คำแถลงที่แสดงจุดยืน 6 ข้อของคณะกรรมการกลางสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ภายหลังจากกิจกรรมปล่อยขบวนรถบรรเทาทุกข์ของทางการไทยเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่หนีภัยการสู้รบใน 3 หมู่บ้านในรัฐกะเหรี่ยง
คำแถลงนี้แม้มีเนื้อหาชื่นชมและขอบคุณการส่งต่อความช่วยเหลือครั้งนี้ แต่ยังไม่เห็นด้วยกับการให้กาชาดพม่าเข้ามาเป็นตัวละครในครั้งนี้ ที่สำคัญคำแถลงฉบับนี้ได้พาดพิงถึงกองทัพบกไทยที่มีส่วนในการส่งมอบความช่วยเหลือ...และในวันรุ่งขึ้น KNU ก็ได้เปลี่ยนแปลงแถลงการณ์ฉบับใหม่
โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เหมือนเดิม เพียงแต่ตัดคำว่า “กองทัพบกไทย” ออกไป
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้สะท้อนความอ่อนไหวและการระมัด ระวังตัวอย่างยิ่งของกองทัพบกไทยในการมีปฏิสัมพันธ์ใดๆกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
เช่นเดียวกับบริเวณด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อเช้าวันที่ 25 มี.ค.2567 ซึ่งมีพิธี “คิกออฟ” ปล่อยขบวนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากไทยสู่เมียนมา
...
บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีผู้คนมากหน้าหลายตามาร่วมงาน โดยคณะใหญ่คือ กระทรวงการต่างประเทศไทย
นำโดย นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ขณะที่ตัวแทนฝั่งเมียนมาคือ นายอู โอง ไว ประธานสภากาชาดเมียนมา สาขาเมียวดี
รูปแบบการช่วยเหลือครั้งนี้ถูกป่าวประกาศว่า เป็นการส่งมอบสิ่งของผ่านกาชาดไทยและกาชาดเมียนมา ไปยังผู้หนีภัยการสู้รบที่กำลังเดือดร้อน... ขณะที่กองทัพบกได้นำสื่อมวลชนคณะใหญ่จากกรุงเทพฯนั่งเครื่องบินของกองทัพไปร่วมทำข่าวในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนต่างชาติหลายสำนักข่าว
ท่ามกลางผู้คนหลากหลายที่มาร่วมงาน ยังมีคนสำคัญในกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์เข้ามาร่วมสังเกตการณ์ด้วย เพียงแต่เลือกที่จะไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะ เนื่องจากได้รับการขอร้องจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลไทยให้ “เบื้องหลัง” ของกิจกรรมระเบียงมนุษยธรรมในครั้งนี้เป็น “เรื่องลับ”
เพราะเกรงจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมาหรือ SAC (State Administration Council)
ภาสกร จำลองราช “สำนักข่าวชายขอบ” www.transbordernews.in.th เปิดประเด็นความใกล้ชิดระหว่าง พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพพม่าและผู้นำเหล่าทัพของไทย รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีไทยได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด
เพราะความสัมพันธ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองโดยเฉพาะภายหลังจากที่กองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อ 3 ปีก่อน
และ...ได้กลายเป็นจุดหักเหครั้งใหญ่ที่ส่งผลต่อการถอยร่นของกองทัพพม่า
ขณะที่กองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านได้เติบโตเพิ่มขึ้นทุกวัน
“การที่กองทัพไทยและหน่วยงานด้านความมั่นคงยังคงให้น้ำหนักหรือบทบาทกับ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย และ SAC จึงถูกตั้งคำถามมากมาย เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วตลอดชายแดนกว่า 2 พันกิโลเมตรของไทยที่ติดเมียนมาเป็นอาณาเขตของรัฐชาติพันธุ์”
ประชาชนตลอดแนวชายแดนทั้งสองฟากต่างก็เป็นเครือญาติกัน แต่การให้ความสำคัญยังอยู่ที่กรุงเนปิดอว์ ทำให้การแก้ไขปัญหาตลอดแนวชายแดนไทยต้านตะวันตกเต็มไปด้วยความขลุกขลักและผิดทิศผิดทางมาโดยตลอด
...
นับเนื่องไปถึงกรณีการช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกขบวนการมาเฟียจีนเทาหลอกไปทำงานในเมืองเล่าก์ก่าย เขตปกครองโกก้างในรัฐฉานเหนือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เนื่องจากรัฐบาลไทยมุ่งแต่ประสานงานโดยตรงกับ SAC เพื่อให้ช่วยเหลือเหยื่อคนไทย แต่ในเขตโกก้างเป็นเขตที่อิทธิพลของ SAC ถูกขับไล่ออกหมดแล้ว
ดังนั้น “เหยื่อคนไทย” จึงต้องรอคอยการช่วยเหลือนานนับเดือน ทั้งๆที่สถานการณ์อยู่ในช่วงวิกฤติที่เกิดการสู้รบกัน ในที่สุดคนไทยกลุ่มนี้ต้องหนีออกมาเองในช่วงชุลมุนของการสู้รบและได้รับความช่วยเหลือจากกองกำลังชาติพันธุ์จนสามารถกลับคืนสู่ประเทศไทยโดยนั่งเรือมาตามลำน้ำโขง
“กระบวนการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้ แทบจะไม่เกี่ยวข้องใดๆกับ SAC เลย”
รัฐบาลทหารพม่าสูญเสีย “อำนาจรัฐ” ในพื้นที่ชายแดนรอบประเทศ ดังนั้นการที่รัฐไทยยังคงมุ่งมั่นการแก้ปัญหาด้วยวิธีการรัฐต่อรัฐ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลง...
“ความเกรงใจ” ของผู้กุมนโยบายด้านความมั่นคงของไทยที่มีต่อ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย และ SAC ไม่ได้มีประโยชน์หรือผลดีต่อการแก้ไขปัญหาตลอดชายแดนไทย-พม่าเลย
...
แตกต่างจากรัฐบาลจีนที่เล่นบทบาททางการทูตหลายหน้า ด้านหนึ่งเขาใกล้ชิดกับ SAC เพราะต้องการรักษาผลประโยชน์ใหญ่หลวงของตัวเองในประเทศเมียนมา แต่ด้านหนึ่งเขาสนับสนุนกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ให้บุกทลายธุรกิจสีเทาในชายแดนเมียนมาเพราะประชาชนของเขาเดือดร้อนจากแหล่งอาชญากรรมริมรั้วบ้าน
น่าสนใจว่า... “จีน” ยังสนับสนุนให้กลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ที่มีความใกล้ชิดกับเขาขยายอิทธิพลออกไปกว้างขวางจนถึงชายแดนไทยด้านจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่
อีกครั้งเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทางการจีนสามารถส่งเครื่องบินมารับคนของเขาที่ถูกต้มตุ๋นหลอกลวงมาทำงานในแหล่งอาชญากรรมริมแม่น้ำเมย เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา
โดยประสานตรงกับผู้นำกองกำลังชาติพันธุ์...คนจีน 886 คนถูกนำตัวออกจากเมียวดี โดยการดูแลของกองกำลังกะเหรี่ยง ผ่านเข้าชายแดนไทยและขึ้นเครื่องบินกลับประเทศอย่างฉลุย โดยรัฐบาลทหารพม่าได้แต่มองอยู่ห่างๆ
คำถามคือ ทำไมทางการจีนถึงสามารถปฏิบัติการในลักษณะนี้ได้ โดยที่ SAC...สภาบริหารแห่งรัฐเมียนมาไม่มีปฏิกิริยาใดๆ
...
“ขณะที่ปฏิบัติการส่งต่อความช่วยเหลือของทางการไทยในครั้งนี้ แม้จะเป็นเรื่องมนุษยธรรมส่งข้าวของไปให้ชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อนจากการสู้รบ แต่กระทรวงการต่างประเทศและผู้นำกองทัพไทยต่างระมัดระวังเป็นพิเศษจนกลายเป็นปัญหา”
พื้นที่ 3 หมู่บ้านที่ส่งความช่วยเหลือเข้าไปนั้น อยู่ในเขตอิทธิพลของกองทัพกะเหรี่ยง KNU และเส้นทางลำเลียงยังต้องผ่านพื้นที่ของกะเหรี่ยง BGF
ขบวนรถลำเลียงความช่วยเหลือจะไปถึงมือชาวบ้านไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มกองกำลังเหล่านี้ คำถามสำคัญมีว่า...ทุกวันนี้ “รัฐบาลไทย” ให้น้ำหนักความสำคัญกับรัฐชาติพันธุ์ไว้อย่างไร
นโยบายทางการทูตของไทยที่ยังให้น้ำหนักอยู่ที่ SAC มากเกินไปหรือไม่? ทำให้เราต้อง “สูญเสีย” โอกาสดีๆเพื่อบ้านเมืองมากมาย.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม