ประเทศไทยตกอยู่ในวัฏจักรแห่งภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยแล้งกับน้ำท่วม ที่สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นประจำ ไทยประสบภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ ที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2566 ลากยาวเข้าสู่ปี 2567 ถึงเดือนที่ 5 แล้ว แต่เอลนีโญก็ยังอยู่ ไม่ว่าจะไปที่ไหน มักได้ยินคนบ่นเรื่องอากาศร้อนแบบหูดับตับไหม้

แต่ขณะนี้คนไทยอาจจะใจชื้นขึ้นมาหน่อย เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาแถลงว่า อาจจะมีพายุตัดผ่านเข้าไทย ในระหว่างวันที่ 3-4 พฤษภาคม พร้อมทั้งอาจนำฝนมาให้ จนถึงวันที่ 10 เดือนนี้ หลังจากที่ 54 จังหวัดของประเทศ จากทั้งหมด 77 จังหวัดกลายเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้ามอง จะแล้งรุนแรงแค่ไหน

ภัยแล้งผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อากาศที่ร้อนจัด เกิดจากภาวะโลกร้อนหรือภาวะเรือนกระจก ส่วนใหญ่เกิดจากคาร์บอนที่มีปริมาณมากขึ้น ทำให้ทุกภาคของประเทศไทยอากาศร้อน มีอุณหภูมิล้วนแต่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส เช่น ที่ลำปางในภาคเหนือ อุดรธานี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสระแก้วในภาคกลาง

แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร ก็ร้อนถึง 41.0 องศา ที่สนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ 30 เมษายน แต่เรื่องที่น่าตกใจก็คือหน้าร้อนปีนี้ มีคนไทยเป็นโรคลมร้อนหรือฮีตสโตรก เสียชีวิตกว่า 30 คน ต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน กรมควบคุมโรคจึงขอให้คนกลุ่มเปราะบางอยู่ในห้องที่ปลอดภัย

เนื่องจากภัยแล้งไม่ได้มีผลกระทบแต่เฉพาะการเพาะปลูก เช่นปีนี้มีรายงานข่าวว่าชาวสวนทุเรียนที่จันทบุรี ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง สูญเสียรายได้เป็นกันมาก จากการตายของทุเรียน ยิ่งกว่านั้นภัยแล้งยังกระทบถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และอาจกระทบถึงการเมือง ถ้าการแก้ปัญหาของรัฐไร้ประสิทธิภาพ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงจัดตั้งศูนย์บรรเทาภัยแล้งขึ้น โดยให้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นหลักและประสานงาน ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องน้ำมากมาย ไม่เฉพาะแต่กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงอื่นก็มี

...

ส่วนโรคลมร้อนหรือฮีตสโตรก ซึ่งเป็นโรคที่น่ากลัว กรมควบคุมโรคขอให้เฝ้ามองกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มเปราะบาง ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง คนงานก่อสร้าง บางกลุ่มไม่สามารถหลีกเลี่ยงอากาศร้อนได้ อากาศในร่างกายจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ถ้าพบต้องนำเข้าที่ร่ม.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม