“น้ำผึ้งเดือน 5 ที่ได้ชื่อว่ามากด้วยสรรพคุณ เพราะเป็นน้ำผึ้งที่เก็บในช่วงฤดูร้อน ความชื้นมีน้อย น้ำผึ้งมีความเข้มข้นสูง เลี้ยงผึ้งมา 20 กว่าปีแล้ว ตอนนี้เลี้ยงอยู่ประมาณ 1,200 รัง ผึ้งที่นำมาเลี้ยงครั้งแรกเป็นสายพันธุ์ของศูนย์ผึ้ง กรมส่งเสริมการเกษตร แล้วต่อยอดกันมา มีพันธุ์ไต้หวันบ้าง”
พิภพ คำอ้ายด้วง ที่ปรึกษาสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งจังหวัดแพร่ จำกัด ต.วังธง อ.เมือง จ.แพร่ ที่ก่อตั้งขึ้นมาปี 2546 เนื่องจากชาวบ้านมีการเลี้ยงผึ้งกันมาก และประสบปัญหาต้นทุนในการหาน้ำตาลมาเลี้ยงผึ้งมีต้นทุนสูง เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งจึงรวมกลุ่มกันต่อเป็นสหกรณ์ เพื่อจะได้มีอำนาจในการต่อรองราคากับบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่
“ผึ้งจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 9 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงมกราคม จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มทยอยเก็บน้ำผึ้งไปจนถึงเมษายนของทุกปี น้ำผึ้งช่วงนี้ถือว่าเป็นน้ำผึ้งมีคุณภาพ มีความเข้มข้นสูง จากนั้นจะจำหน่ายให้กับพ่อค้าส่งออกที่มารับซื้อถึงหน้าฟาร์ม ส่วนหนึ่งจะนำมาแปรรูปเป็นน้ำผึ้งบรรจุขวด แต่ละปีจะได้น้ำผึ้งเฉลี่ยประมาณ 9,000-10,000 ขวด จำหน่ายขวดละ 100-120 บาท ภายใต้แบรนด์ บ้านผึ้งฟาร์ม ขายให้กับพ่อค้าส่งออกไปไต้หวัน ส่วนที่เป็นของสหกรณ์ใช้แบรนด์ น้ำผึ้งวังธง ตามชื่อตำบลที่ตั้งของสหกรณ์”
...
ในเรื่องการตลาด สมาชิกรายใหญ่เลี้ยงผึ้งหลายร้อยรัง มีผลผลิตน้ำผึ้งมากจะขายให้พ่อค้าโดยตรง...แต่ถ้าเป็นรายเล็กรายน้อย จะขายน้ำผึ้งให้กับสหกรณ์ที่ปรึกษาสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งจังหวัดแพร่ ยอมรับว่า การทำอาชีพเลี้ยงผึ้งแม้จะมีรายได้ดีพอสมควร แต่เป็นอาชีพที่ทำได้แค่อาชีพเดียว จะทำอาชีพเสริม หารายได้อย่างอื่นเข้ามาเพิ่ม ทำได้ค่อนข้างยาก
เพราะต้องโยกย้ายเดินทางไปตามที่ต่างๆที่มีไม้ผลกำลังออกดอก อย่างช่วงมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เชียงใหม่ ลำพูน ลำไยกำลังออกดอก คนเลี้ยงผึ้งต้องย้ายรังผึ้งไปที่นั่น ต่างจากอาชีพเกษตรแขนงอื่น ปลูกพืชผัก ทำสวนผลไม้ ทำปศุสัตว์ เลี้ยงวัว เลี้ยงควายต้องอาศัยอยู่กับบ้านตลอดไม่ต้องโยกย้ายไปไหน
“แต่การเดินทางโยกย้ายแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นที่เป็นต้นทุน ยังดีที่เรามีสหกรณ์หาแหล่งทุนให้สมาชิกกู้ยืม เข้ามาช่วยในเรื่องหาวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้ง รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้แก่สมาชิก มีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดแพร่คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ตอนนี้น้ำตาลอาหารผึ้งมีราคาแพงขึ้น กระทบต้นทุนกับผู้เลี้ยงผึ้ง ทางสหกรณ์จะช่วยเจรจาซื้อน้ำตาลทรายจากโรงงานโดยตรงมาขายต่อให้กับสมาชิกในราคาต้นทุน ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งได้ในระดับหนึ่ง”
สำหรับสถานะของสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งจังหวัดแพร่ จำกัด ปีที่แล้วมีหนี้คงค้างอยู่ 1.5 ล้านบาท จากการกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ซื้อน้ำตาลเพื่อเป็นอาหารผึ้งให้กับสมาชิก ตอนนี้ชำระไปแล้ว 6.8 แสนบาท ถือเป็นตัวอย่างสหกรณ์ที่ดี สมาชิกมีรายได้จากการประกอบอาชีพที่มั่นคง ส่งผลให้การชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี.
...
ชาติชาย ศิริพัฒน์
คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม