นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2567 (มกราคม-มีนาคม 2567) พบว่า หดตัวร้อยละ 4.1 จากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2566 สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7-1.7

“แม้ว่าภาพรวมภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 จะหดตัวลง แต่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”

เลขาธิการ สศก. เผยว่า ข้าว มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมพลังงานภายในประเทศมีความต้องการต่อเนื่อง อ้อยโรงงาน ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น สับปะรดปัตตาเวีย ราคาเพิ่มขึ้นจากความต้องการของโรงงานแปรรูปยังมีอย่างต่อเนื่อง

ส่วนสินค้าปศุสัตว์และประมงที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรก ได้แก่ ไข่ไก่ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ในประเทศ น้ำนมดิบ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับเพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น และ ปลาดุก เนื่องจากผู้บริโภคมีความ ต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น

...

สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาสแรก ประจำปี 2567 รายละเอียดสินค้าในแต่ละสาขานั้น สาขาพืช หดตัวร้อยละ 6.4 กลุ่มสินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ สาเหตุมาจากความแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นหลัก

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.5 สินค้าที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นฟูฟาร์มสุกรหลังการระบาดของโรค ASF ไก่เนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ เนื่องจากมีการปรับลดแม่ไก่ยืนกรงตามมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ของ Egg Board น้ำนมดิบ ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมบางรายเลิกเลี้ยงหรือปรับลดจำนวนโคในฝูงลง

สาขาประมง ขยายตัวร้อยละ 0.5 โดยสินค้าที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กุ้งขาวแวนนาไม ผลผลิต เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีขึ้น สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าประมงที่มีผลผลิตลดลง คือ ปลานิลและปลาดุก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งความแห้งแล้งทำให้มีปริมาณน้ำน้อย

สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 3.6 เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้หลายพื้นที่มีน้ำไม่เพียงพอ เกษตรกรบางส่วนจึงปล่อยพื้นที่เพาะปลูกให้ว่าง ส่งผลให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญลดลง

สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 1.8 โดยผลผลิตไม้ยางพารายังคงเป็นที่ต้องการของตลาดจีนเพื่อการใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ สำหรับผลผลิตถ่านไม้ เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจภาคบริการและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ขณะที่ผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ครั่ง และรังนก มีแนวโน้มลดลง.

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม