จำปาดะ...ถือเป็นไม้ผลพันธุ์พื้นเมืองทางภาคใต้ของประเทศไทย นิยมนำผลสุกมาประกอบอาหารหวานและแปรรูป พบปลูกมากที่สุดในจังหวัดสตูล พื้นที่ปลูกรวม 1,685 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 1,175 เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรสตูล และจากการที่เป็นสินค้าอัตลักษณ์ประจำถิ่น ประกอบกับเป็นไม้ผลที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นกว่าที่อื่น จึงได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อ 3 พฤษภาคม 2562

โดยมีแหล่งผลผลิตสำคัญอยู่ที่ อ.ควนโดน เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์ขวัญสตูล เนื่องจากเป็นพันธุ์ทางการค้า ผู้บริโภคนิยม มีลักษณะเด่น คือ เนื้อสีเหลืองออกสีส้ม ยุมใหญ่ เนื้อหนา ไม่เละ กลิ่นไม่จัดและรสชาติไม่หวานมาก

หากปลูกโดยการเพาะเมล็ดจะใช้เวลา 5-6 ปี ถึงจะให้ผลผลิต แต่ถ้าปลูกโดยการเสียบยอด/ ติดตา/ทาบกิ่ง จะใช้เวลาเพียง 3-4 ปี เมื่อจำปาดะมีช่วงอายุเหมาะสมในการให้ผลผลิต หลังจากออกดอกจนกระทั่งดอกบาน นับระยะเวลาได้ 120 วัน เกษตรกรจะทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต จะเป็นช่วง ก.ค.-ส.ค.

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) ติดตามสถานการณ์การผลิตจำปาดะในจังหวัดสตูล ปี 2566 ได้ผลผลิตรวม 1,552 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 1,321 กิโลกรัม (จำปาดะ 1 ลูก มีน้ำหนักประมาณ 2-5 กิโลกรัม) ราคาขายผลสดเฉลี่ยปี 2566 อยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท

ด้านการตลาด เกษตรกรขายแบบผลสดร้อยละ 98 ส่วนร้อยละ 2 จะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ขนมโดนัทจำปาดะ ทองพับจำปาดะ หม้อแกงจำปาดะ ขนมกลีบลำดวนจำปาดะ และปั้นสิบไส้จำปาดะ

ส่วนการจำหน่ายผลผลิต ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางที่เข้ามารับซื้อในพื้นที่ รองลงมาร้อยละ 15 ขายในตลาดท้องถิ่น และร้อยละ 5 จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์.

สะ–เล–เต

...

คลิกอ่าน "หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน" เพิ่มเติม