เมื่อถอดรหัสโจทย์ได้สำเร็จ เด็กหลายคนรีบวิ่งออกนอกห้องไปยังอาคารที่อยู่ติดกัน บางคนวิ่งแบบไร้จุดหมาย ในขณะที่บางคนหาโลเคชันจากมือถือเพื่อแกะคำใบ้จากโจทย์เมื่อสักครู่ พวกเขาต้องหาคำใบ้ที่ติดอยู่ที่มุมหนึ่งของตึกให้เจอ เพื่อใช้ตอบโจทย์ข้อต่อไป
เด็กๆ เหล่านี้ คือ ตัวแทน 60 คนจากโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายทั่วประเทศ ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ค่ายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ RPCA-UNICEF Cybersecurity Bootcamp” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จ.นครปฐม โดยโรงเรียนนายร้อยตำรวจร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ค่ายดังกล่าวผสมผสานกิจกรรมกลางแจ้งและการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นเวลา 3 วัน เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และมีพฤติกรรมออนไลน์ที่ปลอดภัย
“ค่ายนี้สนุกดีและได้ความรู้ด้วย” ชญานิษฐ์ มุณีแนม หนึ่งในผู้เข้าร่วมจาก จ.สงขลา เล่าถึงกิจกรรมกลางแจ้งที่พวกเขาวิ่งเพื่อค้นหาเบาะแสของคำใบ้ถัดไปที่ติดอยู่ภายนอกอาคาร ชญานิษฐ์และเพื่อนร่วมทีม เบญญาภา ฐขวัญแก้ว เป็นสองคนจากผู้สมัคร 256 คนจากทั่วประเทศที่ผ่านการทดสอบและเวิร์กช็อปทางออนไลน์ไปเมื่อก่อนหน้านี้
มูฮัมหมัด ราฟิก ข่าน หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้เด็กและเยาวชนเกือบทั้งหมดใช้เวลาบนโลกออนไลน์วันละหลายชั่วโมง ดังนั้น การส่งเสริมความรู้ดิจิทัลและทักษะความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับเยาวชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน
ในช่วงสองวันแรกของค่าย เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ในแง่มุมต่างๆ พร้อมวิธีเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมจาก open-source intelligence โจทย์บางข้อฝึกให้พวกเขาตามล่าหาชิ้นส่วน QR code และนำมาต่อเข้าด้วยกันเพื่อไขคำตอบถัดไป นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับนิติเวชดิจิทัลในห้องที่ถูกจัดขึ้นเป็นสถานที่ก่อเหตุอาชญากรรม โดยค่ายติวเข้มสามวันนี้ปิดท้ายด้วยการแข่งขันเพื่อเก็บคะแนนชิงรางวัล
พ.ต.ท.วงศ์ยศ เกิดศรี จากคณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สังเกตเห็นว่าเด็กๆ สนใจที่จะเรียนรู้ทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นอย่างมาก หลายคนหาข้อมูลทางออนไลน์และฝึกฝนทักษะทางความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์หลากหลายรูปแบบด้วยตัวเอง ซึ่งบางครั้งจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองที่เข้าใจในความสนใจของเด็กๆ กลุ่มนี้
ระหว่างการทำกิจกรรม เด็กบางคนเล่าอย่างเปิดเผยว่าพวกเขาเคยพยายามจะปรับเปลี่ยนเกมออนไลน์เพื่อจะได้เก็บแต้มมากขึ้น ในขณะที่เด็กบางคนบอกว่าพวกเขาอยากเรียนรู้ทักษะเหล่านี้เพื่อเอาไปใช้อย่างมีจริยธรรม การได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญในค่ายนี้ช่วยให้เด็กๆ มีความสนใจในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้น
เบญญาภาสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดระยะเวลาสามวัน เธอบอกว่าแม้เด็กๆ จะสามารถเรียนรู้เทคนิคและทักษะต่างๆ จากชั้นเรียนหรือโลกออนไลน์ได้ไม่ยากนัก แต่อุปสรรคคือข้อมูลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เป็นภาษาไทยนั้นมีค่อนข้างจำกัด
“แม้ว่าน้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมล้วนเป็นคนเฉลียวฉลาด แต่การเรียนรู้ด้วยตนเองอาจหมายความว่าพวกเขาไม่ได้รับคำแนะนำด้านจริยธรรม ซึ่งอาจจะชักจูงพวกเขาไปสู่การปฏิบัติที่ผิดจริยธรรมโดยไม่ได้ตั้งใจ” พ.ต.ท.วงศ์ยศกล่าวถึงเด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมว่าแม้จะสามารถหาความรู้เรื่องทักษะและข้อมูลทางออนไลน์ได้เอง แต่ยังขาดความตระหนักรู้เรื่องจริยธรรม เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์หลักของการฝึกปฏิบัติครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็คือการให้คำแนะนำและปลูกฝังหลักปฏิบัติด้านจริยธรรมให้กับผู้เข้าร่วม
มูฮัมหมัด ราฟิก ข่าน เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เขาเห็นว่าการเรียนการสอนเรื่องจริยธรรมทางไซเบอร์ยังคงมีอย่างจำกัด ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เด็กๆ “อาจเผชิญความยากลำบากในการแยกแยะถูกผิดเมื่ออยู่ใน สถานการณ์ที่คลุมเครือ”
นอกจากความปลอดภัยไซเบอร์แล้ว ค่ายนี้ยังเน้นสร้างความตระหนักเรื่องการแสวงประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ ซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามเด็กและเยาวชนในประเทศไทย โดยแม้เด็กๆ ที่เข้าร่วมจะมีความสามารถในการคิดเชิงตรรกะและมีความเชี่ยวชาญในการเขียนโปรแกรมหรือถอดรหัสเกินอายุ แต่พวกเขายังคงเปราะบางต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบหรือล่อลวง (กรูมมิ่ง) โดยคนร้ายที่อาจสวมรอยมาตีสนิท
“ค่ายนี้ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาระมัดระวังก่อนมากขึ้นในการแชร์ข้อมูลส่วนตัวกับใคร หรือระวังคนที่มาตีสนิทด้วย” นรต. ธนพนธ์ บุญสุข หนึ่งในนักเรียนนายร้อยตำรวจซึ่งเป็นคณะผู้จัดค่ายกล่าว
ข้อมูลจากรายงาน "Disrupting Harm" ในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ ร่วมกับเอ็คแพท และอินเตอร์โพลในปี 2565 ระบุว่า ในปี 2564 เพียงปีเดียว เด็กในประเทศไทยประมาณ 400,000 คน หรือเกือบ 1 ใน 10 ตกเป็นเหยื่อการแสวงประโยชน์ทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ ซึ่งมักกระทำโดยคนที่เด็กๆ รู้จักหรือคนแปลกหน้าที่เข้ามาตีสนิทด้วย
ชญานิษฐ์และเบญญาภาเคยได้ยินเรื่องการหลอกลวงทางไซเบอร์และการแสวงประโยชน์ทางเพศออนไลน์ แต่การเข้าร่วมกิจกรรมค่ายในครั้งนี้ทำให้พวกเขาเห็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเองมากขึ้น “ตอนนี้เราพอรู้วิธีจัดการกับการบูลลี่ออนไลน์และการคุกคามทางเพศบ้างแล้ว” เบญญาภากล่าว
มูฮัมหมัด ราฟิก ข่าน หวังว่าค่ายนี้จะช่วยให้เด็กๆ สามารถปกป้องตนเองในโลกออนไลน์ได้ดีขึ้น และเขาหวังที่จะเห็นการจัดการเรียนการสอนด้านความรู้ดิจิทัลและการตระหนักเรื่องภัยออนไลน์มากขึ้น “ความปลอดภัยในโลกออนไลน์ของเด็กๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการสร้างพลเมืองดิจิทัลที่รอบรู้ ยืดหยุ่น และมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นด้วย”