบอาจทำให้กากแคดเมียมปนเปื้อนได้ ควรต้องมีผู้เชี่ยวชาญบุคคลที่ 3 ร่วมตรวจสอบ...ออดิตด้วยหรือไม่
“การขนกากดังกล่าวเป็นระยะทางไกลมากกว่า 300 กิโลเมตรและจะให้ตำรวจจราจรนำทางให้ตลอดไปจริงหรือไม่...มีการติดตามด้วยระบบจีพีเอสแต่จะทำได้ตลอดเวลาหรือไม่ รวมทั้งหน่วยงานราชการจะไปร่วมการตรวจสอบได้ตลอดเวลาจริงหรือ?”
หากบริษัทต้นทางที่จังหวัดตากขอยกเลิกใบ รง.4 เนื่องจากไม่มีแร่สังกะสีให้ถลุงอีกต่อไป ใครจะดูแลหลุมฝังกลบดังกล่าวต่อ...ใครจะตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน และมั่นใจได้อย่างไรว่าแผ่นพลาสติก HDPE ในอนาคตที่ก้นหลุมจะไม่มีการฉีกขาดรั่ว หลุมไม่แตก ซีเมนต์ไม่ร้าว ดินไม่ทรุด กากไม่ปนเปื้อนน้ำใต้ดิน
...
ที่สำคัญ...หากเป็นโรงรับกำจัดกากลำดับที่ 101 ตามสัญญาจะต้องมีเงินประกันความเสี่ยงใส่ไว้ในกองทุนและมีสัญญาที่ต้องดูแลหลุมฝังกลบต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 30 ปี
ถึงตรงนี้ให้เป็นความรู้ไว้อีกว่า...การขนกากอุตสาหกรรมอันตราย เช่น กากแคดเมียม...ตามมาตรฐานสากลเขาทำกันอย่างไร?
ข้อแรก...การบรรจุสินค้าหรือกากของเสียอุตสาหกรรมอันตราย เช่น กากตะกรันแคดเมียม ตะกรันสังกะสี อะลูมิเนียม ปรอท จะต้องบรรจุในถุงบิ๊กแบ็กซึ่งทำจากวัสดุโพรพิลีน 100% ทนแรงฉีกขาดที่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการขนส่ง
...จะมีสัญลักษณ์ UN ติดอยู่บนถุงอย่างเห็นได้ชัดเจนเรียกว่า “UN Mark” ซึ่งสามารถยืนยันว่าได้ผ่านการทดสอบกับองค์กรที่ได้รับรองในระดับสากลแล้วและมีหนังสือรับรองชัดเจนว่าผ่านการทดสอบอย่างน้อย 4 ด้านคือ ทดสอบความทนทานของการตกกระแทก (Drop test) และเมื่อยกด้วยเครนหูหิ้วต้องไม่ฉีกขาด
ถัดมา...ทดสอบความทนทานของการวางเรียงซ้อน (stacking test), ทดสอบคุณสมบัติป้องกันการรั่วซึมของถุง (Leak proofness), ทดสอบความต้านทานความดันภายใน (internal pressure test)
...
สำหรับรถบรรทุกที่ทำการขนส่งกากที่มีพิษร้ายแรงต้องเป็นระบบที่ปิดทึบทุกด้าน มีตราสัญลักษณ์ป้ายแสดงชนิดของกากและมี UN Number เป็นรหัสในการตอบโต้เหตุฉุกเฉิน สามารถเปิดด้านท้ายและด้านข้างของรถบรรทุกได้ เพื่อใช้เครนเกี่ยวหูหิ้วสำหรับเคลื่อนย้ายถุงบิ๊กแบ็กได้ง่าย
“ถุงบิ๊กแบ็ก” ที่ใส่ตะกรันกากแคดเมียมที่ส่งมาและกำลังจะส่งกลับไปฝังกลบที่จังหวัดตากคงไม่ได้มาตรฐาน UN หรือ UN Mark เนื่องจากไม่มีตรา UN และการขนส่งอาจไม่ได้มาตรฐานสากลเมื่อขนลอตแรกโซ่ที่เกี่ยวหูหิ้วก็ขาดแล้ว...ซึ่งผิดหลักเกณฑ์ของระบบการขนส่งกากของเสียอันตรายตามมาตรฐานสากล
ประเด็นถัดมา...มาตรฐานการเก็บและการฝังกากอันตรายตามมาตรฐานสากลเขาทำอย่างไร? เริ่มจากอาคารหรือแวร์เฮาส์ต้องมีหลังคากันฝนตกย่างดี พื้นต้องบดอัดให้แน่นไม่ขรุขระและปูด้วยพลาสติกเหนียวความหนาแน่นสูง ฉีกขาดได้ยาก...สามารถกันน้ำซึมได้อย่างดีหรือ HDPE (High density polyethyline plastic)
โดยมีร่องระบายน้ำไปยังระบบบำบัดน้ำเสีย ภายในอาคารควรระบายความร้อนได้ดี ต้องไม่อับชื้น...หลุมฝังกลบแบบถาวรพื้นต้องเป็นดินเหนียวบดอัดแน่นกันน้ำซึมขนาด 1x10-9 เซนติเมตรต่อวินาที และปูด้วยแผ่น HDPE 2 ชั้น...ใส่กากที่ปรับเสถียรด้วยปูนขาวและทำให้แข็งด้วยการหุ้มด้วยซีเมนต์
โดยต้องนำมาทำ Leachate test ในห้องทดลองก่อนเมื่อละลายน้ำแล้วไม่มีโลหะหนักละลายออกมาเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด จึงนำกากที่ปรับเสถียรแล้วและทำให้แข็งแล้วลงหลุมได้ เมื่อใส่กากจนเต็มก็อัดหลุมด้วยดินเหนียวจนเต็มบ่อแล้วจึงปิดหลุมด้วย HDPE Plastic 2 ชั้น แล้วหุ้มด้วยซีเมนต์ปิดคลุมอีกชั้น...
มาตรฐานแบบไทยๆเป็นอย่างไร รัดกุมหรือมีความเสี่ยงตรงไหนกี่มากน้อย คงต้องติดตามดูกันต่อไปอย่ากะพริบตา อย่าให้ใครเขาว่าได้เหมือนกรณี...มีชายพลัดตกท่อร้อยสายไฟลึก 15 เมตร เสียชีวิตที่เกาะกลางถนนลาดพร้าว ใต้แนวรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เยื้องกับปากซอยลาดพร้าว 49 ถนนลาดพร้าว กรุงเทพฯ
...
ท่อดังกล่าวใช้ไม้อัดมาปิดปากท่อเอาไว้ชั่วคราว “กทม.” ย่อมาจาก “กูจะขุดใครจะทำไม?”.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม