การสู้รบในประเทศเมียนมา ในฐานะประเทศไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ย่อมต้องได้รับผลกระทบจากลูกหลงบ้าง รวมถึงการให้การดูแลชาวเมียนมาที่หนีภัยสงคราม เข้ามาในเขตแดนไทยตามหลักสากลและมนุษยธรรม
แต่สิ่งที่ได้รับผลกระทบและเป็นผลดีต่อประเทศไทย และประเทศในแถบอาเซียนคือ ฐานใหญ่ของ เครือข่ายธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ พนันออนไลน์ และสถานบันเทิง (KTV) ที่หลอกผู้หญิงไทยไปบังคับทำงานโดยไม่สมัครใจ ที่ เมืองเล้าก์ก่าย ของ กลุ่มจีนเทา ถูกทำลายลง
...
ถึงกระนั้น กลุ่มจีนเทา พร้อมเครือข่ายผิดกฎหมายทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พนันออนไลน์ และสถานบันเทิง ได้ย้ายฐานมาอยู่ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สาย และด้าน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
ส่วนคนไทยก็ยังข้ามแดนไปทำงานทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย พอถูกจับก็จะอ้างเหมือนที่ผ่านๆมาว่าถูกหลอกไปทำงาน และถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่ได้สมัครใจ ทั้งๆที่ข้ามแดนไปทำงานทุกวัน อันที่จริงต้องจับดำเนินคดีด้วย
จึงน่าเป็นห่วงว่าสภาพชายแดนไทยด้าน อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จะเหมือนนรกในเมืองเล้าก์ก่าย ที่คนไทยและหญิงสาวไทยถูกแก๊งผิดกฎหมาย กลุ่มจีนเทา หลอกลวงและจับไปทำงานอย่างน่าเวทนา
พูดถึง เมืองเล้าก์ก่าย ทำให้ต้องย้อนไปดูและถอดบทเรียนการอพยพคนไทยจาก เมืองเล้าก์ก่าย ที่ผ่านมาเป็นอุทาหรณ์เตือนใจ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ถือเป็นปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยที่มีความซับซ้อนและท้าทาย
การเข้าไปช่วยเหลือต้องคำนึงถึงความรวดเร็วและความปลอดภัยของคนไทยที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์สู้รบระหว่าง กองกำลังชนกลุ่มน้อย 3 ฝ่าย กับ กองทัพเมียนมา โดยพื้นที่รอบ เมืองเล้าก์ก่าย เป็นพื้นที่สีแดง แม้แต่รัฐบาลเมียนมา ก็เข้าไม่ถึง
กลุ่มคนไทยที่ตั้งใจไปทำงานและผู้ที่ถูกล่อลวงไปทำงาน ที่ต้องการความช่วยเหลือกลับประเทศและทางญาติร้องเรียนให้เร่งช่วยเหลือออกจากเมืองเล้าก์ก่าย เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเร่งช่วยเหลือ
กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ นับเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการช่วยเหลือ มอบหมายให้ สถานเอกอัครราชทูต ณ นครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา พยายามทุกช่องทางในการติดต่อและรวบรวมคนไทยที่กระจัดกระจายให้รวมตัวกันให้มากที่สุดเพื่อรอการอพยพส่งกลับ โดยจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน”
จนในที่สุดมีการอพยพคนไทยออกจากพื้นที่การสู้รบในเมียนมาผ่านจีน และไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากสถานเอกอัครราชทูต ณ นครย่างกุ้ง ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเมืองเล้าก์ก่าย จึงต้องติดต่อกับกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือผ่านทางการสื่อสารออนไลน์ที่ใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตเท่านั้น
...
การช่วยเหลือคนกลุ่มต่างๆ จึงเป็นไปอย่างทุลักทุเล ต้องขอให้ทางการเมียนมา และตัวแทนขององค์กรพัฒนาเอกชนที่สามารถเข้าพื้นที่ได้ จัดอาหารและน้ำดื่ม ผ้าห่ม และยารักษาโรคแก่คนไทยระหว่างอพยพไปยังจีน
กระทรวงการต่างประเทศ ได้เจรจากับ กระทรวงการต่างประเทศเมียนมา และ จีน ผ่านสถานเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพฯ และมอบหมายให้ สถานเอกอัครราชทูต ณ นครย่างกุ้ง เจรจากับหน่วยงานของเมียนมาและจีน รวมทั้ง สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง เจรจากับหน่วยงานท้องถิ่นของมณฑลยูนนาน จนตอบรับเปิดทางให้ผ่าน
คนไทย 561 คนจากเมืองเล้าก์ก่ายได้รับการช่วยเหลือกลับไทยทางเครื่องบินเช่าเหมาลำและเครื่องบินพาณิชย์ 361 คน ทางบกเดินทางผ่านเมืองเชียงตุง เมียนมา เข้า อ.แม่สาย 185 คน และทางน้ำผ่านเมืองลา เมียนมา มาเข้าทาง อ.เชียงแสน อีก 15 คน
...
นอกจากนี้ ทางไทยยังช่วยชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รัสเซีย และยูเครน กลับสู่ภูมิลำเนาโดยผ่านประเทศไทยอีกด้วย สะท้อนให้เห็นน้ำใจและด้านมนุษยธรรมแก่มิตรประเทศ เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
มาถึงปัจจุบัน คนไทยที่ข้ามไปทำงานฝั่งเมียนมา ตรงเข้า อ.แม่สาย และ ฝั่ง สปป.ลาว ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ก็ต้องคิดกันให้ดีไปทำงานผิดกฎหมาย และหลอกลวงผู้คน
อาจต้องประสบชะตากรรมแบบที่เล้าก์ก่าย เมียนมา.
ทีมข่าวภูมิภาค รายงาน
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่