สร้างความผาสุข ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสรรค์ประชาคมอาเซียน หัวใจสำคัญของกลุ่มประเทศล้านช้าง-แม่โขง โดยถือเอา “แม่น้ำโขง” มหานทีสายสำคัญในคาบสมุทรอินโดจีนเป็นสายน้ำในการยึดโยงความสัมพันธ์เป็นพี่น้องหนึ่งเดียวของ 6 ประเทศแม่น้ำโขง ประกอบด้วยเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม และสาธารณรัฐ ประชาชนจีน

ความสัมพันธ์ที่มีสายน้ำโขงยึดโยงก่อให้เกิดความร่วมมือกันใน 6 สาขาสำคัญ ประกอบด้วย 1.ความเชื่อมโยง 2.ศักยภาพการผลิต 3.เศรษฐกิจข้ามพรมแดน 4.ทรัพยากรน้ำ 5.การเกษตรและ 6.การขจัดความยากจน ทั้งหมดเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตผู้คนในประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขงให้ดีขึ้น

ความร่วมมือของกลุ่มประเทศล้านช้าง-แม่โขง ก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ในปี 2567 นี้ ประเทศไทยนับได้ว่ามีบทบาทที่โดดเด่นมากขึ้นในฐานะหุ้นส่วนภายในกลไกความร่วมมือ

และในปีนี้ กองทุนพิเศษความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMCSF Funded Project) ได้ให้ทุนกับโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มประเทศล้านช้าง-แม่โขงแก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถึง 3 โครงการ

...

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์

“สวทช.เป็นหนึ่งในหน่วยงานศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อให้เกิดการพัฒนาและเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพของประชาชน ให้เกิดความอยู่ดีกินดี 3 โครงการที่ สวทช.รับทุนประกอบด้วย 1.โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเห็ดบริโภคได้เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเกษตรที่ยั่งยืนระหว่างประเทศในภูมิภาคแม่น้ำโขง 2.โครงการส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังที่ยั่งยืนโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาคแม่น้ำโขงโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และ 3.โครงการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมในประเทศและการจัดเตรียมร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดของโครงการรถไฟความเร็วสูงโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ทั้ง 3 โครงการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 734,092 ดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 25,830,423 บาท ทั้ง 3 โครงการเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจและการค้าข้ามพรมแดน ด้านการเกษตรและการบรรเทาความยากจนซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชน ความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศลุ่มน้ำโขง” ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สวทช. กล่าวถึง 3 โครงการที่จะดำเนินการเป็นระยะเวลา 3 ปี คือตั้งแต่ปี 2567-2570

ดร.อัมพวา ปินเรือน
ดร.อัมพวา ปินเรือน

ด้านนักวิจัยในโครงการ ดร.อัมพวา ปินเรือน หัวหน้าโครงการและนักวิจัยทีมวิจัยปฏิสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ทางการเกษตร ไบโอเทค-สวทช. ที่รับผิดชอบโครงการการถ่ายทอดเทคโน โลยีและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเห็ดฯ เล่าว่า โครงการมีเป้าหมายส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชนในกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านทรัพยากรเห็ดรวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร โดยจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรเห็ดป่าและคอร์ไดเซบ (กลุ่มถั่งเช่า) ที่ใช้บริโภคได้ ในแต่ละพื้นที่ การค้นหาหรือพัฒนาสายพันธุ์เห็ดเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่จะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์นำเข้า รวมทั้งเปิดโอกาสทางการตลาด ส่งเสริมการบริหารจัดการและควบคุมกระบวนการเพาะเห็ดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ
ดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ

...

ขณะที่ ดร.แสงสูรย์ เจริญวิไลศิริ หัวหน้าโครงการและนักวิจัยทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ไบโอเทค-สวทช. ซึ่งรับผิดชอบโครงการการส่งเสริมการผลิตมันสำปะหลังที่ยั่งยืนโดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาคแม่น้ำโขง กล่าวว่า โครงการจะเข้ามาแก้ปัญหาการระบาดของโรคและการขาดแคลนท่อนพันธุ์สะอาด โดยไบโอเทคจะพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์สะอาดที่มีคุณภาพ ทำให้สามารถผลิตต้นพันธุ์ได้ปริมาณมากภายในเวลารวดเร็ว นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเทคโน โลยีการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง สำหรับใช้ตรวจคัดกรองโรคในกระบวนการผลิตต้นพันธุ์สะอาดและการติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคในแปลงปลูก ที่สำคัญทีมวิจัยจะนำเทคโนโลยีการผลิตต้นพันธุ์สะอาดและการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลังไปขยายผลให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้างในกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง

ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์
ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์

ส่วน ดร.เอกรัตน์ ไวยนิตย์ ผอ.กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ เอ็มเทค-สวทช.ที่รับผิดชอบโครงการการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมในประเทศและการจัดเตรียมร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดของโครงการรถไฟความเร็วสูง กล่าวว่า โครงการจะเข้าไปช่วยพัฒนาบุคลากรในภาคการศึกษา วิจัยและพัฒนาและภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศล้านช้าง–แม่โขงสำหรับใช้ในโครงสร้างพื้นฐานของโครงการรถไฟความเร็วสูงรวมถึงอุตสาหกรรมในประเทศที่ยังขาดโอกาสการเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานของโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยเริ่มจากการยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่กำลังดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการจัดทำร่างมาตรฐานของสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศก่อนเสนอต่อหน่วยงานมาตรฐานระดับประเทศเพื่อใช้อ้างอิงในการประกาศรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสำหรับนำไปใช้ในโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย และจะขยายผลโดยการส่งต่อองค์ความรู้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่จะมีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในอนาคต

...

“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่าทั้ง 3 โครงการนี้จะเป็นกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายในการสร้างชุมชนที่มีอนาคตร่วมกันในการพัฒนาไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

เพราะการพัฒนากำลังการผลิตใหม่ๆจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะช่วยส่งเสริมความได้เปรียบทางการแข่งขัน เพื่อนำพากลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

...

นั่นก็คือการสร้างความผาสุข ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสรรค์ประชาคมอาเซียน.

ทีมข่าววิทยาศาสตร์

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่