วันที่ 6 เม.ย. 67 เวลา 07.30 น. ที่พระปฐมบรมราชานุสรณ์ สะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ร่วมวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ 6 เมษายน 2567 โดยมีนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วยข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมในพิธี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ในอดีต ย้อนไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย จึงทำให้วันที่ 6 เมษายนของทุกปี เป็นวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือ วันจักรี (Chakri Memorial Day) เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและมหาจักรีบรมราชวงศ์ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวง ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2325 เรียกกันว่า สมัยรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกันกับที่เคยเรียกยุคสมัยที่ผ่านมาในสยาม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ได้สืบสันตติวงศ์ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน 10 รัชกาล รวมระยะเวลากว่า 242 ปี ดังนั้น พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เป็นศูนย์รวมและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพี่น้องประชาชนชาวไทย และทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนมาโดยตลอด ดังเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 242 ปี พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อความผาสุกและความอยู่ดีกินดีของประชาชน การปกครองประเทศด้วยทศพิธราชธรรม และนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยก่อการร้าย ภัยพิบัติ และภัยที่เกิดจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศ ทรงบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และดูแลปกป้องประชาชนด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาอย่างมิอาจประมาณได้ ประชาชนทุกหมู่เหล่าล้วนแต่เคารพรักและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์โดยแท้จริง

"ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่มีการย้ายสถานที่ในการประดิษฐานหลายครั้ง เช่น พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นต้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ย้ายพระบรมรูปมาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระบรมชนกนาถ จนกระทั่ง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล จึงสำเร็จลุล่วง และได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมาโปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า “วันจักรี” ปัจจุบันได้มีการประดิษฐานพระบรมรูปเพิ่มตามการเปลี่ยนรัชสมัย จนถึงรัชกาลที่ 9 แล้ว และต่อมาในวันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เททองหล่อพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดรสืบไปพร้อมกับการเททองหล่อ พระคันธารราษฎร์ และในอีกหนึ่งปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงประกอบพิธีประดิษฐาน และสมโภชพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ ปราสาทพระเทพบิดร" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า พวกเราในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการ สืบสาน รักษา และต่อยอด เผยแพร่พระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่ทรงมีคุณูปการให้กับประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์มหาศาล ยังผลให้เกิดความเจริญงอกงาม ความเป็นเอกราช และความรุ่งเรืองของประเทศชาติมาจวบจนถึงทุกวันนี้ ด้วยการสร้างองค์ความรู้ เผยแพร่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อร่วมกันรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาทุกแห่ง ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ตลอดจนพี่น้องประชาชน พร้อมใจกันตั้งจิตเป็นกุศล ประกอบคุณงามความดี จิตอาสา รวมทั้งร่วมเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ 6 เมษายน 2567 ร่วมแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ทรงธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงเป็นปึกแผ่น และความเป็นเอกราชของชาติไทยมาจวบจนถึงปัจจุบัน