นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนพิการที่ขึ้นทะเบียนกับ พก.มีบัตรคนพิการ แล้วจำนวน 2,283,502 คน ขณะที่ตัวเลขที่สำนักงานสถิติบันทึกมีจำนวน 4,190,000 กว่าคน ตัวเลขที่แท้จริง ไม่แน่ใจจะอ้างอิงจากที่ใด ทั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สั่งการให้เร่งสำรวจนำขึ้นทะเบียนเพื่อให้กับคนพิการได้รับสิทธิสวัสดิการที่พึงได้ ซึ่งตั้งแต่เดือน ก.ย.2566 มีจำนวนผู้พิการที่ขึ้นทะเบียน 2,240,000 กว่าราย จนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากว่า 40,000 ราย ใช้ระยะเวลาช่วง 4-5 เดือนในการค้นหาเชิงรุก จากนี้ พก.ยังคงเร่งค้นหาเพิ่มเติม โดยใช้ศูนย์บริการคนพิการจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) รวมถึงเครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) เร่งสำรวจร่วมกับท้องถิ่น

อธิบดี พก.กล่าวว่า ขณะนี้ พก.มีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และท้องถิ่นในการให้บริการจดทะเบียนคนพิการเป็น one stop service โดยรับการตรวจประเมินออกใบบ่งชี้ความพิการพร้อมออกบัตรคนพิการได้ที่ รพ. จากนั้น รพ.จะเชื่อมข้อมูลให้กับท้องถิ่นตามภูมิลำเนาของคนพิการเพื่อขึ้นทะเบียนและรอรับเบี้ยความพิการของเดือนถัดไปได้โดยไม่จำเป็นต้องไปแจ้งที่ท้องถิ่นอีก ซึ่งได้ดำเนินการใน กทม. แล้ว ต่างจังหวัดกำลังเชื่อมข้อมูลระหว่าง รพ.กับท้องถิ่น เริ่มทดลองที่ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ ตนยังได้หารือกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเห็นด้วยในการเชื่อมข้อมูลเพื่อใช้บัตรประชาชนแทนบัตรคนพิการ รวมทั้งหารือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อเชื่อมข้อมูลบัตรทองด้วย อยู่ระหว่างดำเนินการตั้งเป้าให้เสร็จภายในปีนี้

...

นายกันตพงศ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ พก.ยังได้ปรับแก้ประกาศกระทรวงถึงเกณฑ์ประเมินความพิการ นอกจากใช้หลักการทางการแพทย์ประเมินแล้ว ปรับเพิ่มให้มีการประเมินทางสังคมด้วย อยู่ระหว่างส่งร่างประกาศที่ปรับแก้ให้ รมว.พม.ลงนาม เนื่องจากบางครั้งการใช้หลักทางการแพทย์ประเมินความพิการอย่างเดียวไม่เพียงพอ เช่น ตาบอดข้างเดียว ถ้ายึดหลักการแพทย์ถือว่ายังทำกิจวัตรประจำวันได้ ถ้าหากเราใช้หลักทางสังคมอาจจะเข้าข่ายพิการทางกายได้หรือไม่ เพราะบางคนอาจจะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อนำเป็นประเด็นหารือผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยแต่ละเรื่อง ที่ผ่านมาคนตาบอดเพียงข้างเดียวยังไม่ถือว่าเป็นผู้พิการที่จะได้รับสิทธิในเบี้ยความพิการ ทั้งนี้ เพื่อเอื้อให้คนพิการได้เข้าถึงสิทธิอย่างทั่วถึง.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่