ดร.วีรกัญญา มณีประกรณ์ หัวหน้าทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า นาโนเทคประสบความสำเร็จในการพัฒนาเซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าตรวจวัดโลหะหนัก ตัวช่วยตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของ 4 โลหะอันตรายอย่างแคดเมียม ตะกั่ว ปรอท และสารหนูในน้ำและพืชสมุนไพร ตอบโจทย์การใช้งานภาคสนามและห้องปฏิบัติการขนาดเล็ก มีจุดเด่นคือตรวจพร้อมกันได้หลายชนิดโลหะ รู้ผลเชิงปริมาณใน 1 นาที เพื่อแก้ปัญหามลพิษ ตอบโจทย์ BCG ด้าน Green Economy เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ดร.วีรกัญญากล่าวต่อว่า ทีมวิจัยพัฒนาโดยการนำขั้วไฟฟ้านำมาปรับปรุงคุณสมบัติด้วยวัสดุนาโนที่ออกแบบให้จำเพาะกับสารโลหะหนักแต่ละชนิด 4 ชนิดในรูปแบบเซ็นเซอร์แผ่นบาง การตรวจวิเคราะห์จะเริ่มจากนำตัวอย่างผสมกับน้ำยาที่พัฒนาขึ้น หยดลงบนขั้วไฟฟ้าในบริเวณที่กำหนด กดปุ่มตรวจวัดผ่านโปรแกรมการตรวจวัด โปรแกรมจะวิเคราะห์ปริมาณความเข้มข้นของโลหะที่อยู่ในตัวอย่างภายใน 1 นาที ในกรณีที่เป็นพืชสมุนไพรนั้น จะนำพืชมาผสมกับน้ำยาแล้วคั้นน้ำจากพืช และใช้น้ำคั้นจากพืชหยดลงบนขั้วไฟฟ้าและตรวจวัดด้วยวิธีการเช่นเดียวกัน
...
“เซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าตรวจวัดโลหะหนักมีจุดเด่นคือให้ผลการตรวจวัดรวดเร็ว สามารถใช้คัดกรอง ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณว่ามีการปนเปื้อนสารโลหะหนักหรือไม่ ชนิดใด ในปริมาณเท่าไหร่ โดยการตรวจวัดตัวอย่างน้ำ ได้แก่ น้ำดิบ น้ำดื่ม และน้ำใช้ เซ็นเซอร์ให้ผลการตรวจวัดที่ถูกต้องและแม่นยำ มีประสิทธิภาพดีเมื่อเทียบกับชุดตรวจที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบันที่มีความถูกต้องแม่นยำต่ำ ราคาแพง ใช้เวลาแสดงผลนานประมาณ 10-30 นาที เซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าฯ เป็นทางเลือกในการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำให้สามารถตรวจติดตามการปนเปื้อนโลหะหนักในน้ำได้อย่างสม่ำเสมอด้วยตนเอง” ดร.วีรกัญญากล่าวและว่าปัจจุบันต้นแบบเซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าตรวจวัดโลหะหนักถูกนำไปใช้งานจริงร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เป็นต้น.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่