“กสศ.ร่วม กลุ่ม ก.กก บึงกาฬ” จัดการ “โมเดลต้นแบบ” ห้องเรียนข้ามขอบของคนบึงกาฬ เพื่อเป้าหมายเตรียมคนบึงกาฬให้มีความพร้อม สามารถพึ่งพาตนเอง สร้างรายได้ รวมทั้ง เด็ก-เยาวชน สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตในอนาคต
วันที่ 20 เม.ย. 2567 จากกรณี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอเสื่อบ้านโพธิ์ทอง จังหวัดบึงกาฬ หรือ กลุ่ม “ก.กก บึงกาฬ” ยืนหยัดได้ด้วยลำแข้งของคนในชุมชน สร้างคน สร้างงาน ให้คนในชุมชนและขยายไปสู่วงกว้างกว่า 5 ปีนั้น
นางรัศมี อืดผา ครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า แรงบันดาลใจที่ตน ลุกขึ้นมาชวนคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงความคิด มองเห็นคุณค่า ในชุมชนอย่าง “กกและผือ” มาต่อยอดจนเกิดเป็นคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม ที่สามารถสร้างทั้งรายได้ สานทั้งใจ ทั้งความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และคนในชุมชนไว้ด้วยกัน โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ช่วยหนุนเสริมวิธีคิดและเครื่องมือการทำงาน
...
วันนี้ กลุ่ม ก.กก บึงกาฬ ได้เดินทางมาถึงการเป็น “ชุมชนตัวแบบ” ที่สามารถออกแบบการเรียนรู้ได้อย่างยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต และตรงใจคนในชุมชนเท่านั้น พวกเขายังร่วมกันสร้างคนให้กลายเป็นทั้งปราชญ์ แกนนำชุมชน และที่สำคัญคือ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้กระบวนการผลิตกกและผือตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการปลูก การย้อม การสาน และการแปรรูป ให้กับคนในและนอกชุมชนทุกช่วงวัย รวมถึงเกิดการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ก.กก บึงกาฬ ขึ้นในตำบลโนนสมบูรณ์ โดยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา กลุ่ม ก.กก บึงกาฬ ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ จัดเวที “สานพลังพื้นที่…ร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้สู่ความเสมอภาคทางการศึกษา” เพื่อให้ภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานระหว่างกัน
ทั้งนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ. และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในและนอกพื้นที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เห็น “โมเดลต้นแบบ” การทำงานกับคนทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย โดยนัยสำคัญของเวทีนี้คือ “การพัฒนาคนแม้เพียง 1 คน หากเขาได้รับการพัฒนาที่ดีเขาจะกลายเป็นตัวคูณสำคัญให้พื้นที่สามารถขับเคลื่อนงานต่อไปได้ด้วยตนเอง” เฉกเช่นกับกลุ่ม ก.กก บึงกาฬ ที่แม้วันนี้จะไม่รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กสศ.แล้ว แต่รากฐานที่ กสศ. และคณะทำงานในพื้นที่ได้ร่วมกันสร้างอย่าง “รุกถึงที่ ลุยถึงถิ่น” ไว้ตั้งแต่ต้นน้ำ ได้ก่อให้เกิดความงอกงามที่ปลายน้ำ ด้วยการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนนั่นเอง
และเนื่องจากต้องการส่งต่อโอกาสให้กับผู้อื่น นางรัศมี ได้มองหาโอกาสในการสร้างคนและพัฒนาชุมชนอยู่ตลอดเวลา เมื่อมูลนิธิเอสซีจี และ กสศ.ร่วมมือกันจัดทำโครงการพัฒนาตัวแบบกองทุนเพื่อพัฒนาอาชีพที่เชื่อมโยงกับโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนและแรงงานนอกระบบ จึงสนใจเข้าร่วมเพราะต้องการขยายผลแนวคิดการทำงานจากฐานทุนความรู้ของชุมชนไปสู่กลุ่มอาชีพอื่นๆ เพื่อให้คนในชุมชนมีโอกาส มีทางเลือกในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น และผลจากการเข้าร่วมโครงการทำให้วันนี้ กลุ่ม ก.กก บึงกาฬ มีการจัดตั้งกองทุน “ก.กกบึงกาฬ สานสัมพันธ์ชุมชน” ขึ้นเป็นผลสำเร็จ
...
นางรัศมี กล่าวต่อว่า เป้าหมายของการจัดตั้งกองทุน “ก.กกบึงกาฬ สานสัมพันธ์ชุมชน” ของที่นี่จะแตกต่างจากกองทุนอื่นๆ โดยได้ชวนทั้งตำบลมาถอดบทเรียนการทำงานกองทุนร่วมกัน เพื่อหาจุดเด่นและข้อควรแก้ไขมาพัฒนาให้กองทุนนี้มีความแตกต่างโดยเน้นไปที่การสร้างเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการประกอบอาชีพทั้งแบบกลุ่มและแบบเดี่ยวที่ผู้ด้อยโอกาสในชุมชนสนใจโดยใช้ต้นแบบของ ก.กก บึงกาฬ เป็นฐาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และที่สำคัญต้องเกิดการส่งต่อและสืบทอดภูมิปัญญา
โดยระหว่างการกู้ยืมทุนไปประกอบอาชีพก็จะมีทีมงานคอยช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้กู้ให้อยู่เสมอเพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ตามที่นายประเวช เหล่าประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดบึงกาฬ กล่าวไว้ คือการทำให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมีคุณภาพชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สมบูรณ์ทั้งกาย ใจ จิตวิญญาณ และมีคุณธรรม เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ และจากสโลแกนของจังหวัดบึงกาฬ “สร้างคน สร้างเมือง สร้างรายได้” จึงต้องทำให้ประชาชนสามารถเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่กับท้องถิ่นให้ได้ มีรายได้ มีอาชีพ มีงานทำ และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องทิ้งถิ่นฐาน เรียนแล้วไม่ต้องทิ้งบ้าน ทิ้งลูก ทิ้งหลานไปทำงานที่อื่น เนื่องจากการเรียนในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ในวิถีชีวิตของคนในชุมชน แต่วันนี้ได้กลับคืนมาย้อนมองในส่วนของการพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ยึดพื้นที่ชุมชนเป็นหลัก “เริ่มจากต้นทุนที่มี อย่าไปมองสิ่งที่ขาด แล้วช่วยกันทั้งเครือข่าย”
...
ทั้งนี้ เงินทุนหมุนเวียนได้รับการสนับสนุนจากทั้งมูลนิธิเอสซีจี ผู้ใหญ่ใจดี และกลุ่มสมาชิก ซึ่งในช่วงแรกของการสำรวจกลุ่มผู้ด้อยโอกาส จะมีเวทีการคัดเลือก “รุกถึงที่ ลุยถึงถิ่น ลงไปถึงหมู่บ้าน หาคนที่พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ โดยใช้กองทุนนี้เป็นสื่อกลางในการพัฒนาตนเองและสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต” และสิ่งสำคัญคือต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง หนุนเสริม ให้กำลังใจให้เขามีความสุข เพราะถ้าคนเรามีความสุข ก็จะเกิดการเรียนรู้ได้ดีและต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันนางรัศมี วางแผนว่าจะทำให้กองทุนนี้เติบโตขึ้นเพื่อไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้ได้มากยิ่งขึ้น
...
และในอนาคต ร.ต.พูนศักดิ์ พระรัตภูมี ศึกษาธิการจังหวัดบึงกาฬ ก็ได้วางแผนเตรียมคนให้พร้อมเพื่อที่จะรองรับโอกาสในวันข้างหน้า ตามสโลแกนของจังหวัดที่ให้ความสำคัญกับการ “สร้างเมือง สร้างคน สร้างรายได้” เพราะเมื่อเมืองมีความพร้อม คนมีความพร้อม รายได้ก็จะเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬได้รับโอกาสจาก กสศ. ให้เป็นจังหวัดนำร่องเพื่อ Set Zero เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้งหมดกว่า 4,700 คน ในจังหวัด โดยได้มีการ MOU ร่วมกับ กสศ. เพื่อที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามแนวคิดของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดว่า “เด็กบึงกาฬทุกคนต้องได้เรียนและพัฒนา” จึงกำลังดำเนินการเรื่องบึงกาฬโมเดลเพื่อทำให้เกิด Zero Dropout โดยใช้ตำบลเป็นฐาน เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ปกครอง รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง และเพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้เด็กและเยาวชนก้าวไปสู่เป้าหมายของตัวเองให้ได้ โดยบึงกาฬโมเดลที่ร่วมมือกับ กสศ. นั้นจะขยายผลให้ครบทั้ง 52 ตำบล ในปี 2568
ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรแรงงานนอกระบบ กสศ. กล่าวทิ้งท้ายว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ทำให้เห็นรูปธรรมว่าชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ หากทุกคนในชุมชนตื่นตัว ซึ่ง ก.กก บึงกาฬ จะเป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่างองค์ความรู้ ให้ชุมชนอื่นๆ ตื่นตัวและเดินตามได้ และผมเชื่อว่าหน่วยจัดการเรียนรู้ในพื้นที่เช่นนี้จะเป็นคานงัดสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศได้