ไม่ เชื่อก็ต้องเชื่อว่าคนไทยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะมากที่สุดในแต่ละวัน แต่จิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยกับอยู่ในระดับต่ำสุด โดย เฉพาะเรื่องการสวมหมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อกไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่หรือผู้ซ้อนท้าย

ปี 2566 คนไทยตายจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์มากที่สุดในบรรดาอุบัติเหตุทั้งหมด คือ 9,489 ราย รองลงมาคือ รถยนต์ 1,013 ราย รถบรรทุกขนาดเล็ก รถตู้ 400 ราย คนเดินเท้า 385 ราย และรถบรรทุกหนัก 76 ราย

ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลกลางด้านการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุสาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุกับรถจักรยานยนต์มากที่สุด 90.7% เกิดจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งถือว่าน่าตกใจมาก เพราะแสดงว่ามีผู้ขับขี่และใช้รถจักรยานยนต์ไม่ถึง 10% ที่สนใจเรื่องความปลอดภัยโดยเฉพาะการสวมหมวกนิรภัย ส่วนสาเหตุรองลงมาคือ เมาแล้วขับ 38.3% ส่วนในกรณีรถทั่วไปก็มีเรื่องของการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 37.5% ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ 33.5% และไม่คุ้นเส้นทาง 17.3%

ศิริวรรณ สันติเจียรกุล นักวิจัยจากโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย บอกว่า นอกจากการไม่สวมหมวกนิรภัยจะเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของผู้ใช้รถจักรยานยนต์แล้ว ตัวรถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในประเทศไทยเองก็ไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเบรก ABS ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างในยุโรป สภาความปลอดภัยในการขนส่งแห่งยุโรป หรือ ETSC ได้เสนอต่อรัฐบาลของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู ให้เบรก ABS เป็นมาตรฐานบังคับของรถจักรยานยนต์ที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมในทุกรุ่นที่ต่ำกว่า 125 cc เพื่อรักษาชีวิตเยาวชนของทุกประเทศในกลุ่ม EU และในหลายประเทศยังมีมาตรการห้ามเด็กอายุ 14 ปีขี่มอเตอร์ไซค์ การตรวจสอบว่าผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สามารถถูกลงโทษหากใช้ความเร็วเกินขีดจำกัดได้เช่นเดียวกับผู้ใช้พาหนะอื่นๆบนถนน

...

นอกจากนี้ รถจักรยานยนต์ในไทยยังมีเรื่องของไฟส่องสว่างที่มีขนาดเล็ก หรือแม้แต่จุดเล็กๆอย่างตะกร้าหน้ารถก็ไม่มีความปลอดภัยเช่นเดียวกัน ยังไม่รวมความไม่เอื้ออำนวยของถนน กฎหมาย และอื่นๆอีกมากมายที่ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยเราครองแชมป์การตายจากมอเตอร์ไซค์มากที่สุดในโลก

สำหรับจังหวัดที่มีการสวมหมวกกันน็อกหรือหมวกนิรภัยสูงที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร อัตราการสวมหมวกนิรภัยอยู่ที่ 48% ไม่ถึง 50% รอง ลงมาจังหวัดอื่นๆที่ติดท็อป 10 ของการสวมหมวกกันน็อก เช่น ภูเก็ต อยุธยา แม่ฮ่องสอน นครราชสีมา ปทุมธานี สิงห์บุรี ระยอง ปราจีนบุรี และชลบุรี อัตราการสวมหมวกนิรภัยอยู่ที่ 24-36%

ส่วนจังหวัดที่สวมหมวกนิรภัยต่ำสุด คือ ยะลา กระบี่ ปัตตานี อัตราการสวมหมวกนิรภัยอยู่ที่ 3% จังหวัดในกลุ่มที่สวมหมวกกันน็อกต่ำสุด คือ เพชรบุรี ยโสธร อัตราการสวมหมวกนิรภัยก็ยังอยู่ที่ 8% เท่านั้น

ด้าน พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านการบาดเจ็บและพิการภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ในฐานะหัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย ได้แสดงความเป็นห่วงประชาชนที่เดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยต้องใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ขอให้ระมัดระวังในการขับขี่ ต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่ รวมถึงคนซ้อนท้ายด้วย ทั้งนี้ เพราะทุกๆปีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดก็คือรถจักรยานยนต์ และรถที่ทำให้คนตาย เจ็บสาหัส และพิการมากที่สุดก็คือรถจักรยานยนต์

“อยากให้ทุกคนระมัดระวัง รักชีวิตตนเอง เป็นห่วงคนที่บ้านที่รอเราอยู่ ถ้าเราไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยอาจจะกลับไม่ถึงบ้าน นอกจากนี้ ในการเล่นสาดน้ำก็ควรระมัดระวัง ไม่ควรสาดน้ำใส่รถมอเตอร์ไซค์ในขณะที่รถกำลังวิ่งอยู่ เพราะอาจเป็นอันตราย รถล้ม หรือเสียหลักเป็นเหตุให้รถคันอื่นมาชนหรือไปชนรถคันอื่นได้” คุณหมอชไมพันธุ์ย้ำ

ทั้งนี้ มีการประเมินว่า หากคนไทยทุกคนที่ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อกในการขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ จะลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงได้กว่า 5,000 คนใน 1 ปี.

...

คลิกอ่านคอลัมน์ "สมาร์ทไลฟ์" เพิ่มเติม