ช่วงเดือนที่ผ่านมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ “บอร์ด สปสช.” ได้มีการพิจารณาและรับทราบ “ข้อเสนอการปรับคำแนะนำการให้วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์จากกรมควบคุมโรค” และมีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เรื่องประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุข (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อรองรับข้อเสนอดังกล่าว

เดิมที...การฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักในหญิงตั้งครรภ์ สปสช.ได้กำหนดการรับบริการอยู่ที่ 1-3 ครั้ง ซึ่งในความเป็นจริงหญิงตั้งครรภ์ที่เคยได้รับวัคซีนดังกล่าวครบ 3 เข็มไปแล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่มีความจำเป็นต้องฉีดซ้ำ กรมควบคุมโรคจึงเสนอให้ปรับความถี่เป็น 0-3 ครั้งแล้วแต่กรณีตามความจำเป็นแต่ละคน

อีกทั้งตัววัคซีนก็ไม่ใช่แค่การป้องกันแค่โรคบาดทะยักอย่างเดียว แต่ยังป้องกันโรคคอตีบด้วย เลยขอให้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัคซีนรวมป้องกันคอตีบ-บาดทะยัก (dT)”

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

...

นอกจากนี้การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและวัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ มีการปรับเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการตามอายุครรภ์ จึงได้มีการเพิ่มเติมหมายเหตุว่า...การฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ให้เป็นไปตาม “แนวทางการดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในผู้ใหญ่” ของกรมควบคุมโรค

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อธิบายว่า การดำเนินการของ สปสช.ในการดูแลประชาชนเพื่อเข้ารับบริการด้านสุขภาพนั้น ได้ยึดหลักการตามวิชาการและมติความเห็นของคณะกรรมการชุดที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น

กรณีข้อเสนอการปรับคำแนะนำการให้วัคซีนใน “หญิงตั้งครรภ์” ที่เป็นของคณะอนุกรรมการงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ หลังบอร์ด สปสช.มีมติเห็นชอบ ทาง สปสช.จะเสนอร่างประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประธาน บอร์ด สปสช.ลงนามต่อไป

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว

ถัดมา...กรณีบอร์ด สปสช.เห็นชอบ เพิ่มการตรวจวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับและการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกเป็นสิทธิประโยชน์ระบบ “บัตรทอง 30 บาท” ลดความเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อน เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยหยุดหายใจขณะหลับ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) บอกว่า สิทธิประโยชน์นี้มีที่มาจากข้อเสนอในโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบบัตรทอง 30 บาท หรือยูซีบีพี (UCBP) ตั้งแต่ปี 2561

ซึ่งได้มีการศึกษาเพิ่มเติมจนกระทั่งมาเสร็จสิ้นเมื่อปี 2566 โดยพบว่า โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในคนไทย ไม่ว่าจะเพศชายหรือเพศหญิง

“หลายคนคิดว่าเป็นอาการปกติของร่างกายจนอาจละเลยไป ทั้งที่แท้จริงแล้วมีสาเหตุมาจากการที่กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนหย่อนและยุบตัวขณะหลับ ส่งผลให้ลมหายใจผ่านได้น้อย หรือผ่านไม่ได้เลย ทำให้เลือดมีออกซิเจนน้อย และมีคาร์บอนไดออกไซด์เกินกว่าปกติ”

โดยเมื่อเข้าสู่สภาวะดังกล่าว “สมอง” จะเกิดการตื่นตัวโดยอัตโนมัติเพราะต้องปรับการหายใจจนไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ พอตื่นนอนก็จะมีอาการคล้ายคนอดนอน หรือนอนไม่เต็มอิ่ม แม้จะได้นอนอย่างเต็มที่ สมาธิความจำ และสมรรถภาพการทำงานก็จะลดลง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตโดยตรง

...

ที่สำคัญ...อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือโรคอื่นๆที่มีความร้ายแรงได้ด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง บอร์ด สปสช.จึงมีมติเห็นชอบให้มีการตรวจวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น และการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกนี้

นพ.จเด็จ เสริมว่า สำหรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และข้อบ่งชี้ในการรับบริการคือหนึ่ง...มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และสอง...มีข้อบ่งชี้ในการส่งตรวจการนอนหลับอย่างชัดเจน

เริ่มจากมีปัญหาการนอน มีคะแนนประเมินความเสี่ยง OSA สูง หรือแพทย์พิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยผู้ที่จะได้รับการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก จะต้องมีภาวะความรุนแรงของโรคในระดับมากหรือปานกลาง และ...เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดร่วมด้วย

พร้อมทั้งผ่านการทดลองการยอมรับการใช้เครื่อง CPAP ตามที่กำหนด

ลงลึกในส่วนของงบประมาณ คาดว่าในแต่ละปีจะใช้งบประมาณ 84 ล้านบาท สำหรับในปีงบประมาณ 2567 หากสามารถเริ่มให้บริการได้จะใช้งบประมาณราว 42 ล้านบาท โดยหลังจากที่บอร์ด สปสช.มี มตินี้แล้ว เราก็จะดำเนินการต่างๆเพื่อรองรับการให้บริการก่อน

อาทิ จัดทำประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเบิกจ่ายสำหรับหน่วยบริการ การประสานหน่วยบริการ รวมทั้งระบบรองรับการดำเนินการตามมติบอร์ดฯ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยังต้องใช้เวลาดำเนินการ

สิทธิที่เพิ่มเติมข้างต้นนี้...หากทุกอย่างมีความพร้อมในการให้บริการแล้ว “สปสช.” จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอีกครั้ง ติดตามสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. 1330, ช่องทางออนไลน์...ไลน์ไอดี @nhso, https://lin.ee/zzn3pU6, เฟซบุ๊ก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

...

สิทธิสุดท้ายหนุนวาระแห่งชาติ “ส่งเสริมการมีบุตร” นำร่อง 3 ปี “บริการรักษาภาวะมีบุตรยาก” เน้นให้บริการตามลำดับ เริ่มตั้งแต่...ให้คำปรึกษา ให้ยากระตุ้นไข่ และเด็กหลอดแก้ว

ประเด็นนี้นำเสนอโดย รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภท และขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข และ นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาฯ สปสช.

จากรายงานสถานการณ์เด็กเกิดใหม่ในประเทศไทย พบว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2506-2526 มีเด็กเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน แต่ในปี 2565 จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงอยู่ที่ 485,085 คน ขณะที่อัตราเจริญพันธุ์เหลือเพียง 1.08 กลายเป็นวาระที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันเร่งแก้ปัญหา

ข้อมูลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2562-2566 พบว่า มีผู้มีสิทธิที่เข้ารับบริการด้วยวินิจฉัยภาวะการมีบุตรยากอยู่ ปีละ 3,000-3,500 ราย

ประเด็นสำคัญมีว่า...การรักษาภาวะมีบุตรยาก เป็นข้อเสนอสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองฯครั้งแรกในปี 2561 ซึ่งไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่กระบวนการศึกษาวิจัย แต่ในครั้งที่ 2 ปี 2563 ได้มีการปรับหัวข้อการนำเสนอที่ชัดเจนขึ้น ทำให้คัดเลือกเข้าสู่กระบวนการศึกษาวิจัยฯ แต่ขณะนั้นไม่สามารถหานักวิจัยได้

...

อีกครั้งในปี 2566 ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยรับไปสนับสนุนทุนวิจัยและหานักวิจัยเพื่อทำการศึกษาและนําเสนอในเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งจะเกิดผลขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมในเร็ววันนี้

ตอกย้ำหลักคิด “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ที่เข้มแข็งเป็นการ “ลงทุน” ไม่ใช่การ “สงเคราะห์” หมายความว่า หากทรัพยากร “คน” มีสุขภาพที่ดีมีหลักประกัน หากเกิดโรคภัยไข้เจ็บประเทศก็สามารถพัฒนาได้ ที่สำคัญหลักประกันสุขภาพไม่ได้เป็นไปเพื่อคนยากจนเพียงอย่างเดียว แต่ทุกคนต้องมีสิทธิ....

เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเสมอภาค ถ้วนหน้า และมีส่วนร่วมในการเป็น “เจ้าของ”.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม