เปิดกาสิโนในไทยไฟเขียว หลัง “ครม.” รับทราบรายงานตาม กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) แล้วมอบหมายให้ “กระทรวงการคลัง” รับไม้ต่อไปศึกษาความเป็นไปได้นำมาเสนอภายใน 30 วัน

เรื่องนี้ทำให้คณาจารย์นักวิชาการกว่า 99 รายชื่อต่างร่วมคัดค้านขอแสดงความห่วงใยเสนอแนะความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี และ ครม.ต่อเรื่องนี้ นำมาซึ่งเสวนาวิชาการ “ถึงเวลากาสิโนในไทย? มองปัจจุบัน ฝันถึงอนาคต” จัดโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน มูลนิธิต่อต้านการทุจริต และคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต

ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บอกว่า ประเทศไทยยังไม่ถึงเวลาต้องมีกาสิโนเนื่องจากเคยมีการศึกษาในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป หรือเอเชีย “กาสิโน” อาจทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นได้ในช่วงสั้นๆ แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

แล้วผลการศึกษาพบอีกว่า “ประเทศบังคับใช้กฎหมายที่ดี” แต่กาสิโนถูกกฎหมายกลับมีส่วนให้เกิดอาชญากรรมสูงในเดนมาร์ก เยอรมนี ฟินแลนด์ และเอเชีย ทั้งยังนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้น

...

ล่าสุดมีการศึกษาในไทยพบว่า “ประชาชนรับเงินการช่วยเหลือจากภาครัฐ” ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ “อันเป็นกลุ่มเปราะบาง” แต่กลับนำเงินมาใช้จ่ายกับการพนันจนเกิดการสูญเสียเป็นปัญหาซ้ำเติมความยากจนของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับความช่วยเหลือสูงที่สุด

ต่อไปหาก “ตั้งกาสิโนถูกกฎหมาย” แนวโน้มกลุ่มเปราะบาง 15 ล้านคน หรือ 20% ของประชากรจะเข้ามาเล่นการพนันจำนวนมาก สิ่งนี้จะกระทบต่อผลิตภาพแรงงานในระบบ กลายเป็นบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแล้วยิ่งกรณี “กมธ.วิสามัญฯ” มีการเทียบเคียงกับสิงคโปร์เป็นต้นแบบถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

เพราะสมัย ค.ศ.2005 ที่เริ่มมีกาสิโน “สิงคโปร์” มีการเติบโตของประเทศสูง “ประชากรมีคุณภาพที่ดี” กลุ่มเปราะบางที่รับการช่วยเหลือจากรัฐมีเพียง 1.2 หมื่นคน หรือคิดเป็น 2% ของประชากร แถมมีชื่อเสียงการบังคับใช้กฎหมายอันดับ 1 ของโลกด้วยคะแนน 9.0 ทำให้มุ่งเน้นสร้างสังคมให้มีคุณภาพดึงนักท่องเที่ยวมีกำลังทางเศรษฐกิจ

ถ้าเทียบกับ “ประเทศไทย” มีกลุ่มเปราะบางอยู่ 15 ล้าน และคะแนนการบังคับใช้กฎหมายอยู่ 5.5 แถมบริบทด้านการท่องเที่ยวในสายตาทั่วโลกมอง “ประเทศไทย” ไปในทิศทางเกี่ยวกับเซ็กซ์ทัวริสซึม หรือธุรกิจขายบริการ สิ่งนี้สะท้อนบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การบังคับใช้กฎหมาย และคุณภาพประชาชนต่างกัน

ดังนั้นหาก “มีกาสิโนถูกกฎหมาย” ก็จะมีการให้บริการครบทั้งผู้หญิง การพนัน สุรา และท้ายที่สุดเราจะดึงนักท่องเที่ยวแบบไหนเข้ามาคงต้องเป็นเรื่องของรัฐบาลต้องตระหนัก และให้ความสำคัญนั้น

ถัดมาประเด็น “การศึกษาผลกระทบทางสังคม” เรื่องนี้ประเทศไทยยังไม่เคยมีการศึกษาจริงจัง แต่ก่อนหน้านี้เคยสำรวจนักศึกษาชอบเล่นการพนันหลายคนก็ตอบไม่เห็นด้วย เพราะทุกคนรู้ว่า “การพนันเป็นสิ่งไม่ดี ติดแล้วเลิกไม่ได้” ดังนั้นเมื่อใดก็ตามการนำการพนันขึ้นมาถูกกฎหมายก็จะเกิดความ ชอบธรรมทางสังคม

ผลตามมาคือ “เด็ก-เยาวชน” จะมีทัศนคติเป็นเรื่องปกติธรรมดา “เหตุนี้เรื่องไม่ดีแอบไว้ได้ก็ควรแอบ” ดังนั้นการนำกาสิโนเป็นกิจกรรมถูกกฎหมายส่งผลทั้งคนเล่น และคนไม่เล่น จึงเชื่อว่า “สส.ที่รักแผ่นดินและประชาชน” ก่อนทำกิจกรรมส่งผลกระทบต่อประชาชน สังคม ควรทำประชามติรับฟังความเห็นของประชาชนด้วย

...

สุดท้ายแล้ว “ประเทศไทย” ยังไม่ควรถึงเวลาทำกาสิโนถูกกฎหมายเหมือนดั่ง “ฮาวาย” ที่เป็นดินแดนของหลายคนใฝ่ฝันอยากเข้าไปท่องเที่ยวแล้วสถานที่แห่งนี้ “การพนันทุกชนิดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย” อันเกิดจากอุดมคติอดีตผู้นำฮาวายเมื่อสมัย 50 ปีก่อนไม่ยอมให้มีการพนันที่จะมาทำลายทรัพยากรและวัฒนธรรมอันดีของฮาวาย

เพราะการพนันมักดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ “คนฮาวายไม่ต้องการ” จะนำมาซึ่งนักท่องเที่ยวเข้ามาทำลายวัฒนธรรม ประเพณี ทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นปัจจุบัน “คนฮาวาย” ก็ยังยึดมั่นจุดยืนไม่ต้องการการพนันทุกชนิดแม้ว่ายุคหลังนี้นักการเมืองรุ่นใหม่จะมีความพยายามผลักดันให้การพนันถูกกฎหมายก็มักถูกต่อต้านอยู่เสมอ

“เหตุนี้หน้าที่หลักของรัฐบาลมิใช่ทำกาสิโนเป็นกิจกรรมถูกกฎหมาย แต่ต้องใช้งบประมาณที่มีอย่างจำกัดพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยพัฒนาไปสู่ประเทศมีรายได้สูงอันเป็นหนทางเดียวในการพัฒนาประเทศ แต่ไม่ใช่ให้ประชาชนต้องติดการพนัน” ผศ.ดร.ชิดตะวันว่า

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า เรื่องกาสิโนถูกกฎหมายจะประสบความสำเร็จได้ต้องวางแผนที่ดี มิเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อสังคมตามมามากมายอย่างที่มีประสบการณ์ให้เห็นในหลายประเทศ

แม้ว่าผลรายงาน “กมธ.วิสามัญฯ” ออกมาค่อนข้างดีกว่าฉบับก่อนนี้ “แต่ผลการศึกษายังมีน้อย” แถมอยู่ในบรรยากาศที่ทุกคนบอกว่าผลการศึกษาฉบับนี้ผ่าน สามารถเปิดกาสิโนได้ซึ่งเป็นสถานการณ์อันตราย

...

ยกตัวอย่าง “ญี่ปุ่น” เคยพูดคุยเกี่ยวกับการศึกษากาสิโนมาเป็น 10 ปีแล้วยังทำการศึกษาอีกหลายปีกว่าจะสามารถเปิดได้ “อันมีหลักวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน” มิใช่ศึกษาเสร็จปีนี้แล้วปีหน้าสามารถทำได้เลยทันที

เมื่อเป็นเช่นนี้เห็นด้วยอย่างมากว่า “ถึงเวลาในการศึกษาการเปิดกาสิโนในประเทศ” แต่ยังมิใช่ถึงเวลาต้องเปิดกาสิโนถูกกฎหมายตอนนี้ “ด้วยประเทศไทยมีความไม่พร้อมปรากฏให้เห็นอยู่อีกมากมาย” สังเกตจากในรายงานฉบับ กมธ.วิสามัญฯ ในส่วนตัวนั่งอ่านอย่างละเอียดพบมีการใช้อยู่ 2 คำสลับกันไปมาตลอด

อย่างคำว่า “สถานบริการครบวงจร และกาสิโน” แล้วพยายามแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการจ้างงาน 2 หมื่นคน “แต่ไส้ในสถานบริการครบวงจรกลับไม่มีรายละเอียดแผนดำเนินงานใดๆ” โชคดีอย่างหนึ่งในรายงานฉบับนี้ยอมรับว่า “ผลกระทบทางสังคม” ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังมีกาสิโนแล้ว

อีกประการคือ “ยกโมเดลสิงคโปร์มาเยอะมาก” แล้วกล่าวอ้างความสำเร็จภายใต้คำว่า “กาสิโน” แต่ไม่พูดถึงความสำเร็จในการสร้างเม็ดเงินนั้นเพราะ “กาสิโน” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถานบริการครบวงจรเท่านั้น

จริงๆ แล้ว “กาสิโน” ในแง่ความสำเร็จความรุ่งเรืองมักอ้างถึง “ลาสเวกัส” อันเป็นเหมือนเมืองนอกของอเมริกัน “คนในประเทศนอกพื้นที่มักเข้าไปเล่น” แล้วนำปัญหากลับไปบ้านตัวเอง ทำให้ภาพลักษณ์ลาสเวกัสเติบโต

แล้วก็มีผลศึกษาอื่นกรณี “หลายประเทศ” มีการยกโมเดลลาสเวกัสไปใช้กลับปรากฏว่า “ธุรกิจโดยล้อมรอบหลายแห่งเจ๊งกันหมด” เพราะด้วยผู้คนนำเงินไปใช้จ่ายในกาสิโนจนเม็ดเงินตกอยู่ในมือนายทุน “ไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอย” กลายเป็นปัญหาความยากจน และอาชญากรรมเกิดขึ้นตามมามากมาย

...

เช่นเดียวกับ “ประเทศแอฟริกา” ที่มีความหวังในความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจก็ทำการเปิดกาสิโนตั้งแต่ไซส์ S M L ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมมากมาย “ต้องตั้งคณะกรรมการ” เพื่อพิจารณาไล่ปิดกาสิโนภายหลัง ซึ่งแม้จะทำการปิดก็ตามแต่ปัญหาคนติดพนันกลับไม่ได้รับการบำบัดส่งผลให้ขวนขวายหาทางเล่นการพนันเช่นเดิม

ฉะนั้นย้อนมาดู “รายงานการศึกษาการเปิดกาสิโนในไทย” ค่อนข้างเห็นใจคนทำตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาเพียง 20% และอีก 80% เป็นคนในประเทศที่จะเข้ามาเล่นการพนันในกาสิโน แต่ในส่วนปัญหาผลกระทบกลับไม่มีการประเมินเป็นตัวเลขออกมา ทำให้ไม่สามารถวัดผลดี-ผลเสียของการมีกาสิโนได้...?

แล้วด้วยทุก 2 ปีเราจะมีการสำรวจปัญหาการพนัน ล่าสุดปี 2566 ปรากฏพบว่าผู้มีปัญหาผลกระทบจากการพนัน และติดพนันมีประมาณ 20% ถ้าดูเฉพาะคนเข้ากาสิโนพุ่งขึ้นเป็น 30% ขณะที่สามารถเก็บภาษีกาสิโนได้ 10-15% แล้วต้องเอาเงินภาษีไปดูแลคนติดพนันกว่า 30% สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครพูดถึงในรายงานฉบับนี้ด้วยซ้ำ

นี่คือ “การหวังพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ” ด้วยการผลักดันธุรกิจอบายมุขให้ถูกกฎหมายที่อาจจะมาเปลี่ยนแปลงสังคมก่อเกิดปัญหาอาชญากรรม และผู้ป่วยโรคติดพนันพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมตามมา...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม