เหตุการณ์การปรากฏพบ “กากแคดเมียม หมื่นกว่าตัน” ถูกเก็บซุกซ่อนเก็บไว้ในโรงงานพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพฯ ต้นทางนำมาจากบ่อฝังกลบใน จ.ตาก ยังเป็นปัญหาคาราคาซัง โดยเฉพาะความรับผิดชอบในความเสียหายต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน
เบื้องต้นตรวจพบสารแคดเมียมในร่างกายคนงานและชาวบ้านเกินมาตรฐาน 20 รายแล้วยังปนเปื้อนดิน บางส่วนรั่วไหลหรือฟุ้งกระจายตามโรงหลอม เข้าข่ายความผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมหลายฉบับ “ภาครัฐ” กลับไม่อาจสร้างความมั่นใจการบังคับใช้กฎหมายให้ได้เห็นชัดเจนโปร่งใสกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในเหตุการณ์นี้
สะท้อนข้อกังวลผ่าน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า ตามข้อมูล บ.เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด (ผู้ซื้อ) เปิดสัญญาซื้อขายกากแคดเมียมที่ “มีหน้าที่ดำเนินการทั้งหมดฝ่ายเดียว” ตั้งแต่ขออนุญาตขุด ขนย้ายกากออกจากพื้นที่โรงถลุงแร่สังกะสี บ.เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือบียอนด์ (ผู้ขาย) ใน จ.ตาก
แต่ถ้ามาดูข้อเท็จจริง “การขนย้ายกากแคดเมียมของเสียอันตราย” ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยเรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2566 “เจ้าของกากต้องขออนุญาตเอง” ทำให้สัญญาฉบับนี้ “ขัดความเป็นจริง” ทั้งยังขัดข้อกฎหมายการควบคุมจัดการกากของเสียอันตรายด้วยซ้ำ
...
แล้วในทางกฎหมายก็ดำเนินคดี “เจ แอนด์ บีฯ” โดยมองในเชิงตามหนังสือสัญญาระหว่างผู้ขาย และผู้ซื้อ ที่ระบุให้ “ผู้ซื้อต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ” กลายเป็นว่าเจ้าของกากกลับถูกละเอาไว้ในกระบวนการตรวจสอบทางกฎหมาย และอาจหลุดพ้นจากความรับผิดชอบนี้
ดังนั้นหากหยิบยก “กฎกระทรวงอุตสาหกรรมฯ” ที่กำหนดหน้าที่ขออนุญาตเป็นเจ้าของกากไว้ชัดเจน “ไม่น่าจะลอยตัวหนีปัญหาที่เกิดขึ้นไปได้” ทำให้บียอนด์ยังต้องรับผิดชอบกับกากของเสียอันตรายของตนตั้งแต่ต้นทางจนปลายทางนั้น มิใช่พ้นมือก็เป็นเรื่องคนอื่น หรือทำสัญญาให้หน้าที่นั้นถูกละเว้นหมดไปอย่างไรก็ได้
แม้ว่าตามหลักกฎหมายทั่วไป “การพิจารณาสัญญาถือหลักเจตนาเป็นสำคัญ” แต่หากข้อสัญญานั้นขัดกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี “ข้อสัญญาย่อมไม่มีผล” เพราะการออกกฎหมายควบคุมการจัดการกากของเสียอันตราย ตราขึ้นเพื่อปกป้องความสงบเรียบร้อยของสังคมอย่างไม่ต้องสงสัย
โดยเฉพาะประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วฯ ฉบับใหม่ล่าสุดที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบัน “เป็นกฎหมายที่แก้ไขปรับปรุง” ด้วยความมุ่งมั่นจัดการปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม การเล็ดลอดหายไปจากระบบของกากอันตราย รวมถึงการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง
ถ้าตามประกาศกระทรวงฉบับนี้สะท้อนให้เห็น “สถานะบียอนด์ฯเป็นผู้ก่อกำเนิดกากอันตราย” ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย ส่วนจะไล่เบี้ย “เจ แอนด์ บีฯ” ก็เป็นสิทธิทำได้ควรทำกันภายหลัง เพียงแต่ปัจจุบันสถานการณ์ถูกเบี่ยงเบนความสนใจมุ่งเป้าไปตามสัญญาให้เจ แอนด์ บีฯ ต้องรับผิดชอบฝ่ายเดียวแบบนี้ไม่เห็นด้วย
เช่นนี้คงต้องดูว่า “กฎกระทรวงฯ และหนังสือสัญญา” สิ่งใดจะมีผลทางกฎหมายมากกว่ากัน...?
ประการถัดมา “การขุดกากแคดเมียมจากหลุมฝังกลบ จ.ตาก” เท่าที่วิเคราะห์สาเหตุมีปัจจัย 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก...“การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว” ด้วยผู้ประกอบการต้องการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นโรงแรม และสนามกอล์ฟ แต่ติดปัญหาใต้พื้นที่มีของเสียอันตราย “เกิดความไม่สบายใจ” จึงต้องการขุดขนย้ายออก
อีกส่วนคือ “ผลประโยชน์รับนโยบายรีไซเคิล” ด้วยการนำกากมาใช้ให้เกิดความคุ้มค่าเศรษฐกิจ เพราะแม้แคดเมียมมีพิษแต่มีมูลค่า 1 ตัน หลอมแล้วมีราคาอยู่ที่ 1-2 แสนบาท ทั้งยังตอบสนองนโยบาย BCG จากที่ “รัฐบาล” พยายามผลักดันการนำวัสดุไม่ใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบในโรงงานหล่อหลอม หรือกิจการรีไซเคิล
สิ่งนี้ล้วนเป็นแรงจูงใจให้ “ขุดกากแคดเมียมขึ้นมา” เรื่องนี้ทำให้เจ้าของกากจะได้ทั้งการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในแง่พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ “เพียงแต่ขั้นตอนบางอย่างขัดต่อกฎหมาย” เพราะกากเหล่านี้เกิดขึ้นจากการทำเหมือง และถลุงแร่สังกะสีที่จำเป็นต้องฝังกลบกากอุตสาหกรรมอันตราย (Secured Landfill)
...
ตามมาตรการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ดังนั้นเมื่อกากแคดเมียมถูกฝังกลบแล้วกระบวนการก็สิ้นสุดลง จึงไม่ใช่กากที่ต้องการกำจัด บำบัด เพราะได้ผ่านขั้นตอนนั้นไปแล้ว
ตอกย้ำว่า “กากแคดเมียมเป็นของเสียอันตราย” สำหรับการเคลื่อนย้ายออกจากแหล่งกำเนิดไปสู่แหล่งการบำบัดต้องอยู่ภายใต้ “กฎกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลฯ” เจ้าของกากต้องเลือกบริษัทปลายทางที่มีศักยภาพรองรับมลพิษได้แล้วเมื่อ “บียอนด์ฯ” เลือกโรงงานไม่อาจทำการใดกับกากที่รับมา
ผลตามมาคือ “ต้องรับผิดชอบต่อการบำบัด และกำจัดกากของตัวเองให้สิ้นสุด” ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ากากไม่ก่อผลกระทบขึ้นมาอีก
ฉะนั้นแม้ “ผู้ก่อกำเนิด” จะได้ขายกากให้ “ผู้กำจัดกาก” หากมีผลกระทบก็ต้องติดตามรับผิดชอบจนกว่าปัญหาจะสิ้นสุดลง ดังนั้นถ้ามองหลักกฎหมายนี้ “บียอนด์ฯ” ยังไม่พ้นความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ
...
เช่นเดียวกับ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ก่อนอนุมัติให้บียอนด์ฯว่าจ้างแก่เจ แอนด์ บีฯ รับกากของเสียนั้นก็ต้องพิจารณาด้วยว่า “ปลายทางมีศักยภาพ” ในการบำบัดกำจัดกากแคดเมียมหมื่นกว่าตันได้หรือไม่ แล้วหากปรากฏว่าไม่มีศักยภาพความพร้อม “หน่วยงานภาครัฐ” ก็ไม่ควรอนุมัติให้มีการว่าจ้างกันเกิดขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ “อุตสาหกรรม จ.ตาก” ควรต้องรับผิดชอบในการหละหลวมต่อการตรวจสอบความสามารถบริษัทปลายทางโดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาระดับกระทรวงอุตสาหกรรมอาจปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะการขนย้ายกากเยอะขนาดนี้ “กระทรวงอุตสาหกรรม” ต้องเข้ามาร่วมพิจารณาการอนุมัติอนุญาตด้วยเสมอ
เหตุนี้ความผิดเกี่ยวกับ “เจ้าหน้าที่รัฐ” การสั่งย้ายอุตสาหกรรม จ.ตากเข้าช่วยราชการที่ส่วนกลาง “ปมอนุญาตขนย้ายกากแคดเมียม” กำลังถูกมองไม่เหมาะสมหรือไม่ เมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในขณะนี้
จริงๆแล้วถ้าเรื่องนี้ไม่ถูกเปิดเผย “การขุด และขนย้ายกากแคดเมียมจะเกิดขึ้นมหาศาล” เพราะกากที่ปรากฏนั้นเป็นเพียง 1 หลุมจาก 7 หลุมเท่านั้น “เจ้าของกาก” ยังมีโอกาสขายได้อีกมากแถมยังสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้อีกในส่วน “บริษัทกำจัดปลายทาง” กลับสามารถประมูลกากมาได้จำนวนมากในราคาต่ำ
...
เสมือนได้ “ทองคำ” แต่ว่าเจ แอนด์ บีฯ อาจประเมินผิดพลาดจนเป็นเรื่องใหญ่ “ตกเป็นผู้กระทำผิดขายกากให้บริษัทอื่น” เพราะด้วยกากแคดเมียมเป็นของเสียอันตรายทุกการเคลื่อนย้ายต้องผ่าน “การอนุมัติจากอุตสาหกรรมจังหวัด” เมื่อมีการขนขายกากโดยไม่ได้รับอนุญาต ล้วนเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายทั้งสิ้น
ประการถัดมา “การย้ายกากกลับไปฝังกลบใน จ.ตาก” เรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนเช่นนี้ “กระทรวงอุตสาหกรรม” การสั่งการให้เจ้าของกากดำเนินการใดๆ “ควรทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ” ไม่ว่าจะเป็นแผน ระบบขนย้าย และการรับรองว่าไม่ก่อให้เกิดการกระจายระหว่างขนย้าย
โดยเฉพาะการฝังกลบต้องดำเนินการใหม่ ทั้งซ่อมแซมหลุมฝังกลบ และการป้องกันการรั่วซึมของแคดเมียมลงสู่ชั้นใต้ดิน ด้วยการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำใต้ดิน ตามหลักทางวิชาการที่ปลอดภัย
สุดท้ายผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมด “เจ้าของกาก” ไม่สามารถหลุดพ้นจากความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นได้ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ.2566 ทั้งยังต้องสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องมีการกระทำผิดวินัย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ด้วย
นี่คือเจตนาต้นเรื่อง “การค้ากากพิษ” ภายใต้เป้าหมายการทำกำไรหากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำกับขอบเขตดำเนินการที่รัดกุม “รัฐบาล” ไม่ควรปล่อยให้เกิดการค้าสินค้าอันตรายอย่างเสรีเช่นนี้.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม