กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานสัมมนาต่อยอดการศึกษา “ทำอย่างไร? การสื่อสารออนไลน์จึงมีบทบาทในการขับเคลื่อนทางสังคม” สะท้อนปรากฏการณ์ในสังคมไทยและบทบาทการขับเคลื่อนสังคมของสื่อออนไลน์ ในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา โดยนำเสนอประเด็นการศึกษาการสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยตลอดปี 2566 โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ Wisesight โดยใช้เครื่องมือ ZocialEye สำรวจประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2566 บน 5 แพลตฟอร์มออนไลน์ ได้แก่ Facebook, X, Instagram, YouTube และ TikTok เพื่อวิเคราะห์ลักษณะการสื่อสาร และความสนใจใน Social ซึ่งจะเห็นได้ว่าการสื่อสารออนไลน์ในปัจจุบัน มีผู้ส่งสารเป็นจำนวนมาก ซึ่งด้วยผู้บริโภคข่าวสารมีโอกาสที่จะเป็นผู้ผลิตสื่อ หรือผู้ส่งสารเองได้ เช่นเดียวกันกับสื่อมวลชน Influencer องค์กรภาครัฐ และเอกชน ซึ่งงานการศึกษานี้ทำให้เห็นจุดเปลี่ยนของทิศทางการสื่อสารบนโลกออนไลน์ในประเทศไทย ที่ปัจจุบันคนไทยบริโภคสื่อออนไลน์วันละหลายชั่วโมง ที่มากกว่าสื่อโทรทัศน์ โดยกลุ่มผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วไปเป็นผู้สร้างปฏิสัมพันธ์ หรือ Engagement สูงสุด จึงน่าจะมีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมือง สื่อ สิ่งบันเทิง กีฬา เทศกาล และอื่นๆ
โดยในงาน วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล แพลตฟอร์ม องค์กรสื่อ นักวิชาการ มาร่วมกันพูดคุยพร้อมวิเคราะห์ วิจารณ์ ทิศทางต่างๆ ของการสื่อสารบนโลกออนไลน์ เพื่อกระตุ้นเตือนสื่อและสังคม อันเป็นเจตนารมณ์ของ Media Alert ซึ่งมุ่งสะท้อนปรากฏการณ์ในสังคม ผ่านการศึกษาวิจัยด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะประเด็นที่ชี้ชวนให้เห็นว่าการสื่อสารออนไลน์จะมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมอย่างไร รวมถึงทำอย่างไรให้พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่เด็ก เยาวชน และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสได้รับผลประโยชน์จากการสื่อสาร
ผลการศึกษาเรื่อง “การสื่อสารออนไลน์ของสังคมไทยในปี 66” โดย Media Alert และ Wisesight พบว่า 10 ประเด็นการสื่อสารที่มียอด Engagement สูงสุดในโลกออนไลน์ในปี 66 เป็นประเด็นทางการเมืองมากถึง 9 ใน 10 อันดับ ในขณะที่ผลการสำรวจประเด็นที่โลกออนไลน์มีการสื่อสารสร้าง Engagement สูงสุด 10 อันดับแรกในแต่ละเดือน จากเดือนมกราคม-ธันวาคม รวมทั้งหมด 120 ประเด็น พบว่าเป็นเนื้อหาการเมือง 58.02% สื่อ สิ่งบันเทิง 28.68% เทศกาล 4.59% อาชญากรรม 4.03% กีฬา 1.57% เทคโนโลยี 1.07% การขับเคลื่อนทางสังคม 0.82% สัตว์ 0.57% สิ่งแวดล้อม 0.35% ศาสนา ความเชื่อ 0.16% คมนาคม 0.06% การศึกษา 0.04% และแฟชั่น 0.04%
และเมื่อพิจารณาแพลตฟอร์ม พบว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Engagement ได้มากที่สุด (50%) ตามด้วย Facebook (23%), X หรือ Twitter (13%), Instagram (11%) และ YouTube (3%) ในด้านผู้สื่อสาร พบว่ากลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป คือกลุ่มที่มีสัดส่วนในการสร้าง Engagement มากที่สุดถึง 50% หรือครึ่งหนึ่งของการสื่อสารที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สื่อ สำนักข่าว (25%) ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ (23%) ภาคการเมือง แบรนด์ และภาครัฐ (2%) ตามลำดับ
คุณกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) กล่าวโดยสรุปถึงข้อมูลและปรากฏการณ์จากผลการศึกษาชิ้นนี้ว่าไม่ได้สะท้อนเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แต่เป็นการสรุปปรากฏการณ์ต่างๆ ทางสังคมในปีที่ผ่านมา ที่พบว่าคนส่วนใหญ่สนใจและสื่อสารเรื่องการเมืองมากที่สุด และนำเสนอวิธีการศึกษาและทำความเข้าใจสังคม โดยทำความเข้าใจการสื่อสารบนโลกโซเชียล
นอกจากนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) ยังกล่าวถึงโครงสร้างของสื่อที่เปลี่ยนไป ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ Stakeholder ที่ประกอบไปด้วยภาครัฐและเอกชน ต่างก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ อยากให้สังคมดีขึ้น
“เพราะรัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถผลักดันสังคมได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากเอกชนในการสร้างสังคมที่ดีขึ้น สร้างเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สร้างเสถียรภาพ และสร้างสันติสุข ประเทศไหนที่มี PPP มาก ก็จะมีแนวโน้มในการขับเคลื่อนสังคมได้สูง คนทั่วไปก็มีแนวโน้มที่จะให้ความร่วมมือ ซึ่งหากเราร่วมมือกันได้ทุกภาคส่วน มีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันได้ ก็น่าจะเป็นกลไกขับเคลื่อนสังคมไทยที่ทรงพลังอย่างมากในอนาคต”
คุณชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย กล่าวถึงจุดยืนของแพลตฟอร์ม TikTok และเป้าหมายที่วางไว้ในอนาคตว่า “TikTok ของเราเป็นสื่อสร้างความบันเทิง เป็นแพลตฟอร์มที่มีเนื้อหานำ โดยเนื้อหาถูกสร้างขึ้นจากผู้ใช้งาน (User-Genarated Contents) เป็นเนื้อหาที่มีขนาดสั้น เป้าหมายของแพลตฟอร์มคือการสร้างแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ และความบันเทิง และยิ่งไปกว่านั้นเราอยากให้แพลตฟอร์มของเราเป็นแพลตฟอร์มความบันเทิงที่ปลอดภัย และมีความน่าเชื่อถือของสังคม”
“ผลการศึกษานี้ทำให้เราเห็นผลสะท้อนของแพลตฟอร์มเรามากขึ้น ทำให้สามารถนำไปปรับปรุงตัวเองได้มากยิ่งขึ้น TikTok ไม่ใช่เป็นแพลตฟอร์มแบบข่าวด่วน แต่จะเป็นแพลตฟอร์มที่มีความต่อเนื่องของความสนใจในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งาน ซึ่งทำให้เห็นว่าถ้ามีเหตุการณ์ที่สำคัญในชีวิต มันก็จะสะท้อนออกมาจากการโพสต์ การรับชมต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของ Media Alert และ Wisesight ที่พบว่า “การเมือง” เป็นเนื้อหาที่สร้าง Engagement สูงสุด ซึ่งแพลตฟอร์มได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงมีนโยบายไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาทางการเมือง ฉะนั้นสิ่งที่ทุกท่านเห็นนั้นเป็นเนื้อหาที่ได้มาโดยธรรมชาติจากผู้ใช้งาน (Organic) ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาในครั้งนี้ยังพบการสื่อสารในเนื้อหาด้านเทศกาล การแยะขยะ ที่เป็นเนื้อหาเชิงสังคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ TikTok ในการพัฒนาสังคมไทยใน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา
“ในมุมของแพลตฟอร์ม เราก็อยากให้เกิดการใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ในการขับเคลื่อนสังคม ทั้งตัวแพลตฟอร์มเองก็ต้องสร้างฟีเจอร์ที่ดี ที่ปลอดภัย รวมไปถึงความรับผิดชอบของผู้ใช้งานด้วย ที่จะทำให้การสื่อสารในสังคมเป็นไปในเชิงบวก ไม่ทำร้ายกัน และในขณะเดียวกันก็เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับดูแล ที่จะทำให้การสื่อสารออนไลน์มีความปลอดภัย มีความสมดุลกับเสรีภาพในการแสดงออก เป็นการสื่อสารไปในเชิงบวก และสร้างอิมแพคที่ดีให้กับสังคม”
สำหรับการสนับสนุนให้สังคมออนไลน์มีบทบาทในการขับเคลื่อนทางสังคมนั้น หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย มองว่า “จำเป็นต้องมีความร่วมมือกันจากภาครัฐ เอกชน ผู้รับชม หรือผู้ใช้สื่อ (Audience) หน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ซึ่งต้องมีการวางแผนร่วมกันที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น มีการตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าผลที่เราต้องการคืออะไร ก็จะทำให้พลังในการขับเคลื่อนทางสังคมมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายปลายทางที่เราตั้งใจไว้ได้”
คุณอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ ขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวัดผลด้วยยอด Engagement ว่า “ในฐานะของคนที่ทำงานสื่อ พบว่าเราจะต้องอยู่กับสื่อออนไลน์แทบจะตลอดเวลา และแก่นสำคัญของการทำงานคือ การวัดผลด้วยยอด Engagement แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักว่า มีหลายเรื่องที่ยอด Engagement เพียงอย่างเดียวไม่สามารถบอกอะไรได้ทั้งหมด ตรงนี้อยากเสริมในผลการศึกษาว่า Engagement อาจเป็นตัวชี้วัดนำทางที่ทำให้รู้ว่า คนที่เรากำลังสื่อสารด้วยกำลังสนใจและติดตามอะไร แต่ในทางกลับกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องไหนที่ไม่มียอด Engagement หรือมีตัวเลขที่ไม่สูง จะไม่มีความหมาย จะเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในความสนใจ”
“เนื้อหาที่มียอด Engagement สูง ได้รับความนิยม ได้รับความสนใจ ซึ่งสื่อมักเรียกกันว่าเป็นเนื้อหาที่ทำงานได้ คือเนื้อหาที่คนรับสารมีทัศนคติ (Attitude) ร่วมกับสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่น เรื่องการเมืองในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่คนมีทัศนคติร่วมและมีความขัดแย้งอยู่ในนั้น จึงอาจทำให้มียอด Engagement สูง เป็นต้น ไม่ได้หมายถึงแค่การเมือง อีกเรื่องคือ เนื้อหาที่สื่อสารออกไปแล้วเกิดเป็น Viral Content ยิ่งมีคนดูจำนวนมาก ก็ยิ่งมีกำลังใจ จึงเป็นเป้าหมายของการทำงานสื่อ ซึ่งถือเป็นความเติบโตด้วยวิธีคิดแบบ Influencer ฉะนั้น การทำรายงานเชิงสืบสวน การทำเนื้อหาเชิงลึกอย่างเดียว จึงไม่เพียงพอ แต่สื่อในปัจจุบันจำเป็นต้องคิดถึงวิธีการเล่าเรื่องแบบ Influencer ซึ่งทำให้คนเล่าเรื่องมีความสำคัญ อีกทั้งยังต้องปรับตัวตามโครงสร้างการเล่าเรื่องที่แต่ละแพลตฟอร์มให้ความสำคัญ หรือเน้นวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างกัน”
“แต่ก็จะมีเนื้อหาอีกจำนวนหนึ่งที่คนให้ความสนใจ แต่แค่ดูเฉยๆ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับเนื้อหานั้น อาจเพราะไม่ต้องการให้รู้ว่าชอบหรือสนใจในอะไร หากสื่อจับแต่ประเด็นที่มียอด Engagement มาก ก็จะตกอยู่ในระบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก เป็นภาพลวงตา ทำให้เนื้อหาที่มีคนสนใจและเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่มียอด Engagement หรือมียอดรองลงมา หายไปจากพื้นที่การสื่อสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อต้องคำนึงถึง และมองให้ลึกไปกว่ายอดภูเขาน้ำแข็ง ขณะที่สื่อต้องปรับตัวในการทำงานที่ต้องคำนึงถึงทั้งเรื่องรายได้ ความนิยม แต่ก็ไม่ควรละทิ้งประเด็นที่มีความสำคัญและจำเป็น ต้องใช้เวลาและการลงทุนในการเล่าเรื่อง”
สำหรับการใช้โลกออนไลน์ให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนทางสังคม บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ มองว่า “เราต้องเริ่มจากการตั้งเป้าหมาย การเข้าใจตัวเองว่ากำลังทำอะไร เพื่ออะไร เข้าใจกลุ่มผู้รับสาร เข้าใจธรรมชาติของแพลตฟอร์มที่มีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน มีฟังก์ชันที่เหมาะกับการเล่าเรื่องเพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ที่ต่างกัน จึงควรเริ่มจากจุดนี้”
คุณสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion ต่อยอดข้อมูลจากผลการศึกษาว่า “งานนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสามารถนำไปต่อยอดได้อีก โดยเฉพาะการติดตามข้อมูลอย่างมีหลักฐาน มีข้อมูลยืนยันจริง (Evidence-based Monitoring) ที่กองทุนสื่อฯ สามารถพิจารณาลงทุนเพิ่มขึ้น ในการติดตามผลลัพธ์ หรือการติดตามสถานการณ์ เพื่อที่จะทำให้การลงทุนในเรื่องนี้มีประสิทธิภาพกับสังคม กับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงประเด็นข่าวลวง ที่ทวีความรุนแรงจากเทคโนโลยี AI ที่ซับซ้อน สามารถสร้างข่าวหรือเนื้อหาที่ไม่จริง และแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วและติดตามได้ยาก”
นอกจากนี้ ยังนำเสนอเรื่องการผลักดันการติดตามตรวจสอบ (Monitoring) กันเองของเครือข่ายแพลตฟอร์ม โดยเอาข้อมูลจริงมาเทียบว่าแพลตฟอร์มใดที่มีการใช้งานเพื่อเผยแพร่ข่าวลวง ข่าวบิดเบือนได้มากที่สุด รวมถึงการติดตามพฤติกรรมการสื่อสารที่มีความเสี่ยงสูง มีการกระจายที่ไม่เหมาะสม หรือมีความเสี่ยงต่อสังคม เช่น ข่าวสารที่มีความรุนแรง ที่ทำให้เกิดการเลียนแบบ เรื่องทางเพศ การล่อลวงเด็กและเยาวชน เป็นต้น
“หากกลไกการติดตาม (Monitor) เหล่านี้สามารถทำได้จริง มีความร่วมมือทางวิชาการที่แข็งแรง มีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และรายงานกลับไปที่สื่อ สำนักข่าว แพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อจัดการข้อมูลที่มีความเสี่ยงนั้นได้อย่างรวดเร็ว”
บทบาทในการขับเคลื่อนสังคมผ่านการสื่อสารออนไลน์นั้น ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion มองว่า “จำเป็นต้องมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน รวมถึงการกำหนดว่าเป้าหมายดังกล่าวจะต้องมีวิธีการทำงานร่วมกัน หรือมีการวัดผลที่ชัดเจนได้อย่างไร โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจและใช้เวลากับปัญหาสังคม หรือประเด็นที่เราต้องการขับเคลื่อน ยกตัวอย่างเช่น การทำงานของสื่อที่มักถูกแทรกแซงด้วยระบบสปอนเซอร์ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่สื่อจะไม่สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างรอบด้าน เช่น ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีความซับซ้อน จึงควรมีการสร้างโอกาสให้สื่อต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างอิสระ ซึ่งกองทุนฯ สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนได้”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อภิสิทธิ์ ศุภกิจเจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักวิชาการกลุ่ม Thai Media Lab ขยายผลเพิ่มเติมจากผลการศึกษาด้วยการนำข้อมูล Engagement บนแพลตฟอร์มต่างๆ มาจัดกลุ่มตามลำดับ ได้แก่ TikTok, Facebook, Instagram และ YouTube ซึ่งอาจเป็นประเด็นที่สามารถต่อยอดหรือตั้งคำถามได้ว่า ยูทูบมีจำนวนคนดูมาก แต่เหตุใดจึงมียอด Engagement น้อย
“การไม่มียอด Engagement ไม่ได้แปลว่าไม่มีคุณค่า เพราะมีหลายเรื่องที่ Engagement เพียงอย่างเดียวไม่สามารถบอกอะไรได้”
“สำหรับข้อมูลเรื่องยอด Engagement ของกลุ่มผู้ใช้งาน เมื่อลองจัดกลุ่มใหม่ พบว่าผู้ใช้งานทั่วไปสามารถสร้างยอด Engagement สูงสุดใน 6 กลุ่มเนื้อหา ได้แก่ สื่อ/สื่อบันเทิง เทศกาล เทคโนโลยี การขับเคลื่อนทางสังคม การเมือง กีฬา ผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ สามารถสร้างยอด Engagement สูงสุดใน 2 กลุ่มเนื้อหา ได้แก่ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสื่อ/สำนักข่าว สามารถสร้างยอด Engagement สูงสุดใน 5 กลุ่มเนื้อหา ได้แก่ คมนาคม ศาสนา/ความเชื่อ อาชญากรรม แฟชั่น สัตว์เลี้ยง/สัตว์ทั่วไป สิ่งที่พบสามารถสะท้อนให้เห็นความแตกต่างในความสนใจสื่อสารของแต่ละกลุ่ม ซึ่งหากสื่ออยากทำเนื้อหาที่มีคนเข้ามามีส่วนร่วมมากๆ ก็ควรทำในเรื่องหรือประเด็นที่ผู้ใช้งานทั่วไป หรืออินฟลูเอนเซอร์สนใจ”
“ข้อมูลข้างต้น สะท้อนว่าผู้ใช้งานทั่วไปมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน (Engagement) กับความสนใจเฉพาะ (Personalized หรือ Niche) ซึ่งอาจมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ช่วงเวลา กระแส และความสนใจพื้นฐาน รวมถึงเรื่องบางเรื่องที่อาจสนใจ แต่ไม่อยากให้สาธารณะหรือคนทั่วไปรับรู้ ซึ่งหากต้องการให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องพิจารณาเรื่องการสร้าง Entry Point หรือการเปิดประตูความสนใจของคนแต่ละกลุ่มให้ได้ เพื่อนำไปสู่ประเด็นที่สังคมต้องการขับเคลื่อนร่วมกัน และต้องเปลี่ยนความคิดว่า คนต้องการข้อมูลประเด็นทางสังคมที่สอดคล้องกับความสนใจ เพราะการใช้แพลตฟอร์ม สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมได้ สื่อจึงสามารถเข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อให้ประเด็นเหล่านั้นมีการขับเคลื่อนมากยิ่งขึ้น”
ในส่วนการขับเคลื่อนทางสังคม รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักวิชาการกลุ่ม Thai Media Lab มองว่า “หากเรื่องใดที่สังคมมีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน การขับเคลื่อนสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่หากเรื่องใดที่มีความซับซ้อนมาก หรือเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง อาจจำเป็นต้องใช้เวลา และอาศัยพลังจากทุกภาคส่วน (Node) ของสังคมในการร่วมมือกันขับเคลื่อน”
ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวสรุปและปิดท้ายงานสัมมนาในครั้งนี้ว่า “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการหาทางออก หาแนวทางเพื่อทำให้ประเด็นในการขับเคลื่อนสังคมเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เราเห็นความสำคัญของสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ การสื่อสารออนไลน์สามารถที่จะขับเคลื่อน สะท้อนนโยบายต่างๆ สามารถผลักดันการแก้ไขประเด็นต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านมลภาวะ สุขภาพ ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ ทั้งนี้ ทีมงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ Media Alert จะรับข้อเสนอและโจทย์ในวันนี้ ไปผลักดันให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับต่างๆ เพื่อกระตุ้นและสนับสนุนให้เกิดเนื้อหาสื่อ ทั้งการสื่อสารที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยอาศัยชุดข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องจากหน่วยงาน ผ่านความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ต่อไป
สำหรับงานสัมมนาประจำปี Media Alert “ทำอย่างไร? การสื่อสารออนไลน์จึงมีบทบาทในการขับเคลื่อนทางสังคม” จัดขึ้นเพื่อรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะจากวิทยากรทุกท่านต่อผลการศึกษาการสื่อสารทางออนไลน์ของสังคมไทยตลอดปี 2566 โดย Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะนำข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆ ในวันนี้ ไปใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ และเพื่อให้การสื่อสารออนไลน์ มีบทบาทสำคัญในการสร้างพลเมืองเพื่อร่วมขับเคลื่อนทางสังคม